คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1124/2567   นาย บ. กับพวก                        ผู้ร้อง

         (ประชุมใหญ่)                                             นาง ธ.                             ผู้คัดค้าน

ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๕๒, ๑๔๙๕, ๑๔๙๗, ๑๖๒๙ (๓), ๑๖๓๕ (๒)

ป.วิ.พ. มาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง, ๔๐ วรรคหนึ่ง, ๑๐๔ วรรคหนึ่ง, ๑๒๐/๔ วรรคหนึ่ง          

           

            ขณะผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับบุคคลอื่นอยู่ก่อน
และไม่ได้จดทะเบียนหย่า การสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับผู้ตายจึงเป็นการสมรสซ้อน ตกเป็นโมฆะ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๕๒ และ มาตรา ๑๔๙๕ เมื่อบิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อน
และผู้ตายไม่มีบุตร ผู้ร้องทั้งหกเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตายจึงเป็นทายาทโดยธรรม
ลำดับที่สามที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๒๙ (๓) หากการสมรสซ้อนดังกล่าว
ไม่มีผลเป็นโมฆะย่อมทำให้ผู้คัดค้านมีสถานะเป็นคู่สมรสและมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๓๕ (๓) การที่ผู้คัดค้านไปใช้สิทธิขอจัดการมรดกของผู้ตาย ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิและโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องทั้งหกในฐานะทายาทโดยธรรมแล้ว ผู้ร้องทั้งหกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับผู้ตายเป็นโมฆะได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๗

            คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคดีอื่น เป็นดุลพินิจของศาล
ในการสั่งตามที่เห็นสมควร หาใช่บทบังคับศาลต้องสั่งให้รอฟังผลคดีอื่นทุกคดีไปไม่ เมื่อข้อเท็จจริง
แห่งคดีนี้ตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกัน การที่ศาลชั้นต้น
ไม่รอฟังข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาถึงที่สุดของคดีอื่นจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย
ตาม ป.วิ.พ.  มาตรา ๓๙

            การขอเลื่อนคดีเนื่องจากมีเหตุจำเป็นของคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง นั้น
จะต้องมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจะทำให้เสียความยุติธรรม ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาว่าที่ผู้คัดค้านขอเลื่อนคดีนั้นมีเหตุทั้งสองประการดังกล่าวหรือไม่ หากได้ความตามบทบัญญัติดังกล่าวก็อนุญาตให้เลื่อนคดี มิฉะนั้นต้องยกคำร้อง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี
อ้างเหตุต้องเดินทางไปร่วมประชุมที่ต่างประเทศ ไม่สามารถมาเบิกความต่อศาลในวันนัดไต่สวนพยาน
ผู้คัดค้านได้ เมื่อผู้คัดค้านทราบตั้งแต่แรกแล้วว่ามีนัดสืบพยานในวันดังกล่าวโดยผู้คัดค้าน
เป็นผู้ลงลายมือชื่อทราบวันนัด แต่ผู้คัดค้านยังเดินทางไปต่างประเทศโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้อง
พร้อมแนวทางแก้ไขให้ศาลทราบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี การที่ผู้คัดค้านนำ
พยานปากแรกเข้าเบิกความ แล้วแถลงขอเลื่อนไปสืบพยานอีกปากหนึ่งในช่วงบ่ายเนื่องจากพยาน
ยังต้องเดินทางมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยได้ความว่าจะสืบพยานคล้ายกันกับปากแรก
และขอสืบพยานปากผู้คัดค้านโดยระบบการประชุมทางจอภาพ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และให้งดสืบพยานผู้คัดค้าน กรณีดังกล่าวเป็นการที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในอันที่จะวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของพยานผู้คัดค้านปากแรกเพียงพอแก่การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีได้แล้ว ส่วนที่ขอสืบพยานผู้คัดค้านโดยระบบการประชุมทางจอภาพนั้น ก็ไม่ปรากฏเหตุผลความจำเป็น

