คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2109/2567  ซ.                                         โจทก์

                                                                     กรมทรัพย์สินทางปัญญา              จำเลย

พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)

         เครื่องหมายการค้า    สื่อความหมายได้ในทำนองว่า เมล็ดพืชหรือธัญพืช
ที่มีแหล่งที่มาจากหรือเป็นของเมืองลิมา เมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวก ๓๑ รายการสินค้า เมล็ดพืชและผลผลิตทางการเกษตร เมล็ดพืชและผลผลิตพืชสวน เมล็ดพืชและผลผลิตจากป่า ธัญพืช
เป็นต้นแล้ว เป็นคำหรือข้อความที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์โดยตรง
อีกทั้งยังมีส่วนประกอบคำว่า “
Lima” ที่เป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศเปรู อันถือเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)

______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้พิพากษาว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ ๔๑๖/๒๕๖๖ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว และให้พิพากษาว่าเครื่องหมาย
    ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและบริการ เลขที่ ๑๘๐๑๑๒๓๐๒
เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ และให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและบริการของโจทก์ตามขั้นตอนต่อไป

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียม
ให้เป็นพับ

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้น
ตามกฎหมายแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและบริการ     จำเลย
เป็นนิติบุคคลในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน 25๖๐ โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ    คำขอเลขที่ 180112302 ผ่านระบบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริด เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า แป้งสำหรับเป็นอาหารและส่วนผสมที่เตรียมขึ้น
จากแป้งและวัตถุเจือปนอาหาร ส่วนผสมที่เตรียมขึ้นจากธัญพืชใช้เป็นอาหาร แป้งผสมสำเร็จ ส่วนผสม
ที่ทำมาจากธัญพืชในรูปแบบผงใช้เป็นอาหาร ส่วนผสมเข้มข้นที่ทำมาจากธัญพืชดิบในรูปแบบผงใช้เป็นอาหารและสำหรับวัตถุเจือปนอาหาร อาหารที่ทำมาจากแป้ง แป้งข้าวโพด แป้งละเอียด ผลิตภัณฑ์
ทำจากแป้งที่ผ่านการโม่ ขนมปัง ผลิตภัณฑ์ประเภทขนมปัง ขนมปังกรอบ คุกกี้และขนมบิสกิต ขนมปังแห้งชนิดหวาน ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่เวียนนา เค้ก ขนมปังเพสตี้และขนมหวานคอนเฟคชันเนอรี ยีสต์
ผงฟู จำพวก 31 รายการสินค้า เมล็ดพืชและผลผลิตทางการเกษตร เมล็ดพืชและผลผลิตพืชสวน
เมล็ดพืชและผลผลิตจากป่า (ที่ไม่ผ่านการแปรสภาพ) และธัญพืช (เมล็ด) โดยเฉพาะผัก ถั่วฝัก ธัญพืช
และข้าวโพดบางชนิด ธัญพืชขนาดเล็กเมล็ดทานตะวัน เมล็ดถั่วเหลือง เมล็ดคอลซ่า ถั่ว อาหารปศุสัตว์และเมล็ดหญ้า พืชธรรมชาติและดอกไม้ธรรมชาติ เมล็ดพันธุ์ ธัญพืช (ซีเรียล) อาหารสัตว์ รำข้าว
และบริการจำพวก 44 รายการบริการ บริการทำการเกษตร บริการทำสวน บริการด้านป่าไม้ โดยเฉพาะการดูแลเมล็ดพันธุ์ บริการด้านการเกษตรกรรม บริการให้คำปรึกษาด้านการทำฟาร์ม บริการ
ให้คำปรึกษาด้านการดูแลดินเพื่อการเกษตร การปลูกพืช บริการกำจัดปรสิตและศัตรูพืชทางการเกษตร บริการกำจัดปรสิตและศัตรูพืชทางพืชสวน บริการกำจัดปรสิตและศัตรูพืชป่าไม้ บริการกำจัดวัชพืช ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาเครื่องหมายตามคำขอของโจทก์แล้วมีคำสั่งไม่รับ
จดทะเบียน เนื่องจากคำว่า Lima เป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศเปรู นับว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์
และคำว่า grain แปลว่า เมล็ดข้าว เมล็ดพืชที่ใช้เป็นอาหาร พืชประเภทข้าว เมื่อนำมาใช้กับสินค้า
และบริการที่ขอจดทะเบียนจึงเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าและบริการโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ต่อมาคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ยืน
ตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับปัญหาว่า เครื่องหมายการค้า
และเครื่องหมายบริการ        มีลักษณะบ่งเฉพาะเมื่อนำมาใช้กับสินค้าในจำพวก ๓๐ และบริการ
ในจำพวก ๔๔ หรือไม่นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้ว่า
มีลักษณะบ่งเฉพาะเมื่อนำมาใช้กับสินค้าและบริการในจำพวกดังกล่าว คู่ความไม่อุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

         มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า เครื่องหมายการค้า     ของโจทก์ที่ยื่นขอจดทะเบียนกับสินค้าในจำพวกที่ 31 เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 หรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่พึงรับจดทะเบียนได้นั้น จะต้องเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่มีลักษณะ
บ่งเฉพาะ การพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา ๗ และมาตรา 80 ประกอบมาตรา ๗ กล่าวคือ กรณี
เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่เป็นคำหรือข้อความ จะต้องเป็นคำหรือข้อความที่ไม่ได้
เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรงและไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๒) และมาตรา 80 ประกอบมาตรา ๗ วรรคสอง (๒) โดยคำหรือข้อความที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการโดยตรงนั้น ต้องเป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการอย่างตรงไปตรงมาถึงขนาดที่ทำให้สาธารณชนทราบลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการได้ในทันทีหรือหลังจาก
ใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อย แต่หากสาธารณชนยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรที่จะเข้าใจความหมายที่เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวต้องการจะสื่อให้ทราบ เพราะเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำของสินค้าและบริการแล้ว คำหรือข้อความที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำหรือข้อความที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการโดยตรง เช่นเดียวกับกรณีที่เครื่องหมายการค้าและบริการ
ที่เป็นคำภาษาต่างประเทศซึ่งไม่ปรากฏความหมายในพจนานุกรมโดยตรง แต่เห็นได้ว่าเป็นการนำ
คำภาษาต่างประเทศมากกว่าหนึ่งคำมารวมกัน การพิจารณาว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะ
หรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการที่ขอจดทะเบียนโดยตรงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาความหมาย
ของคำแต่ละคำที่นำมาประกอบเป็นเครื่องหมายดังกล่าวว่า ปรากฏความหมายที่ทำให้สาธารณชนทราบหรือเข้าใจในทันทีที่พบเห็นเครื่องหมายคำดังกล่าวว่าเป็นการบรรยาย หรืออธิบายให้เห็นถึงลักษณะ
หรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นได้โดยตรง โดยที่สาธารณชน
หรือผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องต้องใช้ความคิดวิเคราะห์ต่อเนื่อง
หรือหาความเชื่อมโยงอีกหรือไม่ หากความหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงคำแนะนำหรือเป็นเพียง
การบรรยายถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการนั้นโดยอ้อม กล่าวคือยังไม่ใช่คำที่จะทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าและบริการนั้นทราบและเข้าใจได้โดยทันทีถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้า
และบริการที่เกี่ยวข้องโดยตรงว่ามีลักษณะหรือคุณสมบัติใดเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ผู้ใช้สินค้า
และบริการจะต้องใช้ความคิดและจินตนาการ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือแปลความหมายที่ซ้ำซ้อนกันนั้นอีกชั้นหนึ่งก่อน จึงจะรู้ว่าเป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการใดแล้ว แม้อาจเป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการ แต่ก็เป็นไปโดยทางอ้อม
จึงไม่เป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าและบริการที่ขอจดทะเบียนโดยตรง เครื่องหมายคำว่า “Limagrain” ของโจทก์ประกอบด้วยคำสองคำ กล่าวคือ คำว่า “Lima” อ่านว่า “ลิมา” และคำว่า “grain” อ่านว่า “เกรน” แม้คำว่า “Limagrain” จะเขียนติดกันก็ตาม แต่คำทั้งสอง
แยกออกจากกันได้ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๒) ฯ กำหนดว่า “2. ชื่อทางภูมิศาสตร์ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๒)
แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ
เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. 2559 (2) ชื่อทวีป แคว้น รัฐ มณฑล หรือชื่อเมืองหลวงของประเทศ” ลิมา คือ ชื่อเมืองหลวงของประเทศเปรู ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ คำว่า “Lima” จึงเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามมาตรา ๗ วรรคสอง (๒) ส่วนคำว่า “grain” เป็นคำนามนับไม่ได้ มีความหมายว่า ธัญพืช เมล็ดพันธุ์
หรือเมล็ดพืชขนาดเล็ก เช่น ข้าวสาลี ข้าว รวมกันสื่อความหมายได้ในทำนองว่า เมล็ดพืชหรือธัญพืช
ที่มีแหล่งที่มาจากหรือเป็นของเมืองลิมา เมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวก 3๑ ตามรายการสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนแล้ว จะเห็นได้ว่าคำว่า “Limagrain” เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้า
ตามรายการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนโดยตรง เพราะสาธารณชนที่พบเห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์สามารถทราบได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้ความคิดและจินตนาการ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นสินค้ามีลักษณะหรือคุณสมบัติอย่างไร เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำหรือข้อความ
ที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์โดยตรง อันไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อีกทั้งยังมีส่วนประกอบที่เป็นชื่อเมืองหลวงของประเทศเปรู อันถือเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า เครื่องหมายการค้าและบริการของโจทก์ได้มี
การจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า      จนแพร่หลายแล้ว
ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เห็นว่า การพิสูจน์ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้วตามมาตรา ๗ วรรคสาม
ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น ต้องได้ความว่า มีการจำหน่าย เผยแพร่
หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชน
ในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้า
หรือบริการอื่น ตามหลักเกณฑ์ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา ๗ วรรคสาม แต่โจทก์คงมีเพียงเอกสารประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์ในเว็บไซต์ กิจกรรมแนะนำสินค้าในสื่อสังคม ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีผู้เข้าถึงหน้าเว็บไซต์ดังกล่าว หรือรับรู้และเข้าร่วมกิจกรรมมากน้อยเพียงใด ส่วนเอกสารในเว็บไซต์นั้น เป็นภาษาต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า เอกสารดังกล่าวมิได้ตั้งใจเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไปในประเทศไทย จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการรับรู้เอกสารฉบับนี้เป็นที่แพร่หลาย
ส่วนใบอนุญาตก็เป็นการขออนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า คงฟังได้เพียงว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า ไม่อาจนำมารับฟังได้ถึงขนาดว่า โจทก์มีการจำหน่ายสินค้าจนแพร่หลายแต่อย่างใด สำหรับเอกสารข้อมูล จ.๑๓ นั้น ได้ความว่าเป็นเอกสารเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการเผยแพร่จนแพร่หลายเพียงใด หรือมีผู้เข้าถึงหน้าดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ดังนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้ามาแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้จำหน่าย เผยแพร่
หรือโฆษณาสินค้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควรจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายนั้น ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

(กนกรดา ไกรวิชญพงศ์ – คมน์ทนงชัย ฉายไพโรจน์ – นิภา ชัยเจริญ)

สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ

ปัทมา ทุมมา จรรยาพูน - ตรวจ