คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1884/2567 บริษัท ว.                                  โจทก์

                                                                    นาย ณ. กับพวก                                 จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา ๘๒๐, ๑๑๖๗, ๑๑๖๙ วรรคหนึ่ง, ๑๑๗๐ วรรคหนึ่ง

ป.วิ.พ. มาตรา ๔๖ วรรคสาม, ๑๔๕ วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑

ข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๓๑

         โจทก์อ้างส่งพยานเอกสารเป็นคำฟ้องคดีที่ศาลที่ประเทศอังกฤษตามเอกสารหมาย จ.๑๔
ที่เป็นภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลก่อนวันสืบพยาน และได้ส่งสำเนาให้จำเลยทั้งหมดก่อนแล้ว
ต่อมาจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยื่นคำร้องคัดค้านคำแปล เอกสารหมาย จ.๑๔ ว่าไม่ถูกต้อง การที่
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้จัดทำคำแปลในคำร้องคัดค้านคำแปล
จึงเป็นเพียงเพื่อประกอบการคัดค้านของจำเลยดังกล่าวเท่านั้น และเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิ่มเติมในเวลาต่อมาในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖ ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นจำเลยคดีดังกล่าว จึงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก่อนหน้านี้แล้ว จึงให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จัดทำคำแปลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ซึ่งอ้างว่าโจทก์ทำคำแปลไม่ถูกต้องส่งศาลก่อนสืบพยาน มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้านคำแปลเอกสาร
ของโจทก์ จึงเป็นเพียงกรณีที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งตามที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เห็นว่าคำแปล
ที่โจทก์จัดทำไม่ถูกต้องคลาดเคลื่อนและโต้แย้งคัดค้าน จึงให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เสนอคำแปล
ที่ถูกต้องเพื่อให้ศาลตรวจดูเสียก่อนประกอบการโต้แย้งคัดค้านเท่านั้น มิได้เป็นการสั่งให้จำเลยดังกล่าวผู้ไม่ได้มีหน้าที่จัดทำคำแปลเพราะไม่ได้มีภาระการพิสูจน์ส่งคำแปล โดยไม่เป็นไป
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๔๖ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ และเมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โต้แย้งคัดค้านคำแปลเอกสารของโจทก์
แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กลับมิได้ยื่นคำแปลตามที่ศาลแรงงานกลางสั่งในคำร้องของจำเลยดังกล่าวและในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖ ว่าเพื่อประกอบการโต้แย้งคัดค้าน
ย่อมไม่มีผลในการรับฟังพยานเอกสารหมาย จ.๑๔ แต่อย่างใด และเมื่อต่อมาศาลแรงงานกลาง
ได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๖ โดยชัดเจนแล้วว่า เอกสาร
บางฉบับที่เป็นภาษาต่างประเทศ คู่ความแถลงว่าไม่สามารถทำคำแปลกันได้ทันก่อนการสืบพยาน ศาลตรวจดูแล้วเห็นว่าเอกสารที่มิได้ทำคำแปลมิใช่หลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดีนี้ จึงให้คู่ความ
ส่งเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศโดยไม่ต้องทำคำแปล ซึ่งเป็นการสั่งตามข้อกำหนดศาลแรงงาน
ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๓๑ แล้วด้วย จำเลยที่ ๒
และที่ ๓ จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำคำแปลส่งศาล ซึ่งตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๓๑ ที่ระบุว่า ถ้าเอกสารที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้น
เป็นภาษาต่างประเทศ และคู่ความตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลทั้งฉบับหรือแต่บางส่วน
และศาลเห็นว่ามิใช่พยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี ศาลจะอนุญาตให้ส่งเอกสารนั้น
เป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องทำคำแปลก็ได้ ย่อมมีความหมายว่า ศาลแรงงานกลางมีดุลพินิจ
ในการพิจารณาว่าถ้าเอกสารที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ และศาลเห็นว่า
มิใช่พยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี ศาลจะอนุญาตให้ส่งเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐาน
โดยไม่ต้องทำคำแปลก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งในลักษณะดังกล่าวได้
ต่อเมื่อคู่ความตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลทั้งฉบับหรือแต่บางส่วนก่อน เมื่อศาลแรงงานกลาง
ได้ใช้ดุลพินิจแล้ววินิจฉัยว่า เอกสารที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มิได้ทำคำแปลมิใช่หลักฐาน
ในประเด็นหลักแห่งคดีนี้ จึงไม่ต้องทำคำแปล จึงชอบด้วยข้อกำหนดศาลแรงงานดังกล่าว
และ ป.วิ.พ. มาตรา ๔๖ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ แล้ว

          ป.พ.พ. มาตรา ๘๒๐ และมาตรา ๑๑๖๗ มีความหมายเพียงว่า เมื่อกรรมการกระทำการแทนบริษัทภายในขอบอำนาจตัวแทนและขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทแล้ว ย่อมเกิดความผูกพันระหว่างบริษัทกับบุคคลภายนอกเท่านั้น โดยกรรมการไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวต่อบุคคลภายนอก คดีนี้
โจทก์มิได้เป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างที่ฟ้องจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นกรรมการ
และลูกจ้างที่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิด จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๖๙ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ และเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความแถลงรับร่วมกันว่า จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างโจทก์ด้วย โดยเคยดำรงตำแหน่งและมีระยะเวลาการทำงานตามฟ้อง
และตามเอกสารหมาย จ.๔ ถึง จ.๘ ดังนั้น แม้จำเลยที่ ๒ จะกระทำผิดสัญญาจ้างในการกระทำการ
ในฐานะกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทโจทก์ แต่ในขณะเดียวกันจำเลยที่ ๒ ก็เป็นลูกจ้างโจทก์ด้วยในขณะที่กระทำการในฐานะกรรมการดังกล่าว ทั้งตามคำฟ้องโจทก์ก็มิได้เพียงแต่กล่าวอ้างว่า
จำเลยที่ ๒ กระทำในฐานะกรรมการบริษัทโจทก์เท่านั้น แต่ยังกล่าวอ้างด้วยว่าจำเลยที่ ๒ กระทำ
ในฐานะที่เป็นลูกจ้างโจทก์ด้วย จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามสัญญา
จ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ได้ขัดกับข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับและศาลแรงงานกลางรับฟังไว้เป็นที่ยุติแล้วแต่อย่างใด และไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวน เป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

          กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้รับผิดในมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน
และเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัย ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ และผู้รับประกันภัยแตกต่างกัน เมื่อในสัญญาจ้างแรงงานไม่มีข้อกำหนดว่า
ในกรณีที่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายต้องไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจาก
ผู้รับประกันภัยก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาจ้างแรงงานเอาแก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔
ผู้เป็นลูกจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับตามสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานเอาแก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔
ผู้เป็นลูกจ้างได้ โดยไม่จำต้องไปเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยก่อน เมื่อโจทก์ได้รับ
ความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ แม้โจทก์จะมีกรมธรรม์ความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นคดีนี้ได้

          ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ๒๕๖๓ เมื่อวันที่
๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ มีมติอนุมัติงบการเงินเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายเท่านั้น ที่ประชุมใหญ่ของบริษัทโจทก์เพียงแต่อนุมัติบัญชีงบการเงิน การอนุมัติดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยที่ ๒ กรรมการบริษัทผู้จ่ายเงินไปโดยมิชอบพ้นจากความรับผิดในการจ่ายเงินนั้นต่อบริษัทโจทก์ได้ เพราะเป็นกรณีที่ที่ประชุมใหญ่อนุมัติแต่งบการเงิน แต่มิได้อนุมัติในกิจการที่ทำไปโดยตรง จึงไม่เป็นการซึ่งกรรมการ
ได้ทำไปได้รับอนุมัติของที่ประชุมใหญ่แล้วจะมีผลให้กรรมการคนนั้นไม่ต้องรับผิดในการนั้นต่อผู้ถือหุ้นซึ่งได้ให้อนุมัติหรือต่อบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๗๐ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อการซึ่งกรรมการคนใดได้ทำไปได้รับอนุมัติของที่ประชุมใหญ่แล้ว ท่านว่ากรรมการคนนั้นไม่ต้องรับผิดในการนั้น
ต่อผู้ถือหุ้นซึ่งได้ให้อนุมัติหรือต่อบริษัทอีกต่อไป

          โจทก์กับจำเลยที่ ๕ ในคดีนี้ต่างเป็นคู่ความในคดีหมายเลขดำที่ ร ๑๑๗๗/๒๕๖๔
คดีหมายเลขแดงที่ ร ๕๑๖๖/๒๕๖๕ ของศาลแรงงานกลาง คดีดังกล่าวจำเลยที่ ๕ ฟ้องโจทก์
เป็นจำเลยที่ ๑ ว่า โจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างจำเลยที่ ๕ โดยไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ให้การว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๕ เพราะจำเลยที่ ๕ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ในคดีนี้ทุจริตต่อโจทก์ โดยร่วมกันเอาเงินของโจทก์ชำระเป็นค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายหรือค่าทนายความให้แก่สำนักงานกฎหมาย ส. และสำนักงานกฎหมาย ซ. เป็นเงิน
๓๐๘,๐๔๙,๙๖๑.๐๕ บาท ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งคดีและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมาย
หรือค่าทนายความในคดีดังกล่าวให้แก่ผู้ใด และไม่จำต้องชำระหนี้แทนคู่ความในคดีดังกล่าวเนื่องจากเป็นเรื่องผิดสัญญาและเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ถูกฟ้องที่ได้รับประโยชน์และเป็น
ผู้ผิดสัญญาจึงถูกฟ้องคดีและเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายทางคดีและค่าทนายความเอง
ไม่อาจให้โจทก์ชำระเงินแทนได้ การที่จำเลยที่ ๕ เป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ร่วมอนุมัติจ่ายเงินให้แก่สำนักงานกฎหมาย ส. หลายครั้ง และร่วมลงลายมือชื่ออนุมัติแจ้งธนาคารโอนเงินหรือชำระเงินให้แก่สำนักงานกฎหมาย ส. และให้แก่สำนักงานกฎหมาย ซ. เป็นเงินทั้งสิ้น ๓๐๘
,๐๔๙,๙๖๑.๐๕ บาท ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๕ ถือเป็นการกระทำความผิดต่อนายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำทุจริตต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเลิกจ้างจำเลยที่ ๕ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่จำเลยที่ ๕ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ ๕ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ ๕
เป็นคู่ความในคดีก่อนและคดีนี้ ซึ่งประเด็นวินิจฉัยในทั้งสองคดีเป็นประเด็นเดียวกันในการกระทำเดียวกันในความเสียหายเดียวกัน แม้คดีก่อนจะยังไม่ถึงที่สุด คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
ในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ ๕ ในคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ซึ่งมีลักษณะเป็นบทบัญญัติที่เด็ดขาด คู่ความจะกล่าวอ้างหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นและศาลแรงงานกลาง
จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่แตกต่างไปจากเดิมหาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ ๕ จะกล่าวอ้างหรือให้การโต้แย้ง
.

 

 

เป็นอย่างอื่นไม่ได้เช่นนี้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงต้องฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ ๕ กระทำความผิดต่อโจทก์นายจ้าง

______________________________

            โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน ๓๒๖,๕๗๒,๙๕๐.๖๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๐๘,๐๔๙,๙๖๑.๐๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
แก่โจทก์

         จำเลยที่ ๑ และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ ๓ ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ชำระเงิน ๑,๐๔๐,๒๗๓.๙๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่า
จะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ ๓

         จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานกลางเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ วรรคสอง
และประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำวินิจฉัยที่ วร ๒๕/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๕ ว่า
คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓
ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕
ตามคำฟ้องโจทก์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ และฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ ออกจากสารบบความ

         จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖ ว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตรวจดูคำแปล เอกสารหมาย จ.๑๔ แล้ว ไม่สามารถเข้าใจคำแปลของเอกสารดังกล่าว จึงขอคัดค้านคำแปล
และขอให้ศาลมีคำสั่งส่งเอกสารหมาย จ.๑๔ ไปให้ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้จัดทำ
คำแปลภาษาไทยเพื่อใช้ในการสืบพยานต่อไป ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า เอกสารหมาย จ.๑๔
เป็นคำฟ้องที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย จึงให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จัดทำคำแปลส่งศาลพร้อมเอกสารดังกล่าวเพื่อให้ศาลตรวจดูเสียก่อน และมีคำสั่งเพิ่มเติมตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่วันเดียวกันว่า เอกสารดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นจำเลยคดีดังกล่าว จึงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก่อนหน้านี้แล้ว จึงให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จัดทำคำแปลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ซึ่งอ้างว่าโจทก์ทำคำแปลไม่ถูกต้องส่งศาลก่อนสืบพยาน มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้านคำแปลเอกสารของโจทก์

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ร่วมกันชำระเงิน ๓๐๘,๐๔๙,๙๖๑.๐๕ บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงินตามที่ระบุในตารางอนุมัติการจ่ายเงินนับแต่วันที่จ่ายเงิน
หรือโอนเงินในแต่ละงวดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ให้หักเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ออกจากยอดหนี้ที่ค้างชำระ ณ วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔ ด้วย

         จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน
และศาลแรงงานกลางรับฟังมาเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕
เป็นลูกจ้างโจทก์ เดิมนายนพพรเคยเป็นผู้บริหารของโจทก์และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโจทก์ในนาม
บริษัท ร. ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ค. นายนพพรถูกดำเนินคดีความผิดข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ได้เดินทางไปต่างประเทศ ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ จำเลยที่ ๑ โดยบริษัท ฟ.
และบริษัท ค. จึงเข้าซื้อหุ้นจากบริษัท ซ. บริษัท น. และบริษัท ด. ซึ่งเป็นบริษัทของนายนพพร
ทำให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโจทก์ โจทก์จึงแต่งตั้งให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ขณะนั้นจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นลูกจ้างและผู้บริหารของโจทก์แล้ว
ต่อมานายนพพรเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการสิงคโปร์กล่าวหาว่า มีการค้างชำระเงินค่าหุ้น
บริษัท ค. ซึ่งเป็นของจำเลยที่ ๑ จึงมีการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นให้นายเกษม บิดาของจำเลยที่ ๑
หลังจากนั้นได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นบางส่วนต่อไปยังจำเลยที่ ๓ บริษัท ล. ซึ่งมีจำเลยที่ ๓
เป็นเจ้าของ จำเลยที่ ๔ บริษัท อ. ซึ่งมีจำเลยที่ ๔ เป็นเจ้าของ จำเลยที่ ๕ บริษัท บ. ซึ่งมีจำเลยที่ ๕
เป็นเจ้าของ นางคาดิจาภริยาของจำเลยที่ ๕ และบุคคลอื่น ๆ ช่วงเวลานั้นบริษัทในเครือของโจทก์
ขอสินเชื่อจากธนาคาร ท. เพื่อนำมาใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ต่อมานายนพพรและบริษัทผู้ขายหุ้นได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้า ภริยาของจำเลยที่ ๕ และบริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ดังกล่าว กับบุคคลอื่นรวม ๑๗ คน เป็นจำเลยต่อศาลสูงแห่งประเทศอังกฤษและเวลส์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ลงชื่อ
และประทับตราสำคัญของโจทก์ทำหนังสือลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๒ ตกลงชดใช้ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีดังกล่าวให้แก่สำนักงานกฎหมาย ส. และสำนักงานกฎหมาย ม. แทนจำเลยที่ ๓ บริษัทของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ บริษัทของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕
ในการประชุมคณะกรรมการโจทก์ครั้งที่ ๔/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ และที่ประชุมสามัญ
ผู้ถือหุ้นประจำปี ๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓ มีมติอนุมัติงบการเงินเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย
ทางด้านกฎหมาย โดยมีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่สำนักงานกฎหมายทั้งสองแห่ง ต่อมาผู้ถือหุ้น
มีหนังสือขอให้โจทก์ตรวจสอบและระงับการจ่ายเงินให้แก่สำนักงานกฎหมายทั้งสองแห่ง ในการประชุมคณะกรรมการโจทก์ครั้งที่ ๑๓/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ คณะกรรมการมีมติเลิกจ้าง
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ จำเลยที่ ๓ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๓ ลาออกและมีหนังสือขอยกเลิกสัญญา ส่วนจำเลยที่ ๒ ลาออกไปก่อนแล้ว โจทก์เคยยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัท
ผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ เพื่อชดใช้เงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายในคดีที่มีการฟ้องร้องกัน บริษัทผู้รับประกันภัยมีหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงยื่นขอถอนเรื่อง ผู้ถือหุ้นของโจทก์รวม ๓๓ คน ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ก่อนคดีนี้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ฟ้องโจทก์และกรรมการโจทก์
ต่อศาลแรงงานกลาง ต่อมาจำเลยที่ ๔ ขอถอนฟ้อง ในคดีของจำเลยที่ ๕ มีทนายจำเลยที่ ๕ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ และจำเลยที่ ๒ เบิกความเป็นพยาน ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นลูกจ้างโจทก์ ขณะที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้บริหารของโจทก์ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ กระทำการทุจริตฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันทำหนังสือข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหาย เพื่อให้โจทก์รับผิดชำระค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในคดีที่จำเลยทั้งห้ากับพวกถูกบุคคลอื่นยื่นฟ้องต่อศาลสูงในประเทศอังกฤษและเวลส์ ซึ่งเป็นคดีส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ จำเลยทั้งห้าร่วมกันทุจริตใช้อำนาจในฐานะกรรมการและผู้บริหารของโจทก์เอาเงินของโจทก์ไปชำระค่าใช้จ่าย
ทางด้านกฎหมายให้แก่สำนักงานกฎหมายในประเทศอังกฤษ ๒ แห่ง เพื่อประโยชน์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกรวม ๓๐๘,๐๔๙,๙๖๑.๐๕ บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่จำเลยทั้งห้าเอาเงินโจทก์ไปชำระให้แก่สำนักงานกฎหมายในแต่ละครั้งคิดเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย
รวม ๓๒๗,๕๗๒,๙๕๐.๖๓ บาท เมื่อหักเงินที่จำเลยที่ ๓ นำมาชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยทั้งห้าต้องร่วมกันชดใช้แก่โจทก์ ๓๒๖,๕๗๒,๙๕๐.๖๓ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ๓๒๖,๕๗๒,๙๕๐.๖๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๐๘,๐๔๙,๙๖๑.๐๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนั้น คำฟ้องโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ
ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นลูกจ้างโจทก์ร่วมกันกระทำการทุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำผิดต่อหน้าที่
อันเป็นการผิดสัญญาจ้าง การฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากผิดสัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๙๓/๓๐ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แม้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ จะนำสืบว่าการที่จำเลยที่ ๓
ถึงที่ ๕ พร้อมทั้งบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้องถูกนายนพพรฟ้องเป็นคดีต่อศาลสูงแห่งประเทศอังกฤษ
และเวลส์เกิดจากการทำงานในฐานะลูกจ้างโจทก์ที่ช่วยเหลือกิจการของโจทก์ โดยบริหารงาน
และแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินแก่โจทก์ โจทก์จึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในคดีความที่เกิดขึ้น
แก่ลูกจ้างซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่และทำงานเพื่อประโยชน์ของโจทก์ก็ตาม แต่ได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ ๑ โอนหุ้นให้แก่นายเกษมซึ่งเป็นบิดาแล้ว ธนาคาร ท. อนุมัติให้โจทก์เบิกเงินกู้ตามสัญญาได้ นายเกษมโอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เพื่อตอบแทนการบริหารงาน จำเลยที่ ๓ โอนหุ้นให้แก่บริษัทของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ โอนหุ้นให้แก่บริษัทของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ โอนหุ้นให้แก่บริษัทของจำเลยที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ ต่อมาจึงถูกฟ้องคดี หลังจากนั้นจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ปรึกษาทนายความที่ประเทศอังกฤษแล้วเสนอให้บริษัทโจทก์ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ประเทศอังกฤษ หากบริษัทโจทก์ไม่ดูแลจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้บริหารแล้วถูกดำเนินคดีก็จะตัดสินใจลาออก จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงทำหนังสือข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหาย โดยจำเลยที่ ๒ เบิกความตอบศาลถามว่า บริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่ใช่บริษัท
ในเครือของโจทก์ นอกจากนี้ภริยาของจำเลยที่ ๕ ก็ถูกฟ้องคดีด้วย แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงถูกฟ้อง ภริยาของจำเลยที่ ๕ ไม่ใช่ลูกจ้างโจทก์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ เข้ามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและถูกฟ้องเป็นคดี เนื่องจากได้รับโอนหุ้นเป็นการส่วนตัวจากนายเกษมเพื่อตอบแทนการบริหารงานในบริษัทโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่ใช่บริษัทในเครือของโจทก์ อีกทั้งภริยาของจำเลยที่ ๕ ก็มิใช่ลูกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒ แห่ง ในประเทศอังกฤษแทนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕
และภริยาของจำเลยที่ ๕ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ปรึกษากันและยื่นข้อเสนอให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือให้โจทก์ตกลงชดใช้ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒
แห่ง แทนจำเลยที่ ๓ บริษัทของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ บริษัทของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์
อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นทั้งลูกจ้างและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ในขณะนั้นกับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ จึงเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับ
ความเสียหายเป็นจำนวนเงินตามที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ อนุมัติเบิกจ่ายเงินไป แม้โจทก์จะมีกรมธรรม์
ความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ แต่ผู้รับประกันภัยมีหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงขอถอนเรื่องดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย ดังนั้น จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิด
และผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ เมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์มีสิทธิ
คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนตามที่ได้มีการเบิกจ่ายไปชำระให้แก่สำนักงานกฎหมายในแต่ละงวด แต่ทั้งนี้ให้หักเงินที่จำเลยที่ ๓ ได้ชดใช้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอม
ยอมความ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ณ วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔ ตามกำหนดชำระเงินงวดแรกในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกมีว่า คำสั่งศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับคำแปล เอกสารหมาย จ.๑๔ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์อ้างส่งพยานเอกสารเป็นคำฟ้องคดีที่ศาลที่ประเทศอังกฤษตามเอกสารหมาย จ.๑๔ ที่เป็นภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลก่อนวันสืบพยาน และได้ส่งสำเนาให้
จำเลยทั้งหมดก่อนแล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยื่นคำร้องคัดค้านคำแปล เอกสารหมาย จ.๑๔
ว่าไม่ถูกต้อง การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้จัดทำคำแปล เอกสารหมาย จ.๑๔ ในคำร้องคัดค้านคำแปล จึงเป็นเพียงเพื่อประกอบการคัดค้านของจำเลยดังกล่าวเท่านั้น
และเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิ่มเติมในเวลาต่อมาในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖
ว่า เอกสารดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นจำเลยคดีดังกล่าว จึงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก่อนหน้านี้แล้ว จึงให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จัดทำคำแปลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้
ซึ่งอ้างว่าโจทก์ทำคำแปลไม่ถูกต้องส่งศาลก่อนสืบพยาน มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้านคำแปลเอกสารของโจทก์จึงเป็นเพียงกรณีที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งตามที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เห็นว่าคำแปลที่โจทก์จัดทำไม่ถูกต้องคลาดเคลื่อนและโต้แย้งคัดค้าน จึงให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เสนอคำแปลที่ถูกต้องเพื่อให้ศาลตรวจดูเสียก่อนประกอบการโต้แย้งคัดค้านเท่านั้น มิได้เป็นการสั่งให้จำเลยดังกล่าวผู้ไม่ได้มีหน้าที่จัดทำคำแปลเพราะไม่ได้มีภาระการพิสูจน์ส่งคำแปล โดยไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๖ วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ แต่อย่างใด และเมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โต้แย้งคัดค้านคำแปลเอกสารของโจทก์ แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กลับมิได้ยื่นคำแปลตามที่ศาลแรงงานกลางสั่งในคำร้องของจำเลยดังกล่าว
และในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖ ว่าเพื่อประกอบการโต้แย้งคัดค้าน ย่อมไม่มีผลในการรับฟังพยานเอกสารหมาย จ.๑๔ แต่อย่างใด และเมื่อต่อมาศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๖ โดยชัดเจนแล้วว่า เอกสารบางฉบับที่เป็นภาษาต่างประเทศ คู่ความแถลงว่าไม่สามารถทำคำแปลกันได้ทันก่อนการสืบพยาน ศาลตรวจดูแล้วเห็นว่าเอกสารที่มิได้ทำคำแปลมิใช่หลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดีนี้ จึงให้คู่ความส่งเอกสารเป็นภาษาต่างประเทศโดยไม่ต้องทำคำแปล ซึ่งเป็นการสั่งตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๓๑ แล้วด้วย จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดทำคำแปลส่งศาล ส่วนที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ว่า คำสั่งศาลแรงงานกลางดังกล่าวไม่ชอบด้วยข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนิน
กระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๓๑ เพราะศาลแรงงานกลางจะสั่งได้ต่อเมื่อคู่ความ
ตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลทั้งฉบับหรือแต่บางส่วนก่อน เห็นว่า ตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วย
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๓๑ ที่ระบุว่า ถ้าเอกสารที่ส่งต่อศาล
ได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ และคู่ความตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลทั้งฉบับหรือแต่บางส่วน
และศาลเห็นว่ามิใช่พยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี ศาลจะอนุญาตให้ส่งเอกสารนั้น
เป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องทำคำแปลก็ได้ ย่อมมีความหมายว่า ศาลแรงงานกลางมีดุลพินิจ
ในการพิจารณาว่าถ้าเอกสารที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ และศาลเห็นว่ามิใช่พยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี ศาลจะอนุญาตให้ส่งเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ต้องทำคำแปลก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่งในลักษณะดังกล่าวได้ต่อเมื่อคู่ความตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลทั้งฉบับหรือแต่บางส่วนก่อนดังอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ แต่อย่างใด เมื่อศาลแรงงานกลาง
ได้ใช้ดุลพินิจแล้ววินิจฉัยว่า เอกสารที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มิได้ทำคำแปลมิใช่หลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดีนี้ จึงไม่ต้องทำคำแปล จึงชอบด้วยข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณา
ในศาลแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๖ ข้อ ๓๑ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๖ วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ แล้ว
ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับคำแปล เอกสารหมาย จ.๑๔ มานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ในข้อ ๔.๑.๑ ว่า จำเลยที่ ๒ มีสถานะเป็นทั้งกรรมการผู้มีอำนาจ
ของโจทก์และลูกจ้างโจทก์ และมีอำนาจตามหนังสือรับรองบริษัทในการลงนามเอกสารหมาย จ.๑๑
แทนโจทก์ ซึ่งการที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยได้ว่า การลงนามและการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลจะต้องวินิจฉัยจากเนื้อหาในเอกสารหมาย จ.๑๔ ก่อน แต่เนื่องด้วยศาลมีคำสั่งมิให้โจทก์ดำเนินการจัดทำคำแปลตามเอกสารหมาย จ.๑๔ ใหม่ ขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่ง
ย้อนสำนวนเพื่อให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนและรับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย จ.๑๔ ต่อไป นั้น
คำสั่งศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับเอกสารหมาย จ.๑๔ และคำแปลว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ได้รับการวินิจฉัยไว้แล้วในอุทธรณ์ข้อก่อนว่าชอบด้วยกฎหมาย ทั้งอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นเช่นใด เป็นอุทธรณ์
ที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในข้อ ๔.๑.๒ มีว่า จำเลยที่ ๒
ในฐานะกรรมการบริษัทโจทก์ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๐ และมาตรา ๑๑๖๗ มีความหมายเพียงว่า เมื่อกรรมการกระทำการแทนบริษัทภายใน
ขอบอำนาจตัวแทนและขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทแล้ว ย่อมเกิดความผูกพันระหว่างบริษัท
กับบุคคลภายนอกเท่านั้น โดยกรรมการไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวต่อบุคคลภายนอก คดีนี้โจทก์มิได้
เป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างที่ฟ้องจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นกรรมการและลูกจ้างที่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิด จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๖๙ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท บริษัทจะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทน
แก่กรรมการก็ได้ และเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความแถลงรับร่วมกันว่า จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างโจทก์ด้วย โดยเคยดำรงตำแหน่งและมีระยะเวลาการทำงานตามฟ้อง และตามเอกสารหมาย จ.๔ ถึง จ.๘ ดังนั้น แม้จำเลยที่ ๒ จะกระทำผิดสัญญาจ้างในการกระทำการในฐานะกรรมการ
ทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทโจทก์ แต่ในขณะเดียวกันจำเลยที่ ๒ ก็เป็นลูกจ้างโจทก์ด้วยในขณะที่กระทำการในฐานะกรรมการดังกล่าว ทั้งตามคำฟ้องโจทก์ก็มิได้เพียงแต่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ กระทำในฐานะกรรมการบริษัทโจทก์เท่านั้น แต่ยังกล่าวอ้างด้วยว่าจำเลยที่ ๒ กระทำในฐานะที่เป็นลูกจ้างโจทก์ด้วย
จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์
ซึ่งเป็นนายจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่
ตามสัญญาจ้างแรงงานและเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ (๕) ซึ่งเป็นไปตามที่ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำวินิจฉัยที่ วร ๒๕/๒๕๖๕
ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๕ ในคดีนี้ไว้ก่อนแล้ว คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ได้ขัดกับข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับและศาลแรงงานกลางรับฟังไว้เป็นที่ยุติแล้วแต่อย่างใด และไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวนเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ในการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดมานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ ๒ กล่าวอ้างในอุทธรณ์ ข้อเท็จจริง
ไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องบริหารกิจการและทำงาน
ให้แก่โจทก์ให้เป็นไปด้วยความสุจริต ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ระเบียบ และข้อบังคับของโจทก์
แต่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ กระทำการทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามคำฟ้องดังกล่าวนอกจาก
เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ รับผิดในมูลละเมิดแล้ว ยังเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕
ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์กระทำผิดหน้าที่ที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ต้องกระทำตามสัญญาจ้างแรงงาน
จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ รับผิดในฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย หาใช่เป็นการฟ้องให้รับผิดฐานละเมิดเพียงฐานเดียวไม่ ซึ่งเป็นไปตามที่ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำวินิจฉัยที่
วร ๒๕/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๕ ในคดีนี้ว่าตามคำฟ้องโจทก์มิได้เพียงแต่กล่าวอ้างว่า
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ กระทำในฐานะกรรมการบริษัทโจทก์เท่านั้น แต่ยังกล่าวอ้างด้วยว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ กระทำในฐานะที่เป็นลูกจ้างโจทก์ด้วย ส่วนจำเลยที่ ๕ กระทำในฐานะที่เป็นลูกจ้างโจทก์ จึงเป็นกรณี
ที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์
ซึ่งเป็นนายจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕
ตามคำฟ้องโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและเป็นคดีอันเกิด
แต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) และ (๕)
และศาลแรงงานกลางก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในทำนองเดียวกันว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน และ/หรือกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ค่าเสียหายมีหรือไม่ เพียงใด ดังนั้น เมื่อสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ ซึ่งกำหนดอายุความไว้ ๑๐ ปี
คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางยกอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาปรับแก่คดี
และวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์
ของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ในข้อ ๔.๑.๔ ว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้กระทำการใดอันเป็นการทุจริต
จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าเสียหาย ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒ แห่ง ในประเทศอังกฤษนั้นไม่ถูกต้อง
และขัดแย้งต่อข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติว่าการกระทำของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นการปฏิบัติงานในฐานะผู้บริหารของโจทก์ ไม่เกี่ยวข้องและไม่ได้รับประโยชน์เป็นการส่วนตัว ประเด็นสำคัญที่ศาลแรงงานกลางจำเป็นต้องใช้ในการวินิจฉัยคดีนี้คือเอกสารตามคำฟ้องที่ประเทศอังกฤษตามเอกสารหมาย จ.๑๔
เพื่อพิจารณาว่าข้อกล่าวอ้างตามคำฟ้องรวมถึงประเด็นข้อพิพาทในคดีเอกสารหมาย จ.๑๔ เกี่ยวข้อง
กับการดำเนินกิจการบริษัทโจทก์หรือการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ในฐานะผู้บริหาร
บริษัทโจทก์หรือไม่ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสำคัญในคดี แต่ศาลแรงงานกลางกลับมิได้วินิจฉัย
หรือระบุถึงเอกสารหมาย จ.๑๔ ไว้ ศาลแรงงานกลางจึงยังมิได้ไต่สวนข้อเท็จจริงให้เพียงพอว่า คำฟ้องคดีที่ประเทศอังกฤษ เอกสารหมาย จ.๑๔ นี้มีการบรรยายฟ้องว่าอย่างไร หรือมีประเด็นที่พิพาทอย่างไรเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการบริษัทโจทก์หรือการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ในฐานะผู้บริหารบริษัทโจทก์หรือไม่ โดยมีคำแปลภาษาไทยที่ถูกต้องอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในประเด็นนี้จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่คลาดเคลื่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการรับฟังพยานหลักฐาน
ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายลักษณะพยาน นั้น การที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาในการพิจารณาพยานหลักฐานดังกล่าว เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง
ทั้งยังเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากที่ศาลแรงงานกลางฟังมาเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย
จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้รับผิดในมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน และเรียกร้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัย ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ และผู้รับประกันภัย แตกต่างกัน เมื่อในสัญญาจ้างแรงงานไม่มีข้อกำหนดว่าในกรณีที่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย
ต้องไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาจ้างแรงงาน
เอาแก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ผู้เป็นลูกจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับตามสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานเอาแก่
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ผู้เป็นลูกจ้างได้ โดยไม่จำต้องไปเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยก่อน
เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ แม้โจทก์จะมีกรมธรรม์ความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลแรงงานกลาง
มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับความเสียหายของโจทก์มาจึงไม่ได้คลาดเคลื่อนและขัดต่อกฎหมายตามที่อุทธรณ์
แต่อย่างใด คำวินิจฉัยในข้อนี้ของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในข้อ ๔.๑.๖ มีว่า
คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓
มีมติอนุมัติงบการเงินเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายเท่านั้น ที่ประชุมใหญ่ของบริษัทโจทก์เพียง
แต่อนุมัติบัญชีงบการเงิน การอนุมัติดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยที่ ๒ กรรมการบริษัทผู้จ่ายเงินไปโดยมิชอบพ้นจากความรับผิดในการจ่ายเงินนั้นต่อบริษัทโจทก์ได้ เพราะเป็นกรณีที่ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
แต่งบการเงิน แต่มิได้อนุมัติในกิจการที่ทำไปโดยตรง จึงไม่เป็นการซึ่งกรรมการได้ทำไปได้รับอนุมัติ
ของที่ประชุมใหญ่แล้วจะมีผลให้กรรมการคนนั้นไม่ต้องรับผิดในการนั้นต่อผู้ถือหุ้นซึ่งได้ให้อนุมัติ
หรือต่อบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๗๐ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อการ
ซึ่งกรรมการคนใดได้ทำไปได้รับอนุมัติของที่ประชุมใหญ่แล้ว ท่านว่ากรรมการคนนั้นไม่ต้องรับผิด
ในการนั้นต่อผู้ถือหุ้นซึ่งได้ให้อนุมัติหรือต่อบริษัทอีกต่อไป ส่วนที่จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์เพิ่มเติมในข้อนี้ว่า พยานโจทก์ปากนางสาวมณีรัตน์พยายามเบิกความว่าในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๒ จำเลยทั้งห้าไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการที่เข้าร่วมว่าได้ร่วมกันทำหนังสือข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหาย เอกสารหมาย จ.๑๑
จึงทำให้คณะกรรมการไม่ได้มีเจตนาพิจารณาอนุมัติการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวนั้น คำเบิกความ
ของนางสาวมณีรัตน์ไม่สามารถรับฟังได้และขัดต่อกฎหมายเนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่ขัดต่อ