 

 

 

 

 

ที่ไม่สามารถนำพยานมาเบิกความที่ศาลได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานผู้คัดค้านจึงเป็น
การใช้ดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา ๑๐๔
วรรคหนึ่ง และมาตรา ๑๒๐/๔

_____________________________

 

         ผู้ร้องขอทั้งหกยื่นคำร้องขอ ขอให้พิพากษาให้การสมรสระหว่าง นาย ณ. กับผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 เป็นโมฆะและแจ้งไปถึงสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
เพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส

         ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ

         ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างนาย ณ. กับนาง ธ. ผู้คัดค้าน ตามทะเบียน
เลขที่ 235/43๒35 ณ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550
เป็นโมฆะ ให้แจ้งนายทะเบียนเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เพื่อบันทึกความเป็นโมฆะ
ไว้ในทะเบียนสมรส เมื่อคำพิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างนาย ณ. กับนาง ธ. ผู้คัดค้าน
ตามทะเบียนที่ 235/43๒35 ณ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่
24 กรกฎาคม 2550 เป็นโมฆะ ถึงที่สุด ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งหก
โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท

         ผู้คัดค้านอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความ
ไม่โต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่า นาย ท. และนาง ส. มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือ นาย ณ.
และผู้ร้องขอทั้งหก นาย ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โดยไม่มีผู้สืบสันดาน
นาย ท. และนาง ส. ถึงแก่ความตายไปก่อนนาย ณ. เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ นาย ณ.
ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้าน นอกสำนักทะเบียนอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมา
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 นาย ณ. กับผู้คัดค้านจดทะเบียนหย่า ณ สำนักทะเบียนเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และในวันเดียวกันนาย ณ.กับผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกันใหม่ที่สำนักทะเบียน
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ผู้คัดค้านเดิมชื่อนาง พ. ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม ๒๕๓๘
ได้เปลี่ยนชื่อตัวเป็นนาง ธ. และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ได้เปลี่ยนชื่อสกุล

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รอฟังผล
คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ ๑๓๓๕/25๖๕ ของศาลแพ่งพระโขนงให้ถึงที่สุดเสียก่อนจะวินิจฉัยว่า
ผู้ร้องขอทั้งหกเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างนาย ณ.
กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้คู่ความคดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ ๑๓๓๕/25๖๕ ของศาลแพ่งพระโขนงจะเป็นคู่ความเดียวกัน และคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลแพ่งพระโขนงก็ตาม แต่ก็เป็นคนละคดีกัน โดยคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ ๑๓๓๕/25๖๕ ของศาลแพ่งพระโขนง มีประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้ร้องขอ (ผู้คัดค้านในคดีนี้) สมควรเป็นผู้จัดการมรดก
ของผู้ตาย (นาย ณ.) ตามพินัยกรรม และพินัยกรรมตามคำร้องขอมีผลบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้ร้องขอทั้งหกมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างนาย ณ. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะและผู้คัดค้านกับนาย ณ. ได้จดทะเบียนสมรสขณะที่ผู้คัดค้าน

