คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1675/2567  นาย ณ.                                  ผู้ร้อง

                                                                     นาย อ.                               ผู้คัดค้าน

ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๕๒, ๑๔๙๕, ๑๔๙๗, ๑๔๙๘

ป.วิ.พ. มาตรา ๕๕

พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๖

         ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาง ห. กับนาย ว. เมื่อนาง ห. ถึงแก่ความตาย
ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนาง ห. ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานและทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของนาง ห. การที่ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสซ้อนกับนาง ห. ผลก็คือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 149๕ และการสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวนั้นไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก และเมื่อผู้คัดค้าน
เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ห. เป็นจำเลย ขอให้บังคับผู้ร้องแบ่งที่ดินที่มีชื่อนาง ห. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้คัดค้านอย่างกรรมสิทธิ์รวม จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิ
ของผู้ร้องอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ซึ่งจะต้องใช้สิทธิทางศาล ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ร้อง
มีพฤติการณ์ที่ไม่สุจริต ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๖ ถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ได้

         ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติถึงเงื่อนไขการสมรสว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรส
ในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ และในมาตรา 149๕ บัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452
ตกเป็นโมฆะ โดยกฎหมายมิได้บัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 จะต้องกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้น หากชายหรือหญิงทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าการสมรสระหว่างนาง ห.
กับผู้คัดค้านตกเป็นโมฆะ เพราะนาง ห. มารดาของผู้ร้อง จดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านในขณะที่
ผู้คัดค้านมีนาง ส. เป็นคู่สมรสอยู่แล้ว การจดทะเบียนสมรสระหว่างนาง ห. กับผู้คัดค้านจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่านาง ห. จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตหรือไม่

______________________________

         ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งให้การสมรสระหว่างนาง ห. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ และแจ้ง
คำสั่งศาลไปยังนายทะเบียนสำนักทะเบียนอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียน

         ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ

            ศาลชั้นต้น พิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างนาง ห. กับนาย อ. ผู้คัดค้าน ที่สำนักทะเบียนอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เลขทะเบียนที่ ๒๙๙/๗๔๗๒ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๖ เป็นโมฆะ ให้แจ้งนายทะเบียนสำนักทะเบียนอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เพื่อบันทึกความเป็นโมฆะ
ไว้ในทะเบียนสมรสเมื่อคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสระหว่างนาง ห. กับนาย อ. ผู้คัดค้าน ถึงที่สุด
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙๗/๑ กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียม
แทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ

         ผู้คัดค้านอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความ
ไม่โต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนาง ห.
กับนายหรือจ่าสิบเอก ว. ตามสำเนาสูติบัตรและสำเนารายการเกี่ยวกับบ้าน นาง ห. กับนาย ว.
จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๖ ตามสำเนาใบสำคัญการหย่า ส่วนผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับนาง ส. เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๗ และจดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ตามสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัว นาง ห. จดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๖ ตามสำเนาใบสำคัญการสมรส นาง ห. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ ตามสำเนามรณบัตร เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๖ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนาง ห.
(ไม่มีพินัยกรรม) ต่อศาลจังหวัดสกลนคร และเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้อง
เป็นผู้จัดการมรดกของนาง ห.ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ ๒๕๗/๒๕๖๖ ของศาลจังหวัดสกลนคร
คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามสำเนาคำร้องขอ สำเนาคำสั่ง และสำเนาใบสำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด
เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ห.
เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสกลนครในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ ๖๘๒/๒๕๖๖ โดยมีคำขอให้บังคับผู้ร้อง
ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ห. แบ่งที่ดินที่มีชื่อนาง ห. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ๑๐ แปลง ให้แก่ผู้คัดค้านอย่างกรรมสิทธิ์รวมตามสำเนาคำฟ้องและสำเนาเอกสารท้ายคำฟ้อง

