คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1653/2567  นาย ก.                                   โจทก์

                                                                     การเคหะแห่งชาติ กับพวก            จำเลย

 

ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

         ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบเรื่องการปรับโครงสร้างใหม่
และการยุบฝ่ายที่โจทก์เป็นผู้อำนวยการ ไม่เคยเรียกโจทก์เข้าไปร่วมแสดงข้อคิดเห็น ทั้งที่กระทบสิทธิของโจทก์โดยตรงนั้น ไม่ปรากฏรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอจะบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสอง
มีการกระทำที่ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมโดยมิชอบอย่างไร อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์
ที่มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ ส่วนที่อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๒
ออกคำสั่งด้วยวาจาห้ามไม่ให้เวียนหรือส่งต่อเอกสาร จึงไม่เป็นการสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้
มีความพยายามปกปิดข้อมูล และให้ทราบเฉพาะผู้บริหารบางคน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเลื่อนขึ้น
ดำรงตำแหน่งนั้น โจทก์เพิ่งจะยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         สำหรับอุทธรณ์ที่อ้างว่า การประเมินผลกระทบการปรับโครงสร้างของจำเลยที่ ๑ ต้องอาศัย
ระยะเวลาช่วงปีงบประมาณจึงจะเห็นผลเป็นที่ปรากฏได้ ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายอุทธรณ์ พบว่า
ผลการดำเนินงานของจำเลยที่ ๑ แย่ลงและอยู่ระหว่างทบทวนโครงสร้างองค์กรใหม่อีก แสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบในแง่ลบจากการปรับโครงสร้างแล้ว หรือที่อ้างว่า เรื่องที่โจทก์ถูกสอบสวนทางวินัย
ยังไม่ถึงที่สุด และโจทก์เห็นว่าไม่ถึงขนาดเป็นโทษทางวินัยร้ายแรง ไม่ใช่เรื่องทุจริต ต่อมาจำเลยที่ ๒ ยังออกระเบียบว่าผู้ที่อยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือผู้ที่ได้รับโทษทางวินัย ให้มีสิทธิได้รับการพิจารณาเสนอชื่อดำรงตำแหน่งหรือเลื่อนตำแหน่งได้ตามปกติ แต่จำเลยที่ ๒ กลับแต่งตั้ง
ผู้อื่นไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายที่ว่างอยู่ถึง ๑๐ อัตรา โดยไม่พิจารณาแต่งตั้งโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยความสมเหตุผลตามปกติวิสัย หรือที่อ้างว่า หน่วยงานระดับกองที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์
มีแต่โครงสร้างและอัตราว่าง ไม่มีบุคลากรแม้แต่คนเดียว เมื่อกองทั้ง ๓ กอง ดังกล่าวถูกยุบภายใต้
การปรับโครงสร้าง จึงไม่มีผู้ใดได้รับผลกระทบนอกจากโจทก์ ซึ่งโดยปกติจะต้องจัดการแก้ไขให้โจทก์
ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเดิมได้รับการแต่งตั้ง ก่อนที่จะนำผู้อำนวยการฝ่ายระดับ ๙ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน อันเป็นการไม่รักษาสิทธิและเกียรติแห่งตำแหน่งในสายงานบริหารบังคับบัญชา
ของโจทก์แต่เดิม หรือที่อ้างว่า โจทก์ถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายเช่นเดียวกับพนักงานคนอื่นซึ่งได้ใช้สิทธิ
ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง หรือที่อ้างว่า ที่จำเลยที่ ๒ มอบหมายหน้าที่แก่โจทก์ ก็เพียงให้ศาลเห็นว่ามีการมอบหมายหน้าที่ให้สมเหตุสมผล แต่ความเป็นจริงเป็นการมอบหมายหน้าที่แบบเสียมิได้
การย้ายตำแหน่งโจทก์นั้นเป็นการย้ายแล้วทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นพนักงานผู้บริหารรัฐวิสาหกิจลดลง ลดทอนคุณค่าในตัวโจทก์เมื่อเทียบกับประวัติการทำงานของโจทก์ที่ผ่านมา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง
สภาพการจ้างโดยไม่เป็นธรรม นั้น ล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์
ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

______________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งการเคหะแห่งชาติ ที่ ข.๐๐๕/๒๕๖๕ เรื่อง แต่งตั้งพนักงาน
ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ และให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายที่มีอำนาจหน้าที่ในลักษณะงานการบริหารหน่วยงานระดับฝ่ายตามที่เคยได้รับหรือไม่ลดทอนกว่าเดิม

         จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
และข้อเท็จจริงที่ยุติในสำนวนได้ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานของรัฐ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๗
มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าการ โจทก์เป็นพนักงานจำเลยที่ ๑ เดิมดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายฟื้นฟู
และพัฒนาเมือง ๒ (นักบริหารระดับ ๑๐) สังกัดฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ๒ ต่อมาวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ จำเลยทั้งสองมีคำสั่งการเคหะแห่งชาติ ที่ ข.๐๐๕/๒๕๖๕ เรื่อง แต่งตั้งพนักงาน ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ ให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประจำสำนักผู้ว่าการ (นักบริหารระดับ ๑๐) แล้ววินิจฉัยว่า มูลเหตุที่ต้องปรับโครงสร้างองค์กรจำเลยที่ ๑ ในปี ๒๕๖๔ เพื่อแก้ปัญหาการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ
และเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ตามนโยบายภาครัฐ โดยศึกษาเปรียบเทียบกับโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจอื่น เริ่มตั้งแต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจัดทำข้อมูลและร่างโครงสร้างองค์กรใหม่เสนอขอความเห็นชอบ
จากคณะกรรมการบริหารด้านทรัพยากรบุคคล จากนั้นจึงเสนอให้คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง แล้วออกเป็นข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๕ ว่าด้วย
การจัดแบ่งส่วนงานและการบริหารงานในระดับสายงานและระดับฝ่าย พ.ศ. ๒๕๖๔ ฟังได้ว่า
การปรับโครงสร้างองค์กรดังกล่าวดำเนินการไปตามลำดับขั้นตอน มีการศึกษาข้อมูลผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลด้านนโยบายรัฐวิสาหกิจกำหนดให้หน่วยงานที่ได้รับคะแนน
การประเมินผลการดำเนินงานในระดับดีมาก มีอิสระในการกำหนดตำแหน่งและอัตรากำลัง
ของผู้บริหารระดับสูง ๓ ระดับ เมื่อจำเลยที่ ๑ มีคะแนนการดำเนินการถึง ๔.๑๕๔๘ ในระดับดีมาก
จึงมีอิสระในการปรับปรุง จัดองค์กร แบ่งส่วนงานและกำหนดหน้าที่ตำแหน่งต่าง ๆ ได้โดยชอบ รูปแบบ
การปรับโครงสร้างหน่วยงานภายในองค์กร มีทั้งเพิ่ม ควบรวม ลดจำนวนหน่วยงานระดับฝ่าย
กองและสำนักงานในแต่ละสายงาน รวมถึงการเพิ่มตำแหน่งประจำสำนักผู้ว่าการ โดยมิได้
มุ่งเจาะจงว่าจะปรับโครงสร้างเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ที่โจทก์โต้แย้งว่า การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ไม่มีการสื่อสารหรือชี้แจงให้หน่วยงานหรือผู้เกี่ยวข้องทราบและมีส่วนร่วม ตามรายชื่อผู้บริหารระดับ ๘ ถึง ๑๒ ที่ยืนยันว่าไม่ได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างก่อนการอนุมัติ
ใช้โครงสร้างใหม่ ปี ๒๕๖๕ จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงาน
การเคหะแห่งชาตินั้น แม้จะมีข้อควรต้องคำนึงอยู่บ้างว่าเหตุใดผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ ๑
ไม่ทราบถึงการปรับโครงสร้างองค์กร แต่ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอจะบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมีการกระทำที่ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมดังกล่าวโดยมิชอบอย่างไร ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๒ ปรับโครงสร้างองค์กรโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อจำเลยที่ ๑ ในส่วนต้นทุนต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์
มีค่าใช้จ่ายบุคคลากรเพิ่มตามจำนวนฝ่ายและกองที่เพิ่มขึ้น ไม่สอดคล้องกับฐานะทางการเงิน ไม่คำนึงถึงการใช้ศักยภาพบุคลากรให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้น ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารด้านทรัพยากรบุคคลและคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติมีการนำเสนอข้อมูลความจำเป็นในด้านต่าง ๆ รวมถึงได้แสดงรายละเอียดจำนวนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณา
ของคณะกรรมการก่อนจะมีมติอนุมัติ เท่ากับว่าผู้เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย
ในส่วนนี้แล้ว แม้จะมีการควบรวมฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ๒ ซึ่งโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่าย
เข้ากับฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ๑ เป็นฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง เป็นเหตุให้คงเหลือตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเพียงอัตราเดียว ซึ่งโจทก์มิได้ถูกคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง แต่เกณฑ์การคัดเลือกพิจารณาจากความจำเป็นเรื่องภารกิจที่ต้องดำเนินการให้ต่อเนื่องในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ชุมชน
ดินแดงที่ดำเนินการไปแล้ว เปรียบเทียบกับหน่วยงานของโจทก์ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาแบ่งพื้นที่
ร่วมกับหลักพิจารณาในเรื่องอื่น โดยหยิบยกเรื่องที่โจทก์อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัย
ขึ้นพิจารณาร่วมด้วย จึงแต่งตั้งให้ผู้อำนวยการฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ๑ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
ตามผังการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ยังมีการควบรวมหน่วยงานอื่นและลดกองภายในฝ่ายที่มี
การควบรวม โดยฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ๒ ที่เดิมอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของโจทก์ปรากฏว่า
มีการยุบหน่วยงานระดับกองลง ๓ กอง ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งของพนักงานอื่น
ในหน่วยงานที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา หาได้มีผลกระทบแต่เพียงโจทก์ไม่ เมื่อการปรับโครงสร้างองค์กรเป็นไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อจำเลยที่ ๑ ภายใต้ขอบอำนาจที่กฎหมาย
หรือระเบียบข้อบังคับกำหนดผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากผู้เกี่ยวข้องตามลำดับ มิใช่เป็นการกระทำ
ของจำเลยที่ ๒ แต่เพียงผู้เดียว จึงไม่อาจเชื่อมโยงได้ว่า การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้เป็นไปโดยมิชอบ หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรม การที่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างองค์กรที่ถูกปรับเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ผู้ว่าการ
ที่มีอำนาจบรรจุ แต่งตั้ง ย้าย สับเปลี่ยนตำแหน่งพนักงานตามข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๖
แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๔ ข้อ ๑๒ ร่วมกับข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๕ พ.ศ. ๒๕๖๔ ข้อ ๒๓
และระเบียบการเคหะแห่งชาติ ว่าด้วย มาตรฐานกำหนดตำแหน่งของการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๑๕ เพื่อแต่งตั้งโยกย้ายสับเปลี่ยนตามขั้นตอน โดยจำเลยที่ ๒ เสนอความเห็นและพิจารณาร่วมกับคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติมอบหมาย
ให้รับผิดชอบด้านพัฒนาระบบองค์กรและการบริหารงานบุคคล คือ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนเพื่อพิจารณามีมติให้ความเห็นชอบ แล้วเสนอให้คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติพิจารณา
มีมติให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ก่อนออกเป็นคำสั่งการเคหะแห่งชาติ ที่ ข.๐๐๕/๒๕๖๕ เรื่อง แต่งตั้งพนักงาน ซึ่งเป็นการโอนย้ายและแต่งตั้งพนักงานลงในตำแหน่งตามโครงสร้างองค์กรใหม่ โจทก์ได้รับการแต่งตั้ง
ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประจำสำนักผู้ว่าการ ยังคงมีสถานะเป็นนักบริหารระดับ ๑๐ เช่นเดิม การปรับโครงสร้างองค์กรใหม่มีหลักการสำคัญประการหนึ่งที่ให้มีตำแหน่งประจำสำนักผู้ว่าการเพิ่มเติมขึ้น เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ประสานงานและปฏิบัติภารกิจตามที่รับมอบหมายในด้านต่าง ๆ
โดยศึกษาเปรียบเทียบกับโครงสร้างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นที่มีตำแหน่งระดับรองผู้ว่าการ