มีนาย ช. เป็นคู่สมรสอยู่แล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกัน ศาลชั้นต้นในคดีนี้ย่อมมีดุลพินิจดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาไปได้
ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโดยไม่ต้องรอฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีถึงที่สุด
ของศาลแพ่งพระโขนงดังกล่าวก่อนได้ เพราะไม่มีบทกฎหมายบังคับให้จำต้องรอฟัง การใช้ดุลพินิจดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่ศาลชั้นต้นในคดีนี้ไม่รอฟังข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่ง
หมายเลขแดงที่ พ ๑๓๓๕/25๖๕ ของศาลแพ่งพระโขนง จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้
ฟังไม่ขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านต่อไปว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต
ให้ผู้คัดค้านเลื่อนคดี และงดสืบพยานของผู้คัดค้านตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๖ มานั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ภายหลังศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องขอและส่งสำนวนไปศูนย์ไกล่เกลี่ย
ผู้ร้องขอทั้งหกกับผู้คัดค้านไม่สามารถตกลงกันได้ จึงไปกำหนดวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความ
ของศาลชั้นต้น โดยกำหนดวันนัดสืบพยานผู้ร้องขอทั้งหกวันที่ ๑ ธันวาคม 25๖5 วันนัดสืบพยาน
ผู้คัดค้านวันที่ 2 ธันวาคม 25๖5 เวลา 9 นาฬิกา ถึง 16.30 นาฬิกา ทั้งสองวัน อันเป็นการกำหนด
วันนัดพิจารณาต่อเนื่องล่วงหน้าเป็นเวลา 5 เดือนเศษ ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอที่คู่ความจะได้เตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้เสร็จตามกำหนด ทั้งคู่ความลงลายมือชื่อในรายงานเจ้าหน้าที่ว่าทราบคำสั่งศาลในการเตรียมคดีและจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการเตรียมคดีโดยเคร่งครัด ซึ่งตามคำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องการเตรียมคดี ข้อ 1 ระบุว่า เมื่อศาลกำหนดวันนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องแล้ว คู่ความ
มีหน้าที่เตรียมพยานหลักฐานและนำพยานมาสืบให้เสร็จตามกำหนดโดยเคร่งครัด และข้อ 7
หากมีเหตุขัดข้องใด ๆ ที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวพร้อมแนวทางแก้ไขให้ศาลทราบ หรืออาจร้องขอให้ศาลสืบพยานล่วงหน้าไว้ทันทีตามประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 มิฉะนั้นศาลอาจถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นมีพฤติการณ์ในการประวิงคดี และอาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ฉะนั้น คู่ความทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องเตรียมพยานหลักฐาน
และนำพยานมาสืบให้เสร็จตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด หากมีเหตุขัดข้องที่ทำให้คู่ความฝ่ายใด
ไม่สามารถนำพยานมาสืบได้ คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่แจ้งเหตุขัดข้องพร้อมแนวทางแก้ไขให้ศาลทราบ มิฉะนั้นศาลอาจมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี เมื่อถึงกำหนดวันนัดสืบพยานผู้ร้องขอทั้งหก
และผู้คัดค้าน ทนายผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่าทนายผู้คัดค้านมีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน
ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเสียและอ่อนเพลียรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตั้งแต่คืนวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖5 แพทย์ให้ความเห็นว่าควรต้องพักรักษาตัว ๒ วัน คือวันที่ ๑ ถึง ๒ ธันวาคม ๒๕๖5 ศาลชั้นต้นเห็นว่า
ทนายผู้คัดค้านมีใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลมาแสดง เชื่อว่ามีอาการเจ็บป่วยจริง กรณีมีเหตุจำเป็น
อันไม่อาจก้าวล่วงได้ อนุญาตให้เลื่อนคดีไปกำหนดวันนัดสืบพยานผู้ร้องขอทั้งหกวันที่ ๒๐ มกราคม 25๖๖ วันนัดสืบพยานผู้คัดค้านวันที่ 2๕ มกราคม 25๖๖ เมื่อถึงกำหนดนัดสืบพยานผู้ร้องขอทั้งหกดังกล่าว
ผู้ร้องขอทั้งหกสืบพยาน ๑ ปาก แล้วแถลงหมดพยาน ส่วนผู้คัดค้านเมื่อถึงกำหนดนัดสืบพยาน ผู้คัดค้าน
มายื่นคำร้องว่าผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกตามพินัยกรรมของนาย ณ. ต่อศาลแพ่งพระโขนง
เป็นคดีหมายเลขแดงที่ พ 1335/256๕ ซึ่งผู้ร้องขอทั้งหกยื่นคำร้องคัดค้านขอเป็นผู้จัดการมรดก
ในฐานะทายาทโดยธรรมของนาย ณ. ในคดีดังกล่าวด้วย หากคดีของศาลแพ่งพระโขนงดังกล่าว
มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าพินัยกรรมไม่เป็นโมฆะ ผู้ร้องขอทั้งหกไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนาย ณ.
ซึ่งจะมีผลต่อประเด็นอำนาจฟ้องคดีของผู้ร้องขอทั้งหกในคดีนี้ว่า ผู้ร้องขอทั้งหกไม่อยู่ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนาย ณ. ที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับนาย ณ. ได้ เพื่อให้การพิจารณาคดีของศาลเสร็จไปในคราวเดียว ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีนี้ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีของศาลแพ่งพระโขนงดังกล่าวจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้เลื่อนคดีไปเพื่อพิจารณาคำร้องขอจำหน่ายคดีชั่วคราวของผู้คัดค้าน โดยให้นัดฟังคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวหรือนัดสืบพยานผู้คัดค้านในวันที่ ๑ มีนาคม 2566 เวลา 9 ถึง 16 นาฬิกา
ผู้คัดค้านและทนายผู้คัดค้านลงชื่อทราบวันนัดในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่
๒๕ มกราคม ๒๕๖๖ แล้ว เมื่อถึงกำหนดนัดผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่าผู้คัดค้านติดภารกิจต้องเดินทางไปสาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕66
เพื่อร่วมประชุมและต้องเข้าพบกับเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์ ผู้คัดค้านไม่สามารถเดินทางมาเบิกความต่อศาลได้ทันภายในวันนัด จึงขอเลื่อนคดี ในการเลื่อนคดีนั้นประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชักช้า
โดยห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้และหากศาล
ไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาว่าที่ผู้คัดค้านขอเลื่อนคดีนั้นมีเหตุทั้งสองประการดังกล่าวหรือไม่ หากได้ความตามบทบัญญัติดังกล่าวก็อนุญาตให้เลื่อนคดี หรือมิฉะนั้น
ต้องยกคำร้อง เหตุที่ผู้คัดค้านขอเลื่อนคดีนั้นผู้คัดค้านทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าผู้คัดค้านมีนัดสืบพยาน
ผู้คัดค้านในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕66 ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยมาเบิกความได้ทันในวันนัดสืบพยานผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านยังเดินทางไปต่างประเทศโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องพร้อมแนวทางแก้ไข