มาตรา ๙๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพราะเบิกความขัดแย้งกับข้อความในเอกสาร นั้น ศาลแรงงานกลางไม่ได้หยิบยกคำเบิกความพยานปากนางมณีรัตน์ขึ้นวินิจฉัยในการพิจารณาพยานเอกสารหมาย จ.๑๑ ในคำพิพากษา จึงไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ ๒ มานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ข้อสุดท้ายในอุทธรณ์ข้อ ๔.๒ มีว่า
คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาท
ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน และ/หรือกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
ซึ่งศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๒
ถึงที่ ๕ ที่มาแห่งการค้างชำระเงินค่าหุ้น การโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นบางส่วนต่อไปยังจำเลยที่ ๓ บริษัท
ของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ บริษัทของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๕ และภริยา
ของจำเลยที่ ๕ การขอสินเชื่อจากธนาคาร ท. เพื่อนำไปใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นที่มา
ที่นายนพพร และบริษัทผู้ขายหุ้นได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้า ภริยาของจำเลยที่ ๕ และบริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ดังกล่าว กับบุคคลอื่นรวม ๑๗ คน เป็นจำเลยต่อศาลสูงแห่งประเทศอังกฤษและเวลส์
การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นค่าใช้จ่าย
ในการต่อสู้คดีดังกล่าวให้แก่สำนักงานกฎหมายทั้งสองแห่งแทนจำเลยที่ ๓ บริษัทของจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๔ บริษัทของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ และที่มาแห่งการฟ้องคดีนี้ที่ผู้ถือหุ้นมีหนังสือขอให้โจทก์ตรวจสอบและระงับการจ่ายเงินให้แก่สำนักงานกฎหมายทั้งสองแห่ง อันเป็นข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยคดีตามประเด็นข้อพิพาทครบถ้วน แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ เข้ามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและถูกฟ้องเป็นคดี เนื่องจากได้รับโอนหุ้นเป็นการส่วนตัวจากนายเกษม เพื่อตอบแทนการบริหารงาน
ในบริษัทโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่ใช่บริษัทในเครือของโจทก์
อีกทั้งภริยาของจำเลยที่ ๕ ก็มิใช่ลูกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่าย
ในการดำเนินคดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒ แห่ง ในประเทศอังกฤษแทนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ บริษัท
ของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือให้โจทก์ตกลงชดใช้ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒ แห่ง แทนจำเลยที่ ๓ บริษัท
ของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ บริษัทของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๕ และภริยา
ของจำเลยที่ ๕ จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นทั้งลูกจ้างและเป็นกรรมการ
ผู้มีอำนาจของโจทก์ในขณะนั้น จึงเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีครบทุกประเด็นข้อพิพาทแล้ว แม้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจะรวบรัดไปบ้างแต่ก็เป็นคำพิพากษาที่แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี พร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๕ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในข้อ ๒.๑ มีว่า
คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๘ หรือไม่ เห็นว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางระบุเหตุแห่งคำวินิจฉัยว่า
การที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ เข้ามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและถูกฟ้องเป็นคดี เนื่องจากได้รับโอนหุ้นเป็นการส่วนตัวจากนายเกษม เพื่อตอบแทนการบริหารงาน
ในบริษัทโจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่ใช่บริษัทในเครือของโจทก์
อีกทั้งภริยาของจำเลยที่ ๕ ก็มิใช่ลูกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่าย
ในการดำเนินคดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒ แห่ง ในประเทศอังกฤษแทนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ บริษัท
ของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ปรึกษากัน
และยื่นข้อเสนอให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือให้โจทก์ตกลงชดใช้ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒ แห่ง แทนจำเลยที่ ๓ บริษัทของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ บริษัทของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
เหตุแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นการคำนึงถึงสภาพการทำงาน ระดับของค่าจ้าง ฐานะแห่งกิจการ
ของนายจ้าง ฯลฯ ประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดให้เป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่าย
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๘ แล้ว
คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงระบุเหตุที่วินิจฉัยตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ส่วนการรับฟังพยานหลักฐานศาลแรงงานกลางก็ได้ให้เหตุผลแห่งการวินิจฉัยไว้แล้วว่ารับฟังพยานหลักฐาน
เพราะเหตุใด ทั้งในการกำหนดค่าเสียหายในการผิดสัญญาจ้างแรงงานและการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ศาลได้กำหนดค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินตามที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ได้อนุมัติ
เบิกจ่ายเงินไป ทั้งยังได้หักเงินที่จำเลยที่ ๓ ได้ชดใช้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ณ วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔ ตามกำหนดชำระเงินงวดแรกในสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วด้วย คำพิพากษาดังกล่าวย่อมชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๘ แล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในข้อ ๒.๒ มีว่า
การดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า
การสืบพยานในคดีแรงงานนั้น ศาลแรงงานเป็นผู้มีอำนาจซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความ
จะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเท่านั้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕ วรรคสอง เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว
ไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทั้งหมดซักถามพยานปากนายวิชาญ เนื่องจากเห็นว่าพยานมิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องโดยตรง การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับการสืบพยานปากนายวิชาญจึงชอบ
ด้วยกฎหมายแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในข้อ ๒.๓ มีว่า
คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการพิพากษานอกฟ้องหรือไม่ เห็นว่า
ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน และ/หรือกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ค่าเสียหายมีหรือไม่ เพียงใด ดังนั้น
การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ปรึกษากันและยื่นข้อเสนอให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือให้โจทก์ตกลงชดใช้ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒
แห่ง แทนจำเลยที่ ๓ บริษัทของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ บริษัทของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ บริษัท
ของจำเลยที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์
อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จึงเป็นการวินิจฉัย
ถึงรายละเอียดขั้นตอนในการกระทำละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานในการเอาเงินของโจทก์ไปชำระค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายให้แก่สำนักงานกฎหมายในประเทศอังกฤษตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว
กรณีจึงเป็นการที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนเพื่อฟังข้อเท็จจริงประกอบว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ผิดสัญญาจ้างแรงงาน และ/หรือกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ค่าเสียหายมีหรือไม่ เพียงใด ตรงตามฟ้องและตรงตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลแรงงานกลางกำหนดแล้วตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์ในข้อ ๒.๔ ว่า การที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ปรึกษากันและยื่นข้อเสนอให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือให้โจทก์ตกลงชดใช้ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒ แห่ง มิได้เป็นกรณีที่ลูกจ้างใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย เพราะระหว่างที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง เมื่อต้องรับภาระหนักขึ้นหรือลูกจ้างเห็นว่าค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้