ผู้ช่วยผู้ว่าการ และผู้อำนวยการขึ้นตรงต่อผู้ว่าการเช่นเดียวกัน แม้สถานะความเป็นหน่วยงาน
ของสำนักผู้ว่าการยังไม่ปรากฏชัดตามข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๕ หรือระเบียบ
การเคหะแห่งชาติ ว่าด้วย การจัดแบ่งส่วนงานและการบริหารงานภายในหน่วยงานระดับฝ่าย พ.ศ. ๒๕๖๕ เนื่องจากมิได้มีหมายเลขหน่วยงานกำกับ แต่เมื่อตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประจำสำนักผู้ว่าการ
มีการรับรองไว้ตามข้อบังคับการเคหะแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๕ ข้อ ๒๐ ร่วมกับตำแหน่งอื่นประจำสำนักผู้ว่าการ และมีการกำหนดพยัญชนะตัวย่อสำหรับตำแหน่งไว้ด้วย จึงต้องฟังว่า เป็นตำแหน่งที่มีการกำหนดรับรองไว้ให้ปรากฏโดยชอบตามข้อบังคับฉบับดังกล่าว ส่วนสำนักผู้ว่าการจะมีหมายเลขหน่วยงานกำกับหรือไม่นั้น อาจเป็นเรื่องการจัดระเบียบหน่วยงานภายในของจำเลยที่ ๑ การที่จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งมอบหมายหน้าที่แก่โจทก์ตามคำสั่งที่ ง.๐๓๕/๒๕๖๕ เอกสารหมาย ล.๑๘ ถึงแม้จะมีความแตกต่าง
จากตำแหน่งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจบริหารหรือการบังคับบัญชา แต่ก็อาจเป็นเพราะหน้าที่
ความรับผิดชอบในแต่ละตำแหน่งไม่เหมือนกัน จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นตำแหน่งลอย ในข้อที่ว่ามีตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายที่ว่างอยู่ภายหลังการปรับโครงสร้างองค์กร แต่กลับพิจารณาให้ผู้อำนวยการฝ่ายที่เป็นนักบริหารระดับ ๑๐ ควบตำแหน่ง หรือแต่งตั้งให้ผู้บริหารระดับ ๙ ขึ้นมารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายระดับ ๑๐ นั้น ยังไม่ได้ข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบอย่างไร ประกอบกับ
การพิจารณาแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งจะคำนึงถึงความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง เมื่อไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนในแต่ละตำแหน่งที่ว่าง จึงไม่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีความเกี่ยวข้องและสามารถแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งได้อย่างเหมาะสมต่อความรู้ความสามารถหรือไม่ สำหรับที่โจทก์นำสืบ
ถึงมูลเหตุความขัดแย้งกับจำเลยที่ ๒ อันเนื่องมาจากคำสั่งแต่งตั้งโจทก์กับพวกเป็นคณะทำงานชุดเฉพาะกิจดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยอาคารของการเคหะแห่งชาติ เพื่อบ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการโยกย้าย
ที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์เพื่อให้ขึ้นตรงต่อจำเลยที่ ๒ นั้น ยังไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอให้รับฟัง
เป็นข้อพิรุธสงสัยถึงเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลยที่ ๒ อีกทั้งพวกของโจทก์ที่อ้างว่าถูกโยกย้าย
โดยไม่เป็นธรรมก็ไม่ได้ความว่าเป็นบุคคลใดและไม่เป็นธรรมอย่างไร ไม่สามารถพิสูจน์ให้เป็น
ที่ประจักษ์ได้ว่ามีการกลั่นแกล้งโยกย้ายตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงหรือไม่ การแก้ไขระเบียบการเคหะแห่งชาติ ว่าด้วย มาตรฐานกำหนดตำแหน่งของการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๑๕
ที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง โยกย้าย สับเปลี่ยน เลื่อนตำแหน่ง
เลื่อนระดับพนักงานระดับ ๘ ขึ้นไป จากที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงอันประกอบด้วยผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ และผู้ช่วยผู้ว่าการ มาเป็นคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เกิดขึ้นก่อนหน้าจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรและออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายโจทก์เป็นเวลานานเกือบ ๒ ปี ไม่ปรากฏถึงมูลเหตุจูงใจว่า
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ข้อที่โจทก์อ้างทำนองว่า หากผู้ว่าการเป็นผู้เสนอ