ให้ศาลทราบ ทั้งทนายผู้ร้องขอทั้งหกแถลงคัดค้านว่า ในนัดก่อนผู้คัดค้านมาศาลและเป็นผู้กำหนดวันนัดด้วยตนเองและตามคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าติดภารกิจเข้าร่วมประชุมก็ไม่มีความชัดเจนว่า
เป็นการประชุมเรื่องอะไร พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านมิได้ให้ความสำคัญ
ต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล และจงใจฝ่าฝืนคำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องการเตรียมคดี ข้อ 1
และข้อ 7 ดังกล่าว กรณีมิใช่เหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ ในอันที่ผู้คัดค้านจะนำมาอ้างเป็นเหตุเพื่อขอเลื่อนคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านเลื่อนคดี เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณา
ที่ชอบแล้ว และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเลื่อนคดีของผู้คัดค้านดังกล่าว ทนายผู้คัดค้าน
นำพยานผู้คัดค้านปากแรกเข้าสืบพยานจนเสร็จสิ้นในเวลา ๑๑ นาฬิกา แล้วแถลงขอเลื่อน
ไปสืบพยานผู้คัดค้านปากนางสาว น. ซึ่งเป็นพยานที่รู้เห็นเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้คัดค้าน
กับนาย ช. คล้ายกันกับพยานปากแรกในช่วงเวลา 13 นาฬิกา เนื่องจากพยานปากนางสาว น.
กำลังเดินทางมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และขอสืบพยานซึ่งเป็นตัวผู้คัดค้านแบบออนไลน์
จากสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทนายผู้ร้องขอทั้งหกแถลงคัดค้านว่าพยานปากนางสาว น. จะมาเบิกความคล้ายกับพยานปากแรกควรจะต้องเบิกความต่อเนื่องกันไป ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่าเป็นเวลา ๑๒ นาฬิกาแล้ว
ผู้คัดค้านไม่มีพยานมาสืบ ประกอบกับทนายผู้ร้องขอทั้งหกแถลงคัดค้าน จึงให้งดสืบพยานผู้คัดค้าน
จะเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่
ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอ
ให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ทนายผู้คัดค้านแถลงยอมรับว่าพยานผู้คัดค้านปากนางสาว น. ที่จะขอเลื่อนไปสืบพยานในช่วงเวลา ๑๓ นาฬิกา เบิกความคล้ายกับพยานผู้คัดค้านปากแรก การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาให้งดสืบพยานผู้คัดค้านปากนางสาว น. ในช่วงบ่าย จึงเป็นการใช้ดุลพินิจในอันที่จะวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของพยานผู้คัดค้านปากแรกเพียงพอ
แก่การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีได้แล้วตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความแพ่งดังกล่าว ส่วนที่ทนายผู้คัดค้านขอสืบพยานตัวผู้คัดค้านทางออนไลน์หรือการสืบพยาน
โดยระบบการประชุมทางจอภาพนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120/๔ บัญญัติว่า คู่ความฝ่ายใดอาจขอให้ศาลทำการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพได้ โดยคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่าย หากศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์
แห่งความยุติธรรมศาลจะอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้ โดยให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไป
ตามข้อกำหนดแนวทางการสืบพยานของประธานศาลฎีกา... ซึ่งข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
ว่าด้วยแนวทางการนำสืบพยานหลักฐานและการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุม
