คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 820/2567     นาย ค.                                โจทก์

         (ประชุมใหญ่)                                             นางสาว ด.                           จำเลย

ป.วิ.พ. มาตรา 4

            พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานะและความสามารถของบุคคล ครอบครัว มรดก ที่ไม่เกี่ยวกับวิธีการดำเนินคดีตาม ป.วิ.พ.
เมื่อได้ความว่าขณะเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง โจทก์และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวพำนักอยู่ในประเทศไทยอันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดอยู่ในเขตอำนาจ
ของศาลชั้นต้น โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นอันเป็นเขตอำนาจศาลที่มูลคดีเกิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

          คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลต่างประเทศหามีผลผูกพันหรือบังคับใช้ในอีกประเทศหนึ่งไม่
เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายภายในประเทศนั้น ๆ บัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ทั้งการจะยอมรับบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลต่างประเทศ ประเทศไทยยังไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบัญญัติให้มีการยอมรับบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลต่างประเทศ คำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าว
จึงมีฐานะเป็นเพียงพยานหลักฐานหนึ่งในคดีเท่านั้น โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับอำนาจปกครองบุตร
และการกำหนดถิ่นที่อยู่ ศาลย่อมต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด
ของบุตรผู้เยาว์เป็นสำคัญ

______________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้ถอนอำนาจปกครองเด็กชาย จ. และเด็กหญิง ล. ของจำเลย และให้โจทก์
เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงฝ่ายเดียว

         จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาเพิกถอนอำนาจปกครองเด็กชาย จ.
และเด็กหญิง ล. ของโจทก์ และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงฝ่ายเดียว ให้โจทก์ชำระ
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพื่อการศึกษาเล่าเรียน การดำรงชีพ ค่าประกันสุขภาพ
และค่าประกันชีวิตนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนจะบรรลุนิติภาวะ เดือนละ 150,000 บาท และขอให้พิพากษาตามคำพิพากษาศาลสูงเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ลงวันที่
11 ตุลาคม 2562 คดีเลขที่ อาร์.จี.19/01500 ที่กำหนดถิ่นที่พักอาศัยประจำของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้เป็นบ้านพักของจำเลย ณ ประเทศฝรั่งเศส และสั่งห้ามบุตรผู้เยาว์ทั้งสองออกนอกพื้นที่
ประเทศฝรั่งเศส

         โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

         ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ เนื่องจากโจทก์ จำเลย และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไม่มี
สัญชาติไทย โจทก์กับจำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรสในประเทศไทยและจำเลยไม่มีภูมิลำเนา
ในประเทศไทย และการดำเนินคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ฟ้องซ้ำ และฟ้องซ้อน
กับคดีของศาลสูงเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส หรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษา

 

 

 

 

         ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชาย จ. และเด็กหญิง ล. บุตรผู้เยาว์ทั้งสองขณะพำนักอยู่ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว แต่ให้สิทธิจำเลยพบปะเยี่ยมเยียนบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง
ได้ตามสมควรโดยบุตรผู้เยาว์ทั้งสองสมัครใจและให้อยู่ภายใต้การดูแลของโจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ

         จำเลยอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันพำนักอยู่ในประเทศไทย โจทก์ประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษาธุรกิจในต่างประเทศ มีรายได้เดือนละประมาณ 350,000 บาท จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติฝรั่งเศส ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ประเทศฝรั่งเศส โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2556
มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ เด็กชาย จ. อายุ 10 ปีเศษ และเด็กหญิง ล. อายุ 8 ปีเศษ ปัจจุบันพำนัก
อยู่กับโจทก์ในประเทศไทย และเรียนหนังสือที่โรงเรียน อ. จังหวัดภูเก็ต เดิมโจทก์ จำเลย
และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองพำนักอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เดือนเมษายน 2560 ย้ายถิ่นฐานมาพำนักอยู่ในประเทศไทยที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด กระทั่งปี 2562 จำเลยออกจากประเทศไทยไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน เมื่อจำเลยออกไปจากประเทศไทย
โจทก์พาบุตรผู้เยาว์ทั้งสองย้ายถิ่นฐานมาพำนักอยู่ในกรุงเทพมหานคร และเรียนที่โรงเรียน ต.
เดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ โจทก์พาบุตรผู้เยาว์ทั้งสองย้ายถิ่นฐานไปพำนักที่จังหวัดภูเก็ตจนถึงปัจจุบัน
โดยให้เรียนที่โรงเรียน อ. ขณะจำเลยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยต่อศาลแขวง
แห่งเมืองโอเฟอร์ไรส์เซิล แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศาลมีคำพิพากษา
ให้หย่าขาดจากกันเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ต่อมาวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๒ จำเลยยื่นคำร้อง
ขออำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองต่อศาลเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่
๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองพักอาศัยกับจำเลยและให้สิทธิโจทก์ในการเยี่ยมบุตร
และพักอาศัยกับบุตรในช่วงปิดเทอมและมีคำสั่งห้ามบุตรผู้เยาว์ทั้งสองออกนอกพื้นที่ประเทศฝรั่งเศส
ถ้าหากไม่มีการรับรองจากทั้งบิดาและมารดา สำหรับประเด็นเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ฟ้องซ้ำ และฟ้องซ้อนกับคดีของศาลสูงเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส คู่ความต่างไม่อุทธรณ์ จึงยุติ
ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดี
ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วย
การขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานะและความสามารถของบุคคล ครอบครัว มรดก ที่ไม่เกี่ยวกับวิธีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น
การเสนอคดีต่อศาลจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อคดีได้ความว่า
ขณะเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง โจทก์และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองพำนักอยู่
ในประเทศไทยอันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จำเลยเองก็ยอมรับอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นโดยการฟ้องแย้งเข้ามาในคดีด้วย ดังนั้น ศาลไทยย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นอันเป็นเขตอำนาจศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔ (๑) ประกอบพระราชบัญญัติ
ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๖
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

         คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง
งดสืบพยานจำเลยปากนางสาว ศ. นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว
และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นเมื่อเห็นว่าพยานหลักฐานใดฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้าหรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็น
ให้ศาลมีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น หรือพยานหลักฐานอื่นต่อไป คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้น
เห็นว่า มีการกำหนดนัดสืบพยานจำเลยเป็นเวลานานถึง 6 เดือนเศษ แต่จำเลยกลับขอเลื่อนคดี
เพื่อจะนำพยานปากนางสาว ศ. มาสืบ โจทก์คัดค้าน จึงไม่อนุญาตและงดสืบพยานจำเลย กับนัดฟัง
คำพิพากษา การกระทำของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการประวิงคดีทำให้ดำเนินกระบวนพิจารณาชักช้า
ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานปากนางสาว ศ. จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

         คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า มีเหตุถอนอำนาจปกครองเด็กชาย จ. และเด็กหญิง ล. ของโจทก์ และให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงฝ่ายเดียวตามฟ้องแย้งหรือไม่ เห็นว่า จากทางนำสืบของจำเลยนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด ๆ ที่ทำให้เห็นว่าโจทก์ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปในทางที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไร หรือแม้กระทั่งกระทำการประพฤติชั่วอันเป็นเหตุที่ไม่สมควรเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง จำเลยคงนำสืบเพียงว่า โจทก์คบหากับนางสาว ศ. ฉันคนรัก และปล่อยให้นางสาว ศ. ทำร้ายร่างกายบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ทิ้งให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองที่อายุไม่เกิน 10 ปี อยู่บ้านตามลำพังปราศจากผู้ปกครอง อาจมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหรือเกิดอุบัติเหตุ
ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิตบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ แต่กลับไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น
หรือเกิดอุบัติเหตุซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง และปัจจุบันโจทก์เลิกรา
กับนางสาว ศ. แล้ว ในทางกลับกันโจทก์เป็นฝ่ายดูแลบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตั้งแต่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองมาพำนักที่ประเทศไทยรวมทั้งให้การอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษา และชำระค่าเล่าเรียนตลอดมา เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า โจทก์ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวบุตรผู้เยาว์ทั้งสองโดยมิชอบ
หรือประพฤติชั่วร้ายอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องมีคำสั่งให้ถอนอำนาจปกครองบุตรของโจทก์
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ตามฟ้องแย้ง
จึงไม่มีเหตุให้ถอนอำนาจปกครองโจทก์ที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ส่วนเรื่องเกี่ยวกับอำนาจปกครองนั้น แม้คำพิพากษาศาลสูงเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ลงวันที่ 11 ตุลาคม 256๒ คดีเลขที่ อาร์.จี.19/01500 จะกำหนดถิ่นที่พักอาศัยประจำของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองให้เป็นบ้านพักของจำเลย
ณ ประเทศฝรั่งเศส และสั่งห้ามบุตรผู้เยาว์ทั้งสองออกนอกพื้นที่ประเทศฝรั่งเศสก็ตาม
แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งในต่างประเทศหามีผลผูกพันหรือบังคับใช้ในอีกประเทศหนึ่งไม่ เว้นแต่
จะมีบทบัญญัติของกฎหมายภายในประเทศนั้น ๆ บัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ทั้งการจะยอมรับบังคับ
ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในต่างประเทศนั้น ประเทศไทยเองก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบัญญัติให้มีการยอมรับบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต่างประเทศ คำพิพากษาหรือคำสั่ง
ของศาลในต่างประเทศจึงมีฐานะเป็นเพียงพยานหลักฐานหนึ่งในคดีเท่านั้น โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับอำนาจปกครองบุตรและการกำหนดถิ่นที่อยู่ ศาลย่อมต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบุตรผู้เยาว์เป็นสำคัญ เมื่อได้ความจากทางนำสืบของโจทก์กับจำเลย ประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีครอบครัวของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
.