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างนาง ห. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะหรือไม่ โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ทำนองว่า ขณะที่นาง ห. กับผู้คัดค้านไปจดทะเบียนสมรสกัน นาง ห. ได้ไปให้ถ้อยคำแก่นายทะเบียนว่าผู้คัดค้านไม่เคย
จดทะเบียนสมรสมาก่อน โดยผู้คัดค้านมิได้ยินยอมและรู้เห็นเป็นใจด้วย การกระทำของนาง ห.
กระทำเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวเพื่อต้องการไม่ให้สามีเก่าของนาง ห. มาก่อกวนและก่อความวุ่นวายภายในโรงเรียน นาง ห. เป็นผู้ทำการสมรสโดยไม่สุจริต ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
ของนาง ห. จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสซ้อนระหว่างนาง ห.
กับผู้คัดค้านตกเป็นโมฆะ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิพากษาว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างนาง ห.
กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะแต่อย่างใด ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น ในข้อนี้ผู้ร้อง
มีตัวผู้ร้องมาเบิกความว่า เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๖ นาง ห. มารดาผู้ร้องจดทะเบียนสมรส
กับผู้คัดค้าน ซึ่งขณะนั้นผู้คัดค้านทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองมีภริยาชอบด้วยกฎหมาย คือ นาง ส.
ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2527 แต่ยังคงจดทะเบียนสมรสกับนาง ห. ผู้คัดค้านเพิ่งจดทะเบียนหย่ากับนาง ส. เมื่อปี 2556 ต่อมาวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ นาง ห. ถึงแก่ความตาย
ขณะนาง ห. ยังมีชีวิตอยู่ได้ประกอบอาชีพรับราชการครู และมีอาชีพเสริมคือขายแก๊สหุงต้ม
ภายหลังจากเกษียณแล้วนาง ห. ประกอบอาชีพเป็นดีเจประจำสถานีวิทยุและขายแก๊สหุงต้ม
ส่วนผู้คัดค้านมีตัวผู้คัดค้านมาเบิกความว่า ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับนาง ส. เมื่อปี ๒๕๒๗
หลังจากนั้นผู้คัดค้านทิ้งร้างนาง ส. ไปประมาณ ๗ ปี ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๖ ผู้คัดค้าน
จดทะเบียนสมรสกับนาง ห. ภายหลังจากที่นาง ห. จดทะเบียนหย่ากับนาย ว. บิดาของผู้ร้อง เนื่องจากนาย ว. ตามไปก่อกวนที่โรงเรียนที่นาง ห. ทำงาน และถามหาทะเบียนสมรสระหว่างนาง ห. กับสามีใหม่ ก่อนจดทะเบียนสมรสกับนาง ห. ผู้คัดค้านพานาง ห. ยายของผู้ร้อง น้องชายของผู้ร้อง และผู้ร้อง
ไปที่บ้านของผู้คัดค้าน มารดาของผู้คัดค้านแจ้งให้ยายของผู้ร้องทราบแล้วว่าผู้คัดค้านมีภริยาอยู่แล้ว
แต่กำลังจะฟ้องหย่ากัน และยายของผู้ร้องขอให้ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสกับนาง ห. หลังจดทะเบียนสมรสกันผู้คัดค้านประกอบอาชีพขายแก๊สหุงต้มและขายรถยนต์มือสองที่บ้านเลขที่ ๓๒ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เห็นว่า เรื่องการสมรสซ้อนนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1452 บัญญัติว่า “ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้” และมาตรา 1495 บัญญัติว่า “การสมรสที่ฝ่าฝืน... มาตรา 1452... เป็นโมฆะ” และผู้ที่จะยกความเป็นโมฆะของการสมรสขึ้นกล่าวอ้างนั้น มาตรา 1497 บัญญัติว่า “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคล
ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้” ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของผู้ร้องและผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
ของนาง ห. ผู้ตาย กับนายหรือจ่าสิบเอก ว. ตามสำเนาสูติบัตรและสำเนารายการเกี่ยวกับบ้าน
เมื่อนาง ห. ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนาง ห. (ไม่มีพินัยกรรม)
ต่อศาลจังหวัดสกลนคร ต่อมาวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ของนาง ห. ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ ๒๕๗/๒๕๖๖ ของศาลจังหวัดสกลนคร คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามสำเนาคำร้องขอ สำเนาคำสั่ง และสำเนาใบสำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะ
เป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของนาง ห. และขณะที่นาง ห. จดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ทราบหรือรู้เห็นเกี่ยวกับการสมรสระหว่างนาง ห.
กับผู้คัดค้านที่เป็นการสมรสซ้อนแต่อย่างใด อันจะถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ไม่สุจริต ดังนั้น เมื่อนาง ห. ถึงแก่ความตาย ผู้ร้องจึงเป็นเพียงผู้รับทรัพย์มรดกของนาง ห.เท่านั้น ทั้งการที่ผู้คัดค้านจดทะเบียนสมรสซ้อนกับนาง ห. ดังกล่าว ผลก็คือทำให้การสมรสเป็นโมฆะตามบทบัญญัติมาตรา 149๕ และการสมรส
ที่เป็นโมฆะดังกล่าวนั้นไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก การที่ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ห. เป็นจำเลย
ต่อศาลจังหวัดสกลนครเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ ๖๘๒/๒๕๖๖ โดยมีคำขอให้บังคับผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง ห. แบ่งที่ดินที่มีชื่อนาง ห. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ๑๐ แปลง ให้แก่ผู้คัดค้าน
อย่างกรรมสิทธิ์รวมตามสำเนาคำฟ้องและสำเนาเอกสารท้ายคำฟ้อง จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิ
ของผู้ร้องอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ซึ่งจะต้องใช้สิทธิทางศาล ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง
ขอต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๖ ถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า
การสมรสเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497 ได้ นอกจากนี้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า นาง ห. เป็นผู้ทำการสมรสโดยไม่สุจริตนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 บัญญัติถึงเงื่อนไขการสมรสว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
และในมาตรา 149๕ บัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 เป็นโมฆะ โดยกฎหมายมิได้บัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 จะต้องกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้น หากชายหรือหญิงทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างนาง ห. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ เพราะนาง ห. มารดาของผู้ร้อง
จดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านในขณะที่ผู้คัดค้านมีนาง ส. เป็นคู่สมรสอยู่แล้ว การจดทะเบียนสมรสระหว่างนาง ห. กับผู้คัดค้านจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่านาง ห.
ได้จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่างนาง ห.
กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

(พาชื่น แสงจันทร์เทศ – รัชดาพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา – ฉันทนา ชมพานิชย์)

ณิศรา กิจคณาศิริ - ย่อ

สัญชัย ภักดีบุตร - ตรวจ