ทางจอภาพ พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๗ กำหนดว่า... คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานร้องขอให้ศาลทำการสืบพยานนั้นโดยระบบการประชุมทางจอภาพ โดยให้เหตุผลความจําเป็นที่ไม่สามารถนําพยานมาเบิกความที่ศาลนั้นได้ ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และการสืบพยานไม่ยุ่งยากจนเกินไป
โดยคำนึงถึงเอกสารรวมทั้งวัตถุพยานที่เกี่ยวข้อง และสถานที่ที่จะให้พยานไปเบิกความโดยระบบ
การประชุมทางจอภาพได้จัดวางระบบรองรับไว้แล้ว ศาลจะอนุญาตให้สืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาล
โดยระบบการประชุมทางจอภาพก็ได้ โดยกำหนดวัน เวลาและสถานที่ที่จะให้พยานไปเบิกความ
ให้ชัดเจน... เห็นได้ว่า การร้องขอให้ศาลสืบพยานโดยระบบการประชุมทางจอภาพตามข้อกำหนด
ของประธานศาลฎีกาดังกล่าวนั้น ต้องปรากฏเหตุผลความจําเป็นที่ไม่สามารถนําพยานมาเบิกความ
ที่ศาลนั้นได้ ซึ่งเหตุตามคำร้องขอเลื่อนคดีของผู้คัดค้านดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ศาลชั้นต้น
ได้วินิจฉัยแล้วว่า เหตุผลตามคำร้องขอเลื่อนคดีของผู้คัดค้านดังกล่าวรับฟังไม่ได้ว่า เป็นเหตุจำเป็น
อันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้แล้ว ฉะนั้น การขอสืบพยานโดยระบบการประชุมทางจอภาพของผู้คัดค้าน
ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านมีเหตุผลความจําเป็นที่ไม่สามารถเดินทางมาเบิกความที่ศาลนั้นได้ คำสั่ง
ของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานผู้คัดค้านจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้าน
ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านต่อไปว่า หนังสือมอบอำนาจที่ผู้ร้องขอที่ ๑
ถึงที่ ๕ มอบอำนาจให้ผู้ร้องขอที่ ๖ ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องขอทั้งหกบรรยาย
มาในคำร้องขอว่า ผู้ร้องขอที่ ๑ ถึงที่ ๕ มอบอำนาจให้ผู้ร้องขอที่ ๖ ดำเนินคดีนี้แทนพร้อมแนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องขอที่ ๑ ถึงที่ ๕ มาท้ายคำร้องขอด้วย ผู้คัดค้านก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธ
โต้แย้งว่า การมอบอำนาจของผู้ร้องขอที่ ๑ ถึงที่ ๕ ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร คดีจึงไม่มีประเด็นที่
ผู้องขอทั้งหกจะต้องนำสืบโดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.๑ เป็นพยานหลักฐานว่า
ผู้ร้องขอที่ ๑ ถึงที่ ๕ มอบอำนาจให้ผู้ร้องขอที่ ๖ ฟ้องคดีแทนหรือไม่ ถือว่าข้อเท็จจริงฟังได้
ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า ผู้ร้องขอที่ ๑ ถึงที่ ๕ มอบอำนาจให้ผู้ร้องขอที่ ๖ เป็นผู้รับมอบอำนาจ
ฟ้องคดีโดยชอบแล้ว กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ร.๑ ปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ จะรับฟังได้หรือไม่อีกต่อไป แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งคู่ความอาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
ก็ตาม แต่ข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงในอุทธรณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้ข้อเท็จจริง
มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ได้ข้อเท็จจริงมาจากเรื่องนอกคำให้การ เมื่อผู้คัดค้านมิได้ให้การต่อสู้ในข้อดังกล่าวไว้ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้น
ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชน
และครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา 180 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