ในสัญญาจ้างแรงงานไม่เหมาะสมย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นข้อเสนอขอเจรจากับนายจ้างเพื่อให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนในการทำงาน และนายจ้างก็ยังมีสิทธิตามกฎหมายในการพิจารณาว่าจะยอมให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนการทำงานตามที่ลูกจ้างยื่นข้อเสนอหรือไม่เพียงใด จึงเป็นการดำเนินการตามสิทธิที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ มีอยู่ตามกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อในชั้นไต่สวนของศาลแรงงานกลางไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ มีการกระทำอื่น
ที่มีลักษณะข่มขู่หรือหลอกลวงให้บริษัทโจทก์ต้องจำยอมตกลงหรือยอมรับตามข้อเสนอของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ การกระทำของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นที่ยุติข้างต้น จึงไม่ใช่การที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเอง
หรือผู้อื่นอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้แต่อย่างใด นั้น ศาลแรงงานกลางชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลโดยรับฟังว่า การที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ เข้ามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและถูกฟ้องเป็นคดี เนื่องจากได้รับโอนหุ้นเป็นการส่วนตัวจากนายเกษม บริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่ใช่บริษัทในเครือของโจทก์ อีกทั้งภริยาของจำเลยที่ ๕ ก็มิใช่ลูกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่าย
ในการดำเนินคดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒ แห่ง ในประเทศอังกฤษแทนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕
บริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ปรึกษากัน
และยื่นข้อเสนอให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือให้โจทก์ตกลงชดใช้ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีให้แก่สำนักงานกฎหมาย ๒ แห่ง แทนจำเลยที่ ๓ บริษัทของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ บริษัทของจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๕ และภริยาของจำเลยที่ ๕ จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จึงเป็นการที่ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์พยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำเสนอโดยครบถ้วนแล้วรับฟังว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเอง
หรือผู้อื่น อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์
จึงเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์โดยอ้างข้อเท็จจริงและเหตุต่าง ๆ ดังกล่าว ก็เพื่อให้ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษรับฟังข้อเท็จจริงเสียใหม่ว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ดังที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา อันเป็นอุทธรณ์
ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         ที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์ในข้อ ๒.๕ ว่า ที่ศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงอันเป็นที่ยุติ
มาวินิจฉัยปรับกับข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้
โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ทุจริตต่อหน้าที่ และละเมิด
ต่อโจทก์นั้น ถือเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมาย เป็นการปรับกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริง
อันเป็นที่ยุติไม่ถูกต้อง และเป็นการตีความแปลความกฎหมายที่ไม่ชอบ เพราะศาลแรงงานกลาง
นำหลักกฎหมายปรับกับข้อเท็จจริงเฉพาะส่วนที่ว่าบริษัทของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ถือหุ้นในโจทก์ไม่ใช่บริษัทในเครือของโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยุติแล้วปรากฏชัดแจ้งหลายส่วนเจือสมต่อเนื่องกัน
ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นผู้บริหารที่มีความสำคัญต่อการทำงานตามโครงการที่ขอกู้ยืมเงิน
จากธนาคาร ทำให้มีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับธนาคารว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ต้องทำงานเป็นลูกจ้างบริหารให้แก่โจทก์ในขณะที่โจทก์ยังคงมีภาระตามสัญญากู้กับธนาคารโดยตลอด มิเช่นนั้นโจทก์จะตกเป็นผู้ผิดสัญญากู้กับธนาคารได้อยู่ด้วย การได้รับหุ้นของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มิใช่เป็นเรื่องการรับโอนหุ้นระหว่างนายเกษมกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ โดยลำพังดังเช่นการซื้อขายหุ้นปกติทั่วไป แต่เป็นการได้หุ้นโดยมีที่มาจากการที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีหน้าที่ทำงานให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเป็นอย่างดี สะท้อน
ให้เห็นถึงการทำหน้าที่สำคัญของลูกจ้างเพื่อให้กิจการโจทก์สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ และมีที่มา
เพื่อตอบแทนการบริหารงานให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ทำงานตามหน้าที่จึงได้รับหุ้นตอบแทนมา และเมื่อมีข้อพิพาทต่อเนื่องกัน โจทก์จึงตอบแทนโดยการเข้ารับผิดชอบชำระค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความต่อสู้คดีที่ประเทศอังกฤษ บริษัทโจทก์ได้รับประโยชน์จากการทำหน้าที่ของจำเลยที่ ๓
และที่ ๔ ในฐานะลูกจ้างซึ่งใช้ความพยายามในการบริหารธุรกิจให้แก่โจทก์ และการยังคงอยู่เป็นลูกจ้างจทก์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ โจทก์ได้รับประโยชน์จากแรงงานการเป็นผู้บริหารของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงมีสภาพเป็นข้อตกลงประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกันระหว่างบริษัทโจทก์กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔
อันเป็นสิทธิที่พึงมีได้ทางเอกชนตามหลักทั่วไปของกฎหมาย ชอบด้วยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และกฎหมายแรงงานแล้ว จึงไม่อาจปรับข้อกฎหมายว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้
โดยชอบ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ลักลอบแอบกระทำการเพื่อให้มีการโอนเงิน
ชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันจะส่งผลให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นผู้ที่ทุจริตต่อหน้าที่ได้ ย่อมไม่อาจนำไปปรับตีความข้อกฎหมายว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือละเมิดได้ นั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจ
ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ทั้งยังเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมซึ่งผิดไปจากที่ศาลแรงงานกลางฟังมาเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         ที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์ในข้อ ๒.๖ ว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องที่ประเทศอังกฤษตามเอกสารหมาย จ.๑๔ มีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นว่าเหตุที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ถูกฟ้องดังกล่าวเกิดจากการทำหน้าที่กรรมการหรือผู้บริหารเพื่อให้โจทก์ในคดีนี้สามารถจัดหาและเบิกจ่ายเงินกู้ยืม
จากธนาคาร ท. เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในกิจการของโจทก์ทั้งสิ้น ดังนั้น แม้ในคดีที่ประเทศอังกฤษ
บริษัทโจทก์จะไม่ได้เป็นคู่ความก็ตาม แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของโจทก์ที่จะต้องรับผิดชำระ
ค่าดำเนินการทางกฎหมายทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้แก่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ บริษัทของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕
และภริยาของจำเลยที่ ๕ การที่ต่อมาบริษัทโจทก์ชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ได้เกิดจากการที่
จำเลยทั้งหมดในคดีนี้ทุจริตหรือทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน คำฟ้องที่ประเทศอังกฤษตามเอกสารหมาย
จ.๑๔ จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยทั้งหมดไม่ได้ทุจริตหรือทำผิดสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางไม่หยิบยกเอาข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณา แต่กลับมี
คำวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ทุจริตและทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงขัดกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในชั้นพิจารณา นั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔
เป็นการกล่าวอ้างว่าศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนและวินิจฉัยขัดต่อพยานหลักฐาน
ในสำนวน เพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย
ถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่รับวินิจฉัย