ให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายแล้วย่อมไม่มีผู้คัดค้าน ส่อไปในทางไม่เที่ยงธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ยึดโยงผู้บริหารระดับสูงซึ่งกำกับดูแลตามสายบังคับบัญชา เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์เอง การที่จำเลยทั้งสอง
มีคำสั่งที่ ข.๐๐๕/๒๕๖๕ เรื่อง แต่งตั้งพนักงาน ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ แต่งตั้งให้พนักงาน
ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างใหม่ ๒๓ ราย รวมถึงโจทก์ โดยผ่านการพิจารณามีมติให้ความเห็นชอบ
จากคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามที่กฎหมายและระเบียบข้อบังคับกำหนด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริตหรือมิชอบ จึงไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว หรือต้องให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายที่มีอำนาจหน้าที่
ในลักษณะงานการบริหารหน่วยงานระดับฝ่ายตามลักษณะที่เคยได้รับหรือไม่ลดทอนกว่าเดิม

            ที่โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง โดยแยกเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ๖ ข้อ
และข้อกฎหมาย ๑ ข้อ นั้น เมื่อพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนที่อ้างว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงข้อ ๑
และข้อ ๒ ที่ว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบเรื่องการปรับโครงสร้างใหม่ และเรื่องการยุบฝ่าย
ที่โจทก์เป็นผู้อำนวยการ ไม่เคยเรียกโจทก์เข้าไปร่วมแสดงข้อคิดเห็น ทั้งที่เป็นเรื่องที่กระทบสิทธิ
ของโจทก์โดยตรง จำเลยทั้งสองไม่มีเอกสารใด ๆ เลยที่นำมาแสดงให้ปรากฏต่อศาลว่า
ก่อนปรับโครงสร้างองค์กรได้มีการสื่อสารกับผู้ที่ถูกกระทบสิทธิทั้งหลายตามรายชื่อผู้ที่ลงนามว่า
ไม่ทราบเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กร เพราะหากจำเลยทั้งสองมีหลักฐานว่าได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว
คงจะต้องนำมาแสดงต่อศาลได้นั้น มิใช่การโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า แม้จะมีข้อควรต้องคำนึงอยู่บ้างว่าเหตุใดผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ ๑
ไม่ทราบถึงการปรับโครงสร้างองค์กร แต่ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอจะบ่งชี้ให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมีการกระทำที่ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมโดยมิชอบอย่างไรนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้
จึงเป็นอุทธรณ์ที่มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ส่วนที่อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๒ ออกคำสั่ง
ด้วยวาจาห้ามไม่ให้เวียนหรือส่งต่อเอกสาร ประกอบกับเจ้าของเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กร
คือ ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ไม่มีพนักงานฝ่ายดังกล่าวคนใดกล้าบอกกล่าวเรื่องดังกล่าว จึงไม่เป็นการสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความพยายามปกปิดข้อมูล และให้ทราบเฉพาะผู้บริหารบางคน
ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนั้น โจทก์เพิ่งจะยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์
จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่รับวินิจฉัย

         สำหรับอุทธรณ์ในส่วนที่อ้างว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงข้อ ๓ ที่ว่า การประเมินผลกระทบ
การปรับโครงสร้างของจำเลยที่ ๑ นั้น ผลกระทบในส่วนต้นทุนต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายบุคลากร ฐานะทางการเงิน ต้องอาศัยระยะเวลาช่วงปีงบประมาณจึงจะเห็นผลเป็นที่ปรากฏได้
ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายอุทธรณ์ พบว่าผลการดำเนินงานของจำเลยที่ ๑ แย่ลงและอยู่ระหว่างทบทวนโครงสร้างองค์กรใหม่อีก แสดงให้เห็นว่าเกิดผลกระทบในแง่ลบจากการปรับโครงสร้างแล้วนั้น
เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่รับฟังข้อเท็จจริง
และวินิจฉัยว่า ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารด้านทรัพยากรบุคคลและคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติมีการนำเสนอข้อมูลความจำเป็นในด้านต่าง ๆ รวมถึงได้แสดงรายละเอียด
จำนวนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการก่อนจะมีมติอนุมัติ เท่ากับว่าผู้เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณาเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้ว อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         สำหรับอุทธรณ์ในส่วนที่อ้างว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงข้อ ๔ ที่ว่า เรื่องที่โจทก์ถูกสอบสวนทางวินัยยังไม่ถึงที่สุด และโจทก์เห็นว่าไม่ถึงขนาดเป็นโทษทางวินัยร้ายแรง ไม่ใช่เรื่องทุจริต ต่อมาจำเลยที่ ๒
ยังออกระเบียบว่าผู้ที่อยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือผู้ที่ได้รับโทษทางวินัย
ให้มีสิทธิได้รับการพิจารณาเสนอชื่อดำรงตำแหน่งหรือเลื่อนตำแหน่งได้ตามปกติ แต่จำเลยที่ ๒
กลับแต่งตั้งผู้อื่นไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายที่ว่างอยู่ถึง ๑๐ อัตรา โดยไม่พิจารณาแต่งตั้งโจทก์
จึงไม่ชอบด้วยความสมเหตุผลตามปกติวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า เกณฑ์การคัดเลือกพิจารณาจากความจำเป็น
เรื่องภารกิจที่ต้องดำเนินการให้ต่อเนื่องในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ชุมชนดินแดงที่ดำเนินการไปแล้ว เปรียบเทียบกับหน่วยงานของโจทก์ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาแบ่งพื้นที่ ร่วมกับหลักพิจารณาในเรื่องอื่น
โดยหยิบยกเรื่องที่โจทก์อยู่ระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยขึ้นพิจารณาร่วมด้วย ส่วนที่มีตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายที่ว่างอยู่ภายหลังการปรับโครงสร้างองค์กร แต่พิจารณาให้ผู้อำนวยการฝ่ายที่เป็นนักบริหารระดับ ๑๐ ควบตำแหน่ง หรือแต่งตั้งให้ผู้บริหารระดับ ๙ ขึ้นมารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายระดับ ๑๐ นั้น ยังไม่ได้ข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบอย่างไร ประกอบกับการพิจารณาแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งจะคำนึงถึงความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง เมื่อไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนในแต่ละตำแหน่งที่ว่าง
จึงไม่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีความเกี่ยวข้องและสามารถแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งได้อย่างเหมาะสมต่อความรู้ความสามารถหรือไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         สำหรับอุทธรณ์ในส่วนที่อ้างว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงข้อ ๕ ที่ว่า หน่วยงานระดับกองทั้ง ๓ กอง
ในฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ๒ ที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ มีแต่โครงสร้างและอัตราว่าง
ไม่มีบุคลากรแม้แต่คนเดียว เมื่อกองทั้ง ๓ กอง ดังกล่าวถูกยุบภายใต้การปรับโครงสร้าง จึงไม่มีผู้ใด
ได้รับผลกระทบนอกจากโจทก์ ซึ่งโดยปกติจะต้องจัดการแก้ไขให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเดิมได้รับการแต่งตั้ง ก่อนที่จะนำผู้อำนวยการฝ่ายระดับ ๙ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน อันเป็นการไม่รักษาสิทธิและเกียรติแห่งตำแหน่งในสายงานบริหารบังคับบัญชาของโจทก์แต่เดิมนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจ
ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า ตามผังการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ยังมีการควบรวมหน่วยงานอื่นและลดกองภายในฝ่ายที่มีการควบรวม
โดยฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ๒ ที่เดิมอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของโจทก์ปรากฏว่ามีการยุบหน่วยงานระดับกองลง ๓ กอง ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งของพนักงานอื่นในหน่วยงานที่มี
การเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา หาได้มีผลกระทบแต่เพียงโจทก์ไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย และอุทธรณ์ในส่วนที่อ้างว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อ ๖ ที่ว่า โจทก์ถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายเช่นเดียวกับพนักงานคนอื่นซึ่งได้ใช้สิทธิฟ้องคดี