 

 

 

            คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการสุดท้ายว่า ผู้ร้องขอทั้งหกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับนาย ณ. เป็นโมฆะได้หรือไม่ เห็นว่า การสมรสซ้อนนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 บัญญัติว่า “ชายหรือหญิง
จะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้” มาตรา 1495 บัญญัติว่า “การสมรสที่ฝ่าฝืน
มาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ” และมาตรา 1497 บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่ง
จะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้” คดีนี้ข้อเท็จจริงได้
ความจากทางนำสืบของผู้ร้องขอทั้งหกว่า ผู้ร้องขอทั้งหกกับนาย ณ. เป็นบุตรของนาย ท. และนาง ส. นาย ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โดยไม่มีผู้สืบสันดาน นาย ท. และนาง ส.
ถึงแก่ความตายไปก่อนนาย ณ. เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ นาย ณ. ได้จดทะเบียนสมรส
กับผู้คัดค้าน ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 นาย ณ. กับผู้คัดค้านจดทะเบียนหย่า ณ สำนักทะเบียนเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และในวันเดียวกันนาย ณ. กับผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกันใหม่
ณ สำนักทะเบียนเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ขณะนาย ณ. จดทะเบียนสมรส
กับผู้คัดค้านทั้งสองครั้งดังกล่าวนั้น ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนสมรสกับนาย ช. อยู่ก่อนแล้ว
และไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน การจดทะเบียนสมรสระหว่างนาย ณ. กับผู้คัดค้าน จึงเป็นการสมรสซ้อน
ตามมาตรา 1452 กรณีดังกล่าวกฎหมายให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้
ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ตามมาตรา 1497 เมื่อนาย ณ. ถึงแก่ความตายไปโดยไม่มีบุตร
และบิดามารดาของนาย ณ. ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนนาย ณ. แล้ว ตามปกติผู้ร้องขอทั้งหก
ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนาย ณ. จึงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่สาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 (๓) ย่อมจะมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนาย ณ. เมื่อการสมรสระหว่างนาย ณ. กับผู้คัดค้านเป็นการสมรสซ้อนมีผลเป็นโมฆะ แต่ไม่มีการกล่าวอ้าง ผู้คัดค้านยังคงมีสถานะ
เป็นคู่สมรสของนาย ณ. มีสิทธิในการรับมรดกส่วนหนึ่งของนาย ณ. ตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา 16๓๕ (๒) สิทธิในส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ร้องขอทั้งหกในฐานะทายาทโดยธรรม ย่อมได้รับความกระทบกระเทือน นอกจากนี้ผู้คัดค้านได้กล่าวยอมรับในอุทธรณ์ว่าผู้ร้องขอทั้งหกรับรู้
ถึงปัญหาการจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้คัดค้านกับนาย ณ. ก่อนที่นาย ณ. จะถึงแก่ความตาย
แต่เพิ่งมายื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นเมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของนาย ณ.
ต่อศาลแพ่งพระโขนง ซึ่งก็ได้ความตามที่ปรากฏในสำเนาอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ พ 1335/256๕ ของศาลแพ่งพระโขนง แนบท้ายอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า ในคดีดังกล่าวผู้ร้องขอทั้งหกได้ใช้สิทธิ
ยื่นคำคัดค้านโต้แย้งว่าพินัยกรรมที่ผู้คัดค้านนำมายื่นขอจัดการทรัพย์มรดกของนาย ณ. นั้น
มีผลตกเป็นโมฆะ แสดงให้เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านไปใช้สิทธิขอจัดการทรัพย์มรดกของนาย ณ.
ตามพินัยกรรม ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิและโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องขอทั้งหกในฐานะทายาทโดยธรรม ผู้ร้องขอทั้งหกชอบที่จะมายื่นคำร้องขอเพื่อขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าการสมรสของผู้คัดค้าน
กับนาย ณ. เป็นโมฆะในคดีนี้ได้ หาใช่เป็นการส่อแสดงว่าผู้ร้องขอทั้งหกใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
ส่วนที่ผู้คัดค้านกล่าวมาในอุทธรณ์ว่า ผู้มีอำนาจขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะได้
คือ คู่สมรส บิดามารดาหรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าวผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอ
ให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496
และตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3898/2548 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1496 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่า การสมรสที่ฝ่าฝืน
มาตรา 1449 มาตรา 1450 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ” และมาตรา 1496 วรรคสอง บัญญัติว่า “คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ ถ้าไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้” ตามบทบัญญัติ
มาตรา 1496 ได้กล่าวเฉพาะการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 และมาตรา 1458 เท่านั้น ที่คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสหรืออัยการจะร้องขอต่อศาล
ขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ ส่วนการสมรสซ้อนตามมาตรา ๑๔๕๒ อันเป็นเหตุหนึ่ง
ที่ทำให้การสมรสตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔97 นั้น ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งมีสิทธินำคดีขึ้นมาสู่ศาลได้ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมหมายถึงบุคคลที่ถูกกระทบกระเทือนสิทธิ
หรือหน้าที่อันเนื่องมาจากการสมรสซ้อนนั้น เช่น สิทธิในครอบครัว สิทธิในการรับมรดก หรือสิทธิอื่นใด ดังนั้น ผู้ร้องขอทั้งหกในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับที่สามมีสิทธิได้รับมรดกของนาย ณ.
ย่อมถูกกระทบกระเทือนสิทธิในการรับมรดกอันเนื่องมาจากการสมรสซ้อนระหว่างผู้คัดค้านกับนาย ณ. ผู้ร้องขอทั้งหกจึงอยู่ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสระหว่าง
ผู้คัดค้านกับนาย ณ. เป็นโมฆะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497 ผู้ร้องขอทั้งหกมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้พับ.

(พาชื่น แสงจันทร์เทศ - รัชดาพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา - ฉันทนา ชมพาณิชย์)

สุพิชฌาย์ รีรักษ์ – ย่อ

สัญชัย ภักดีบุตร – ตรวจ