คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2105/2567  อ. กับพวก                               โจทก์

                                                                     กรมทรัพย์สินทางปัญญา              จำเลย

พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 8 (9)

         เมื่อพิจารณาภาคส่วนของเครื่องหมายการค้า Steve Jobs และ     ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ กับเครื่องหมาย    ของผู้ขอจดทะเบียนแล้ว เห็นว่า รูปเครื่องหมาย
และเสียงเรียกขานมีความแตกต่างกัน ผู้ขอจดทะเบียนมิได้นำสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๒ มารวมกัน และไม่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงไปถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด

            กรณีที่จะต้องพิจารณาไปถึงเจตนาของผู้ขอจดทะเบียนว่ามีเจตนาไม่สุจริตเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นหรือไม่ จะนำมาพิจารณาเมื่อเครื่องหมายของผู้ขอจดทะเบียนมีความเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จนถึงขนาดทำให้ผู้บริโภคสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของ
หรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเสียก่อนเท่านั้น ในกรณีที่เครื่องหมายการค้าที่มีความแตกต่างกัน
อย่างสิ้นเชิง ย่อมไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงไม่จำต้องพิจารณาไปถึงว่าผู้ขอจดทะเบียนมีเจตนาสุจริตในการขอจดทะเบียนด้วยหรือไม่

         เมื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑
และที่ ๒ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้า ดังนั้น ตัวของเครื่องหมายการค้าเองจึงไม่อาจแสดงให้เห็นได้ว่าผู้ขอจดทะเบียนมีเจตนาไม่สุจริต
ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง

         เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
หรือทำให้เข้าใจว่าสินค้าที่ขอจดทะเบียนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสอง ดังนี้ โจทก์ทั้งสอง
มิได้ถูกผู้ขอจดทะเบียนโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอรับรองคุ้มครองสิทธิเพื่อแสดงว่าโจทก์ทั้งสอง
มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า    ดีกว่าผู้ขอจดทะเบียน

______________________________

 

         โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ ๑๕๖/๒๕๖๔
และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ ๔๒/๒๕๖๕ และระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ ๑๘๐๑๐๐๐๗๙ และพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า  
          ดีกว่าผู้ขอจดทะเบียน

