คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5580/2567 นาง ม. โจทก์ นางหรือนางสาว ภ. จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 420, 1523 วรรคสอง, 1525 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ. มาตรา ๑61 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยบรรยายพฤติกรรมต่าง ๆ ของจำเลยที่แสดงถึงความสัมพันธ์
ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์และวงศ์ตระกูลจากการกระทำของจำเลย ซึ่งรวมถึงการได้รับอันตรายแก่กาย ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาล และความเสียหายในทางทรัพย์สินเป็นพิเศษจากการโอนสินสมรส อันเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าทดแทน โดยในคำฟ้องตอนท้ายสรุปว่า พฤติกรรมของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายกระทบสิทธิในการเป็นสามีภริยาและต้องเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณอย่างยิ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์เป็นพิเศษ ย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์
กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง หาได้เรียกค่ารักษาพยาบาล
ในฐานทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ไม่ ส่วนเงินสินสมรสที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนำไป
ลดค่าทดแทนลง นั้น แม้โจทก์บรรยายฟ้องเดิมว่า ขอใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งสินสมรสในส่วน
ของโจทก์กึ่งหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตให้แก้ไขฟ้อง โดยคำฟ้องฉบับใหม่ที่บรรยายว่า
การที่จำเลยให้สามีโจทก์ยักย้ายถ่ายเทสินสมรสทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ฟ้องเดิมที่เรียกคืนสินสมรสกับค่าทดแทนจึงสิ้นผลไป ต้องยึดถือตามคำฟ้องฉบับใหม่
กรณีจึงเป็นเพียงการบรรยายฟ้องให้เห็นว่าได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินเป็นพิเศษอันสมควรได้รับค่าทดแทนตามฟ้อง ไม่ใช่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนในจำนวนเท่ากับเงินสินสมรสในส่วน
ของโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนำค่ารักษาพยาบาลไปลดค่าทดแทนลงและนำเงินสินสมรสไปลดค่าทดแทนลงด้วย จึงไม่ถูกต้อง
การที่ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์
กับสามีในทำของชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง นั้น มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ ดังนั้น ศาลจึงต้องพิจารณากำหนดค่าทดแทนจากความเสียหายที่ภริยาพึงได้รับ พฤติการณ์แห่งคดี และสถานะของคู่สมรสเป็นหลัก หาต้องคำนึงภาระหรือความสามารถของหญิงนั้นในการใช้ค่าทดแทนไม่
การพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียม นั้น
ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.พ. 161 วรรคหนึ่ง ศาลจึงต้องใช้ดุลพินิจในการพิพากษากำหนดความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียม โดยคำนึงถึงเหตุผลสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี
ของคู่ความในคดีเป็นหลัก เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุละเมิดสิทธิของโจทก์ด้วยการแสดงตน
โดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวจนถึงขั้นอยู่กินฉันสามีภริยาโดยโจทก์มิได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ ทำให้โจทก์ต้องใช้สิทธิฟ้องให้จำเลยรับผิดชอบใช้ค่าทดแทนตามกฎหมายอันเป็นการดำเนินคดีโดยมีเหตุสมควรและมีความสุจริต จำเลยกลับสู้คดีโดยไม่ยอมรับผิดและไม่เคยบรรเทาผลร้าย รวมทั้งให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้จำเลย
มีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์หรือยกย่องจำเลยเป็นภริยาได้เพื่อไม่ต้องใช้ค่าทดแทน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดใช้ค่าทดแทน จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโดยอ้างเหตุผลสนับสนุนตามที่ให้การต่อสู้ไว้อันแสดงถึงการต่อสู้คดีโดยไม่สุจริตของจำเลยและเป็นการทำร้ายจิตใจโจทก์ซ้ำเติมขึ้นไปอีก เมื่อศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีและคำนึงถึงเหตุอันสมควร
และความสุจริตในการดำเนินคดี เห็นสมควรให้จำเลยรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
(ชวลิต อิศรเดช – ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล – พรชัย พุ่มกำพล)
พลกฤต วงษ์สมบัติ - ย่อ
สุทจิ์ธิฎา สุทธิพงศ์คณาสัย - ตรวจ
(คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 461/2566)