ต่อศาลแรงงานกลางนั้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ที่โจทก์นำสืบถึงมูลเหตุความขัดแย้งกับจำเลยที่ ๒ อันเนื่องมาจากคำสั่งแต่งตั้งโจทก์กับพวกเป็นคณะทำงานชุดเฉพาะกิจดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยอาคารของการเคหะแห่งชาติ เพื่อบ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์
เพื่อให้ขึ้นตรงต่อจำเลยที่ ๒ นั้น ยังไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอให้รับฟังเป็นข้อพิรุธสงสัยถึงเจตนา
อันไม่สุจริตของจำเลยที่ ๒ อีกทั้งพวกของโจทก์ที่อ้างว่าถูกโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรมก็ไม่ได้ความว่า
เป็นบุคคลใดและไม่เป็นธรรมอย่างไร ไม่สามารถพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ได้ว่ามีการกลั่นแกล้งโยกย้าย
ตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริงหรือไม่ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางข้างต้น อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         ส่วนที่โจทก์อ้างว่า เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายนั้น โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่จำเลยที่ ๒ มอบหมายหน้าที่แก่โจทก์ตามคำสั่งที่ ง.๐๓๕/๒๕๖๕ ก็เพียงให้ศาลเห็นว่ามีการมอบหมายหน้าที่ให้สมเหตุสมผล
แต่ความเป็นจริงเป็นการมอบหมายหน้าที่แบบเสียมิได้ งานที่มอบหมายไม่ได้สะท้อนให้เห็นหลักการสำคัญที่ให้มีตำแหน่งประจำสำนักผู้ว่าการเพิ่มเติมเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ประสานงานและปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายในด้านต่าง ๆ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตลอดเวลา ๑ ปี โจทก์ได้รับมอบหมาย
ให้ไปร่วมเป็นเกียรติในงานต่าง ๆ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เท่านั้น
เมื่อร่วมถ่ายภาพแล้วก็เดินทางกลับ เมื่อเปรียบเทียบกับงานในหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายที่โจทก์
เคยดำรงตำแหน่งมาแล้ว เป็นการลดทอนคุณลักษณะของตำแหน่งงานเดิมอย่างชัดแจ้ง แสดงให้เห็นว่าการย้ายตำแหน่งโจทก์นั้นเป็นการย้ายแล้วทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นพนักงานผู้บริหารรัฐวิสาหกิจลดลง ลดทอนคุณค่าในตัวโจทก์เมื่อเทียบกับประวัติการทำงานของโจทก์ที่ผ่านมา ตามหลักกฎหมายแรงงาน
ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่เป็นธรรม แม้จะไม่ได้ลดตำแหน่ง ค่าจ้างหรือประโยชน์อื่น
ของโจทก์อันเกี่ยวกับการทำงานก็ตามนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งมอบหมายหน้าที่แก่โจทก์ ตามคำสั่งที่ ง.๐๓๕/๒๕๖๕ เอกสารหมาย ล.๑๘ ถึงแม้จะมีความแตกต่างจากตำแหน่งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจบริหาร
หรือการบังคับบัญชา แต่ก็อาจเป็นเพราะหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละตำแหน่งไม่เหมือนกัน จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นตำแหน่งลอย การพิจารณาแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งจะคำนึงถึงความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง เมื่อไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนในแต่ละตำแหน่งที่ว่างจึงไม่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มี
ความเกี่ยวข้องและสามารถแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งได้อย่างเหมาะสมต่อความรู้ความสามารถ
หรือไม่ ทั้งไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอถึงเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลยที่ ๒ และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า
มีการกลั่นแกล้งโยกย้ายโจทก์ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน

         พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์.

(สุรพงษ์ ชิดเชื้อ – สิงห์ชัย สุพรรณพงษ์ – ชนกพรรณ บุญสม)

ชนันท์ชัย ภัทรสกล - ย่อ

ประสิทธิ์ ดวงตะวงษ์ - ตรวจ