กรุงเทพมหานครว่า โจทก์เป็นผู้รับภาระค่าอุปการะเลี้ยงดู ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว บุตรผู้เยาว์ทั้งสองประสงค์ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง
และดำเนินการต่าง ๆ แทนแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งปัจจุบันบุตรผู้เยาว์ทั้งสองพำนักอยู่กับโจทก์
และเรียนหนังสืออยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยพำนักอยู่ประเทศฝรั่งเศส ดังนั้น การกำหนดให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในความปกครองของบิดาหรือมารดาควรต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบุตรผู้เยาว์
ทั้งการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ ตลอดจนความอบอุ่นที่มีความสำคัญต่อความรู้สึกของบุตรผู้เยาว์
ซึ่งอยู่ในวัยเด็ก และต้องไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตของบุตรผู้เยาว์เป็นสำคัญ บุตรผู้เยาว์ทั้งสองมีอายุ 10 ปีเศษ และ 8 ปีเศษ ถือว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองสามารถที่จะรับรู้เข้าใจและมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเองได้แล้ว ทั้งสามารถพูดสื่อสารเข้าใจได้ โดยให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการสถานพินิจ
และคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครว่ามีความประสงค์จะอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์และอยู่ระหว่างเรียนหนังสือในประเทศไทย ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวบุตรผู้เยาว์ทั้งสองย่อมที่จะกล่าว
มาจากสิ่งที่ตนได้รับการปฏิบัติมาและเกิดจากความรักและความผูกพันกับโจทก์มากกว่าจำเลย นอกจากนี้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ที่ประเทศไทยกับโจทก์ตั้งแต่ปี 2560 ย่อมต้องมีความเคยชิน
กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งการคบหาเพื่อนหรือการศึกษาจะต้องมีความต่อเนื่องเพื่อประโยชน์
ในการเรียนรู้ ความเข้าใจต่อการดำรงชีพ โจทก์เองก็ประกอบอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคงสามารถเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้เป็นอย่างดี หากให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่กับจำเลยโดยบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะต้องย้ายไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงทั้งที่อยู่อาศัยและโรงเรียน ย่อมทำให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง
ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่และต้องคบหาเพื่อนใหม่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอย่างแน่นอน ซึ่งนอกจากไม่เกิดประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้ว
ยังทำให้ต้องเสียสุขภาพและขาดโอกาสที่จะสานสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ให้มีความสนิทสนมเหมือน
เด็กคนอื่นทั่วไปอีกด้วย และอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง
เมื่อได้พิจารณาความเหมาะสมว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่กับผู้ใดจะเป็นประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึง
ความผาสุกและพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวข้างต้นประกอบแล้ว กรณีไม่มีความเหมาะสมที่จะให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองไปอยู่กับจำเลย เห็นสมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพียงผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๖ (๕) แต่จำเลยมีสิทธิไปพบปะเยี่ยมเยียน
บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ตามสมควรภายใต้การดูแลของโจทก์ ทั้งนี้โจทก์ต้องเปิดโอกาสให้จำเลยพบปะ
บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้โดยสะดวกและเป็นเวลาพอสมควร ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ตามรายงานจิตแพทย์
แสดงถึงสภาพจิตใจของบุตรผู้เยาว์ที่มีความหวาดกลัวบิดาและแพทย์ให้ความเห็นว่าบุตรชายควรอาศัยอยู่กับจำเลยนั้น เห็นว่า ขณะที่เด็กชาย จ. ให้ถ้อยคำต่อพนักงานคุมประพฤติผู้สืบเสาะข้อเท็จจริง
ก็ไม่พบว่ามีอาการวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวบิดา หรือต้องการไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสกับจำเลย หรือมีอาการวิตกกังวลใด ๆ แต่กลับประสงค์จะอยู่กับโจทก์ ทั้งรักโจทก์มากเพราะใจดี ไม่เคยลงโทษด้วยการตี
ดูแลเอาใจใส่และพาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งพนักงานคุมประพฤติผู้สืบเสาะข้อเท็จจริงถือเป็น
เจ้าพนักงานของรัฐ เป็นพยานคนกลาง ย่อมที่จะรายงานให้ศาลทราบไปตามความเป็นจริงที่บุตรผู้เยาว์ได้ให้ถ้อยคำไว้ เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ มานำสืบให้เห็นดังที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่น ๆ นั้นล้วนแต่เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ไม่จำต้องวินิจฉัย
เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองตามฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา
ตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์” บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้บิดามารดามีหน้าที่
ต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ร่วมกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าปัจจุบันบุตรผู้เยาว์
ทั้งสองต่างพำนักอยู่กับโจทก์และเรียนหนังสืออยู่ในประเทศไทย โจทก์เป็นผู้รับภาระให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ทั้งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง
แต่เพียงผู้เดียว โดยบุตรผู้เยาว์ทั้งสองไม่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยได้ชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองหรือไม่ อย่างไร จำเลยจึงไม่อาจเรียกให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเพื่อการศึกษาเล่าเรียน การดำรงชีพ ค่าประกันสุขภาพและค่าประกันชีวิตนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะตามฟ้องแย้งได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย
อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ.

(แก้วตา เทพมาลี – ภีม ธงสันติ – เกียรติยศ ไชยศิริธัญญา)

จตุพร โค้วคาศัย – ย่อ

อุษา จิวะชาติ – ตรวจ