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียม
ให้เป็นพับ

         โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นโดยชอบตามกฎหมายแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียและมลรัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561
นายอุกฤช ผู้ขอจดทะเบียน ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมาย         คำขอเลขที่ 180100079 สำหรับสินค้าจำพวก 3 รายการสินค้าชุดเครื่องสำอางใช้บำรุงผิวหน้า และจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ โจทก์ที่ ๑
และที่ ๒ ยื่นคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมาย           ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 156/2564 ยกคำคัดค้านของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน เครื่องหมาย        เป็นคำว่า St. J Jobs โดยมีอักษรโรมัน j ขนาดใหญ่ในลักษณะประดิษฐ์วางอยู่ระหว่าง St. กับ Jobs ประกอบอยู่ด้วย
และเรียกขานได้ว่า เซนต์ เจ จอบส์ แต่ชื่อที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างถึงเป็นคำว่า Steve Jobs และเรียกขาน
ได้ว่า สตีฟ จอบส์ ส่วนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างถึง คือ เครื่องหมาย     เป็นรูปแอปเปิลประดิษฐ์ที่มีรอยเว้าด้านขวา และอาจเรียกขานได้ว่า แอปเปิล เครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายจึงมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานที่แตกต่างกัน แม้จะนำไปใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันและรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกันก็ตาม โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของ
หรือแหล่งกำเนิดของสินค้าย่อมไม่เกิดขึ้น ประกอบกับเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 นำส่ง เห็นว่ายังไม่เพียงพอที่จะแสดงว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด ให้ยกคำคัดค้านและดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนต่อไป โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คณะกรรมการ
เครื่องหมายการค้าที่ 42/2565 ยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองโดยให้เหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า
และเครื่องหมายบริการของโจทก์ที่ 2 ที่จดทะเบียนไว้แล้วจำนวน 39 เครื่องหมาย เพราะเครื่องหมายการค้า
ของผู้ขอจดทะเบียนเป็นคำว่า St. j Jobs โดยผู้ขอจดทะเบียนได้ประดิษฐ์ให้อักษรโรมันตัวพิมพ์เล็ก j
มีขนาดใหญ่ตัวหนา ลักษณะโค้งลงหนาบางแตกต่างกัน ด้านบนมีใบไม้เอียงไปด้านขวาประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ที่ ๑ ที่จดทะเบียนไว้แล้วบางเครื่องหมาย
เป็นรูปแอปเปิลพื้นทึบในลักษณะมีรอยเว้าอยู่ด้านขวาและด้านบนมีรูปใบไม้เอียงไปด้านขวาแต่เพียงอย่างเดียว บางเครื่องหมายเป็นรูปแอปเปิลพื้นทึบในลักษณะมีรอยเว้าอยู่ด้านขวา ด้านในมีเส้นตรงแนวนอน
จำนวน 5 เส้น และด้านบนมีรูปใบไม้เอียงไปด้านขวาแต่เพียงอย่างเดียว บางเครื่องหมายเป็นรูปแอปเปิลพื้นทึบในลักษณะมีรอยเว้าอยู่ด้านขวาและด้านบนมีรูปใบไม้เอียงไปด้านขวาและมีคำว่า tv ประกอบ
อยู่ด้วย บางเครื่องหมายเป็นรูปแอปเปิลพื้นทึบในลักษณะมีรอยเว้าอยู่ด้านขวาและด้านบนมีรูปใบไม้
เอียงไปด้านขวาและมีคำว่า tv ทั้งหมดอยู่ภายในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นทึบมุมมนประกอบอยู่ด้วย
บางเครื่องหมายเป็นรูปแอปเปิลพื้นทึบในลักษณะมีรอยเว้าอยู่ด้านขวาและด้านบนมีรูปใบไม้เอียงไปด้านขวา และมีคำว่า WATCH ประกอบอยู่ด้วย บางเครื่องหมายเป็นรูปแอปเปิลพื้นทึบในลักษณะมีรอยเว้าอยู่ด้านขวาและด้านบนมีรูปใบไม้เอียงไปด้านขวา และมีคำว่า Watch ประกอบอยู่ด้วย บางเครื่องหมายเป็นรูปแอปเปิลพื้นทึบในลักษณะมีรอยเว้าอยู่ด้านขวาและด้านบนมีรูปใบไม้เอียงไปด้านขวา และมีคำว่า MUSIC ประกอบอยู่ด้วย บางเครื่องหมายเป็นรูปแอปเปิลพื้นทึบในลักษณะมีรอยเว้าอยู่ด้านขวา
และด้านบนมีรูปใบไม้เอียงไปด้านขวา และมีคำว่า Pay ประกอบอยู่ด้วย และบางเครื่องหมาย
เป็นรูปแอปเปิลพื้นทึบในลักษณะมีรอยเว้าอยู่ด้านขวาและด้านบนมีรูปใบไม้เอียงไปด้านขวา และมีคำว่า Pay Cash โดยคำว่า Pay เป็นตัวอักษรหนาประกอบอยู่ด้วย รูปลักษณะของเครื่องหมายของทั้งสองฝ่าย
จึงแตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเรียกขานได้ว่า
เซนต์ เจ จอบส์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 2 ที่จดทะเบียนไว้แล้ว  ดังที่กล่าวมาข้างต้น เรียกขานได้ว่า แอปเปิล, ทีวี หรือ แอปเปิล ทีวี, วอทช์ หรือ แอปเปิล วอทช์, มิวสิก หรือ แอปเปิล มิวสิก, เพย์
หรือ แอปเปิล เพย์, เพย์ แคช หรือ แอปเปิล เพย์ แคช ตามลำดับ นับว่าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของทั้งสองฝ่ายมีเสียงเรียกขานที่แตกต่างกัน จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด
ในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการได้ ส่วนเมื่อเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้า
ของผู้ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายที่โจทก์ที่ 1 อ้างถึง รูป     แล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอ
จดทะเบียนไม่คล้ายกับที่โจทก์ที่ 1 อ้างถึงเพราะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นคำว่า St. j Jobs โดยผู้ขอจดทะเบียนได้ประดิษฐ์ให้อักษรโรมันตัวพิมพ์เล็ก j มีขนาดใหญ่ตัวหนา ลักษณะโค้งลงหนาบางแตกต่างกัน ด้านบนมีใบไม้เอียงไปด้านขวาประกอบอยู่ด้วย ส่วนเครื่องหมายที่โจทก์ที่ 1 อ้างถึง
เป็นรูปแอปเปิลพื้นทึบในลักษณะมีรอยเว้าอยู่ด้านขวาและด้านบนมีรูปใบไม้เอียงไปด้านขวา
แต่เพียงอย่างเดียว รูปลักษณะของเครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายจึงแตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงการเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเรียกขานได้ว่า เซนต์ เจ จอบส์ ส่วนเครื่องหมายที่โจทก์ที่ 1 อ้างถึง เรียกขานได้ว่า แอปเปิล นับว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้า
และเครื่องหมายบริการของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ แต่ละฝ่ายมีเสียงเรียกขานที่แตกต่างกัน จึงไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการได้
ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่น คือ นายวินเชนโซ
ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างถึง รูป        หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้าง
และนำส่งไว้ ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมาย
ที่จดทะเบียนโดยไม่สุจริต ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจึงไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

         มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อแรกว่า เครื่องหมายการค้า
         ตามคำขอเลขที่ ๑๘๐๑๐๐๐๗๙ ของผู้ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า
         ของโจทก์ที่ ๑ และเครื่องหมายการค้า Steve Jobs ของโจทก์ที่ ๒ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า แม้ส่วนบนสุดของเครื่องหมาย
ทั้งสองฝ่ายจะมีรูปวงรีที่มีปลายสองข้างแหลมคล้ายใบไม้มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ยังมีภาคส่วนอื่น
ที่แตกต่างกัน โดยเครื่องหมายของโจทก์ที่ ๑ มีลักษณะเด่นที่รอยหยักด้านบน รอยหยักด้านล่าง และรอยเว้า
ข้างขวา อันเป็นส่วนสาระสำคัญและมีลักษณะพิเศษเฉพาะที่แตกต่างจากรูปผลแอปเปิลทั่วไป
ส่วนเครื่องหมายของผู้ขอจดทะเบียนภาคส่วนอักษร J ประดิษฐ์ มีรอยหยักด้านบนเพียงเล็กน้อย
ส่วนด้านล่างไม่มีรอยหยัก และยังมีตัวอักษรคล้าย T ซึ่งทึบแสงกว่าอยู่ภายในอักษร J อีกด้วย ลำพังอักษร J ประดิษฐ์ดังกล่าวไม่ทำให้ผู้พบเห็นนึกไปถึงผลแอปเปิลในทันที กับทั้งมิได้มีรอยหยักด้านล่างหรือรอยเว้า
ข้างขวาอันประกอบเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ เมื่อพิจารณาเสียง
เรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ เรียกขานได้ว่า แอปเปิล ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอ
จดทะเบียนมีเสียงเรียกขานว่า เซนต์ จ็อบส์ หรือเซนต์ เจ จ็อบส์ จึงมีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน
สำหรับภาคส่วนคำว่า Steve Jobs ของโจทก์ที่ ๒ แม้เป็นชื่อของ Steve Jobs ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง
ในวงการคอมพิวเตอร์และผู้ก่อตั้งโจทก์ที่ ๑ และเป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของโจทก์ที่ ๒
เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๒ มีเสียงเรียกขานว่า สตีฟ จ็อบส์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอ
จดทะเบียนมีเสียงเรียกขานว่า เซนต์ จ็อบส์ หรือเซนต์ เจ จ็อบส์ จึงมีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน ทั้งนี้
ตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองใช้คำว่า St. Jobs เป็นชื่อทางการค้า
หรือจดทะเบียนคำว่า St. Jobs เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง คำว่า St. Jobs จึงไม่อาจเชื่อมโยงไปถึงโจทก์ที่ ๑ หรือนายสตีฟ จ็อบส์ หรือชื่อของนิติบุคคลโจทก์ที่ ๒ ว่าเป็นเจ้าของหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมาย            ได้ เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดของเครื่องหมายการค้าของผู้ขอ
จดทะเบียนแล้ว ก็มิได้นำสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ และเครื่องหมายการค้า
ของโจทก์ที่ ๒ มารวมกันแต่อย่างใด และไม่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงไปถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์
กับโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด การพิจารณาความเหมือนคล้ายของเครื่องหมายที่ต้องพิจารณาไปถึงเจตนา
ของผู้ขอจดทะเบียนว่ามีเจตนาไม่สุจริตเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นหรือไม่ จะนำมาพิจารณา
เมื่อเครื่องหมายของผู้ขอจดทะเบียนมีความเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นเสียก่อน
แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันจนถึงขนาดทำให้ผู้บริโภคสับสนหรือหลงผิด
ในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ โดยพิจารณาถึงเจตนาของผู้ขอจดทะเบียนประกอบรูปลักษณะหรือเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้านั้นด้วยว่ามีเจตนาเพื่อทำให้ผู้บริโภคสับสน
หรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ แต่ในกรณีที่เครื่องหมายการค้า
ที่มีความแตกต่างกันสิ้นเชิงโดยมิได้เหมือนหรือคล้ายกัน ย่อมไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิด
ในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงไม่จำต้องพิจารณาไปถึงว่าผู้ขอจดทะเบียนมีเจตนาสุจริตในการขอจดทะเบียนด้วยหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย
โดยพิจารณาภาพรวมและสาระสำคัญของรูปของเครื่องหมายการค้าและเสียงเรียกขานแล้ววินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่เป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑
และที่ ๒ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
จึงชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อต่อมาว่า เครื่องหมายการค้า
ของผู้ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือรัฐประศาสโนบาย ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๘ (๙) เนื่องจากผู้ขอจดทะเบียนมีพฤติการณ์ไม่สุจริตในการจดทะเบียนหรือไม่ เห็นว่า ผลแอปเปิล เป็นผลไม้ทั่วไป ส่วนคำว่า St. และคำว่า Jobs เป็นคำที่มีความหมายโดยมิใช่คำประดิษฐ์ บุคคลทั่วไปสามารถนำรูปและคำดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้หากไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง โจทก์ทั้งสองหรือบุคคลใดไม่อาจหวงกันไว้ใช้แต่ผู้เดียว เพียงแต่ต้องทำให้มี
ความแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้วินิจฉัยในปัญหาข้อแรกแล้วว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอ
จดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ดังนั้น ตัวของเครื่องหมายเองจึงไม่อาจแสดงให้เห็นว่า
ผู้ขอจดทะเบียนมีเจตนาไม่สุจริตลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง ส่วนที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า นายวิเชนโซมีพฤติการณ์ไม่สุจริตโดยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า         ,         และเครื่องหมายการค้า คำว่า Steve Jobs นอกราชอาณาจักรไว้ในหลายประเทศ ผู้ขอจดทะเบียนมีพฤติการณ์ลอกเลียน
เครื่องหมายการค้ามาจากเครื่องหมายดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่านายวินเชนโซ
มีพฤติการณ์ไม่สุจริตลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง แต่นายวินเชนโซก็มิใช่บุคคลเดียวกับ
ผู้ขอจดทะเบียน และโจทก์ทั้งสองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่านายวินเชนโซกับผู้ขอจดทะเบียนมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร กับทั้งเครื่องหมายการค้าของนายวินเชนโซ ดังกล่าวก็มีรูปลักษณะแตกต่างจากเครื่องหมาย
ของผู้ขอจดทะเบียน พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าผู้ขอจดทะเบียนมีพฤติการณ์
ไม่สุจริตในการขอจดทะเบียนแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าผู้ขอจดทะเบียนมีพฤติการณ์
ไม่สุจริต โดยนำคำว่า NABISCO ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงสำหรับขนม คุกกี้ อาหารว่าง
มาจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก ๙ รายการสินค้า แบตเตอรีสำรองใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่
และจำพวก ๑๑ รายการ สินค้าพัดลมไฟฟ้า นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบ
ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย และไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิ
ในเครื่องหมายการค้า        ดีกว่าผู้ขอจดทะเบียนหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย
ในข้อแรกแล้วว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า
ของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิด
ของสินค้า หรือทำให้เข้าใจว่าสินค้าที่ขอจดทะเบียนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโจทก์ทั้งสอง ดังนี้
โจทก์ทั้งสองมิได้ถูกผู้ขอจดทะเบียนโต้แย้งสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอรับรองคุ้มครองสิทธิเพื่อแสดงว่า
โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า           ดีกว่าผู้ขอจดทะเบียน อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสอง
ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

(ปัทมา ทุมมา จรรยาพูน – กรกันยา สุวรรณพานิช – เทอดชัย ธนะพงศ์พร)

สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ

ปัทมา ทุมมา จรรยาพูน - ตรวจ