อุทธรณ์ที่ตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

หมายเลขคดีดำที่ ร.347/2560                      นายสก็อต  เดอเวย์น  พูซี่                               โจทก์

หมายเลขคดีแดงที่ 837/2560                       เวทเธอร์ฟอร์ด เอเชีย แปซิฟิก พีทีอี แอลทีดี

                                                          กับพวก                                                     จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 582

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5, 11/1, 17 วรรคสอง, 118

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49

พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 5, 13

 

          เมื่อโจทก์ทำงาน ณ สถานที่ทำงานของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาตามสัญญาจ้างจนกระทั่งถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้าง สถานที่ที่โจทก์ทำงานจึงถือเป็นสถานที่มูลคดีเกิด แม้ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะระบุให้สัญญานี้ใช้กฎหมายแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์บังคับ และศาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์มีเขตอำนาจเด็ดขาดเหนือข้อพิพาททั้งปวงที่เกิดขึ้นหรือที่เกี่ยวข้องกับสัญญา แต่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อกฎหมายแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ไม่มีบทบัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง อีกทั้งการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามีเงื่อนไขแตกต่างจากกฎหมายแรงงานและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานของไทย กรณีจึงไม่อาจใช้กฎหมายแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์มาบังคับแก่สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 5, 13 จึงต้องใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานของไทยบังคับแก่กรณีนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลไทยได้

          การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 ประกอบ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสองและมาตรา 118 ถือว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยโดยใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานของไทยบังคับแก่กรณีและวินิจฉัยได้ถูกต้องตามหลักการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามกฎหมาย เป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว

          โจทก์ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการหน่วยธุรกิจด้านการขุดเจาะ ณ สถานที่ทำงานของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทย ไม่ได้มีหน้าที่หลักเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคกำกับดูแลกิจการของสาขาหรือบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศตามวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 การทำงานของโจทก์จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 อันจะถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ทำเรื่องขอใบอนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ นำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายของโจทก์ส่งกรมสรรพากรและจ่ายเงินค่าเช่าบ้านให้แก่โจทก์ ก็เป็นการช่วยเหลือและให้สวัสดิการแก่โจทก์ในด้านต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์

          จำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายค่าที่พักเป็นค่าเช่าบ้านให้แก่ผู้ให้เช่าโดยตรง ไม่ได้จ่ายให้โจทก์ก่อนในลักษณะเหมาจ่ายแล้วให้โจทก์หาที่พักเอง จึงไม่มีลักษณะเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานให้แก่นายจ้าง ส่วนค่าพาหนะ แม้โจทก์จะได้รับเท่ากันเป็นประจำทุกเดือน โดยไม่ต้องแสดงหลักฐาน แต่ได้ความจากคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าเป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง มีลักษณะเป็นสวัสดิการที่นายจ้างจัดหาให้แก่โจทก์ ไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างเช่นเดียวกัน ค่าที่พักและค่าพาหนะจึงไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง

          จำเลยที่ 1 ประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2557 ต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วนเพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ และทยอยเลิกจ้างลูกจ้างรายอื่นรวมทั้งโจทก์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำลงเป็นอย่างมาก แสดงว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์และพนักงานรายอื่น ๆ ด้วยเหตุความจำเป็นเพื่อพยุงฐานะให้อยู่รอดหลังจากประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันมานานถึง 3 ปี โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์หรือเลือกปฏิบัติ เป็นการเลิกจ้างที่มีความจำเป็นและมีเหตุผลสมควรเพียงพอ จึงไม่ใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

____________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม 185,002.72 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

            ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 10,973.54 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ตุลาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และจ่ายค่าชดเชย 65,888 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

          โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อ 3.1 และข้อ 3.2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานแห่งประเทศไทยหรือไม่และต้องใช้กฎหมายแรงงานแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์บังคับแก่กรณีโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ทำงาน ณ สถานที่ทำงานของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทยตลอดระยะเวลาตามสัญญาจ้างจนกระทั่งถูกจำเลยที่ 1 เลิกสัญญาจ้าง สถานที่ที่โจทก์ทำงานเป็นที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นคดีนี้มูลคดีจึงเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ถ้าจะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ให้ใช้กฎหมายนั้นเพียงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย” และมาตรา 13 บัญญัติว่า “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี...” แม้ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระบุให้สัญญานี้ใช้กฎหมายแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์บังคับ และศาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์มีเขตอำนาจเด็ดขาดเหนือข้อพิพาททั้งปวงที่เกิดขึ้นหรือที่เกี่ยวข้องกับสัญญาก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานแห่งประเทศไทยบัญญัติไว้ ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อได้ความว่ากฎหมายแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ไม่มีบทบัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง อีกทั้งการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามีเงื่อนไขแตกต่างจากกฎหมายแรงงานและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานของประเทศไทย จึงไม่อาจใช้กฎหมายแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์มาบังคับตามเจตนาของคู่สัญญาที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ ดังนั้นเมื่อมีข้อพิพาทด้านแรงงานเกิดขึ้นในประเทศไทยจึงต้องใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานของประเทศไทยบังคับแก่กรณีนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานแห่งประเทศไทยได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อ 3.3 ต่อไปว่า กฎหมายแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ไม่มีบทบัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง และให้นายจ้างมีเพียงหน้าที่ต้องแจ้งบอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้าเพียง 28 วัน หรือตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา หากการเลิกจ้างมีผลในทันทีต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 28 วันทำงาน หรือตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาเท่านั้น เห็นว่า คดีนี้ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าต้องใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานของประเทศไทยบังคับแก่กรณี ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุผลในการเลิกจ้างว่าผลประกอบการของจำเลยที่ 1 ไม่ดี จึงมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง การเลิกจ้างดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ ที่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 118 และให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 10,973.54 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าชดเชย 65,888 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นั้น ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยโดยใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานของประเทศไทยบังคับแก่กรณีและวินิจฉัยได้ถูกต้องตามหลักการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

            มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.1 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ และต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่โจทก์ทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 และทำสัญญาจ้างแรงงานอีกฉบับลงวันที่ 1 มีนาคม 2555 ตกลงยอมรับการมอบหมายงานตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของจำเลยที่ 1 โดยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนจากจำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 ส่งโจทก์มาทำงาน ณ สถานที่ทำงานของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการหน่วยธุรกิจด้านการขุดเจาะ จำเลยที่ 1 ได้ปรับขึ้นเงินเดือนให้โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายโจทก์ได้รับเดือนละ 8,236 ดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทเวทเธอร์ฟอร์ด สหรัฐอเมริกาเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์โดยตรง แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 แม้โจทก์ทำงาน ณ สถานที่ทำงานของจำเลยที่ 2 ในประเทศไทยก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้มีหน้าที่หลักเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค กำกับดูแลกิจการของสาขาหรือบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศตามวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 การทำงานของโจทก์จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 อันจะถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 นอกจากนี้ยังได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาอีกว่า การที่จำเลยที่ 2 ทำเรื่องขอใบอนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ นำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายของโจทก์ส่งกรมสรรพากรและจ่ายเงินค่าเช่าบ้านให้แก่โจทก์ ก็เป็นการให้ความช่วยเหลือและให้สวัสดิการแก่โจทก์ในด้านต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 นั่นเอง ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์จากการเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.2 ต่อไปว่า ค่าที่พักและค่าพาหนะเป็นค่าจ้างหรือไม่ และค่าจ้างของโจทก์มีจำนวนเท่าใด เห็นว่า สำหรับค่าที่พักอัตราเดือนละ 2,703.54 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายค่าที่พัก เป็นค่าเช่าบ้านให้แก่ผู้ให้เช่าโดยตรง มิได้จ่ายให้โจทก์ก่อน ในลักษณะเหมาจ่าย แล้วให้โจทก์หาที่พักเอาเอง จึงไม่มีลักษณะเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานให้แก่นายจ้าง ไม่ถือเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ส่วนค่าพาหนะที่โจทก์ได้รับในอัตราเดือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ นั้น แม้โจทก์ได้รับเป็นประจำเท่า ๆ กันทุกเดือน โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานใด ๆ ก็ตาม แต่ได้ความว่าเป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง มีลักษณะเป็นสวัสดิการที่นายจ้างจัดหาให้แก่โจทก์ จึงไม่ใช่เงินที่นายจ้างตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ย่อมไม่เป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 เช่นเดียวกัน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าที่พักอัตราเดือนละ 2,703.54 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าพาหนะที่โจทก์ได้รับในอัตราเดือนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่เป็นค่าจ้าง และไม่นำมาคำนวณจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.3 ประการสุดท้ายว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า นอกจากได้ความจากคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยที่ 1 ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2557 โดยผลประกอบการปี 2555 ขาดทุน 18,491,320 ดอลลาร์สิงคโปร์ ปี 2556 ขาดทุน 1,333,992 ดอลลาร์สิงคโปร์ และปี 2557 ขาดทุน 8,076,684 ดอลลาร์สิงคโปร์ ยังได้ความอีกว่าจำเลยที่ 1 ต้องลดค่าใช้จ่ายโดยเลิกจ้างพนักงานบางส่วน เพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ และทยอยเลิกจ้างลูกจ้างไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้เกิดจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำลงเป็นอย่างมาก เป็นผลกระทบต่อธุรกิจของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการอุตสาหกรรมน้ำมันต้องประสบภาวะขาดทุน หลังจากเลิกจ้างโจทก์ในปี 2558 แล้ว ยังคงทยอยเลิกจ้างพนักงานรายอื่น เช่น นายโคลิน บัตเลอร์ นางฟรานซิส อาบีล่า แสดงว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์และพนักงานรายอื่น ๆ ด้วยเหตุความจำเป็นจากสภาวะธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันตกต่ำ เพื่อพยุงฐานะให้อยู่รอดหลังจากประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันมานานถึง 3 ปี โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์หรือเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด เป็นการเลิกจ้างที่มีความจำเป็นและมีเหตุผลสมควรเพียงพอ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์นั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยทุกข้อ

          พิพากษายืน.

 

(ปณิธาน  วิสุทธากร - สถาพร  วงศ์ตระกูลรักษา - ฐานันดร  กิตติวงศากูล)

 

ศาลแรงงานกลาง        นางบุษบัน  ปราการพิลาศ

 

นายอิศเรศ  ปราโมช  ณ  อยุธยา         ผู้ช่วยฯ/ย่อสั้น

นายสุโรจน์  จันทรพิทักษ์                   ผู้พิพากษาฯ ประจำกองผู้ช่วยฯ/ตรวจย่อสั้น/ตรวจย่อยาว

นางนิติรัตน์  ศิระภัสร์บารมี                นิติกร/ย่อยาว

นางสาวมนัสนันท์  อิ่มใจ                   พิมพ์