         ที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์ในข้อ ๒.๘ ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในจำนวนเงินเท่ากับค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายที่โจทก์ชำระให้แก่สำนักงานกฎหมายในประเทศอังกฤษ ๒ แห่ง ไม่ถูกต้อง เป็นคำพิพากษาที่ขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนคดี ในการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว จึงจำเป็นต้องพิจารณาจากเนื้อหาที่ปรากฏในคำฟ้อง เอกสารหมาย จ.๑๔ แต่ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง
โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ กลับอ้างส่งสำเนาคำฟ้อง เอกสารหมาย จ.๑๔ ฉบับภาษาอังกฤษ
โดยไม่ได้จัดทำคำแปลภาษาไทยที่สามารถอ่านเข้าใจต่อศาลแรงงานกลาง เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์
ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ และศาลแรงงานกลางไม่อาจรับฟังพยานเอกสารหมาย จ.๑๔
ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ คณะกรรมการของโจทก์และที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นของโจทก์ได้อนุมัติงบการเงินเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางด้านกฎหมายและอนุมัติให้มีการเบิกจ่ายเงินแก่สำนักงานกฎหมายในประเทศอังกฤษ ๒ แห่ง แล้วตามเอกสารหมาย ล.๑ และ ล.๑๑ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ซึ่งหากศาลแรงงานกลางนำเอาข้อเท็จจริงที่รับฟัง
เป็นที่ยุติดังกล่าวมาใช้ประกอบการวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ย่อมจะต้องมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์อย่างแน่นอน แต่ศาลแรงงานกลางกลับไม่หยิบยกเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวมาวินิจฉัยและมีคำพิพากษาที่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งหมด ไม่นำเอาพยานหลักฐานที่รับฟังเป็นที่ยุติ
มาใช้ประกอบการพิจารณาพิพากษา จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น ตามที่ได้วินิจฉัย
ในอุทธรณ์ข้อแรกว่าที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับคำแปล เอกสารหมาย จ.๑๔ มานั้น
ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การอ้างพยานเอกสารหมาย จ.๑๔ ดังกล่าวของโจทก์พร้อมคำแปลจึงไม่ขัด
ต่อกฎหมาย และศาลแรงงานกลางย่อมรับฟังเอกสารนั้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐาน
ที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๐๔ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ที่บัญญัติ
ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็น
และเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ย่อมถือได้ว่าคำแปลดังกล่าวถูกต้อง และศาลชอบที่จะรับฟังพยานเอกสารหมาย จ.๑๔ และคำแปลดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาในการพิจารณาพยานหลักฐานในอุทธรณ์ข้อนี้ตามเอกสารหมาย จ.๑๔ ล.๑
และ ล.๑๑ ดังกล่าว เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง
จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๕ ในข้อ ๒.๒ มีว่า
คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔
และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ และขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนคดีหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้สรุปข้อเท็จจริงตามหนังสือข้อตกลง
ชดใช้ค่าเสียหาย รายงานการประชุมคณะกรรมการ และรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ประกอบในการทำคำวินิจฉัยในประเด็นพิพาทแห่งคดีในคำพิพากษาแล้ว จึงเป็นการกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้
โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง แล้ว ส่วนที่จำเลยที่ ๕ อุทธรณ์เกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีในการทำคำพิพากษานั้น การที่คู่ความรับข้อเท็จจริงและศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๕ ในคดีนี้ต่างเป็นคู่ความในคดีของศาลแรงงานกลาง คดีดังกล่าวจำเลยที่ ๕ ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ ๑ ว่า โจทก์มีคำสั่ง
เลิกจ้างจำเลยที่ ๕ โดยไม่ได้กระทำความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ให้การว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๕ เพราะจำเลยที่ ๕ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ในคดีนี้ทุจริต
ต่อโจทก์ โดยร่วมกันเอาเงินของโจทก์ชำระเป็นค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายหรือค่าทนายความให้แก่สำนักงานกฎหมาย ส. และสำนักงานกฎหมาย ม. เป็นเงิน ๓๐๘,๐๔๙,๙๖๑.๐๕ บาท ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งคดีและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ในการดำเนินการทางกฎหมายหรือค่าทนายความในคดีดังกล่าวให้แก่ผู้ใด และไม่จำต้องชำระหนี้
แทนคู่ความในคดีดังกล่าวเนื่องจากเป็นเรื่องผิดสัญญาและเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้ถูกฟ้องที่ได้รับประโยชน์และเป็นผู้ผิดสัญญาจึงถูกฟ้องคดีและเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายทางคดี
และค่าทนายความเอง ไม่อาจให้โจทก์ชำระเงินแทนได้ การที่จำเลยที่ ๕ เป็นลูกจ้างโจทก์ได้ร่วมอนุมัติจ่ายเงินให้แก่สำนักงานกฎหมาย ส. หลายครั้ง และร่วมลงลายมือชื่ออนุมัติแจ้งธนาคารโอนเงินหรือชำระเงินให้แก่สำนักงานกฎหมาย ส. และให้แก่สำนักงานกฎหมาย ม. เป็นเงินทั้งสิ้น ๓๐๘,๐๔๙,๙๖๑.๐๕ บาท ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๕ ถือเป็นการกระทำความผิดต่อนายจ้าง
จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำทุจริตต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นความผิดตามมาตรา ๑๑๙ (๑) (๒) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ โจทก์จึงเลิกจ้างจำเลยที่ ๕ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา ๑๗ วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นการกระทำอัน
ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคท้าย ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหาย
จากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่จำเลยที่ ๕ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
แก่จำเลยที่ ๕ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ ๕ เป็นคู่ความในคดีก่อนและคดีนี้ ซึ่งประเด็นวินิจฉัยในทั้งสองคดี
เป็นประเด็นเดียวกันในการกระทำเดียวกันในความเสียหายเดียวกัน แม้คดีก่อนจะยังไม่ถึงที่สุด
แต่คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ ๕ ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ซึ่งมีลักษณะเป็นบทบัญญัติที่เด็ดขาด คู่ความ
จะกล่าวอ้างหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นและศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่แตกต่าง
ไปจากเดิมหาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ ๕ จะกล่าวอ้างหรือให้การโต้แย้งเป็นอย่างอื่นไม่ได้เช่นนี้ ข้อเท็จจริง
ในคดีนี้จึงต้องฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ ๕ กระทำความผิดต่อโจทก์นายจ้าง จงใจทำให้โจทก์นายจ้างได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำทุจริตต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
และเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยส่วนนี้มาในคดีนี้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๕ ลูกจ้างใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่ ๕ ลูกจ้างโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๕ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ ๕ ซึ่งล้วนอุทธรณ์ไปในทำนองว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวนคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๕ ไม่ได้ทุจริตต่อโจทก์และโจทก์ไม่ได้รับ
ความเสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         อนึ่ง เนื่องจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยมาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๒๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา ๗ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๒๔ ที่แก้ไขใหม่ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พ.ศ. ๒๕๖๔ มีผลใช้บังคับในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นผลให้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๗ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยตามมาตรา ๗ อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ศาลแรงงานกลาง
จึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยของค่าเสียหายให้ถูกต้อง การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๒
ถึงที่ ๕ ร่วมกันชำระดอกเบี้ยคงที่อัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหายตามที่ระบุในตารางอนุมัติการจ่ายเงินตามเอกสารหมาย จ.๒๑ และ จ.๒๒ (แนบท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง) นับแต่วันที่จ่ายเงินหรือโอนเงินในแต่ละงวดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากนับแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยคงที่อัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ปัญหาเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามพระราชกำหนดดังกล่าวนั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
ของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗

         พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยของต้นเงินตามที่ระบุในตารางอนุมัติการจ่ายเงิน
ตามเอกสารหมาย จ.๒๑ และ จ.๒๒ (แนบท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง) นับแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔
ให้ปรับเปลี่ยนไปตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗
บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ตามที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

(ภูมิวุฒิ พุทธสุอัตตา – สิทธิชัย ลีลาโสภิต – นาวี สกุลวงศ์ธนา)

อิศเรศ ปราโมช ณ อยุธยา - ย่อ

ประสิทธิ์ ดวงตะวงษ์ - ตรวจ