อุทธรณ์ที่ตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

หมายเลขคดีดำที่ ร.321 - 322/2560              นายประพนธ์  ชนะกิจจานุกิจ กับพวก                  โจทก์

หมายเลขคดีแดงที่ 828 - 829/2560               การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย            จำเลย

 

พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13

 

          การที่โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุนั้น ตามข้อบังคับจำเลยฉบับที่ 20 ว่าด้วยพนักงาน ระบุว่า พนักงานมีสิทธิได้รับเงินเดือนสำหรับวันหยุดและวันลาต่าง ๆ รวมถึงวันลาพักผ่อนประจำปี ในกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโดยพนักงานมิได้มีความผิด ตามข้อ 68 และตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 59 วรรคสอง ระบุว่า การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุเพราะสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ไม่รวมถึงการพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองเกษียณอายุเพราะเหตุมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ตามข้อบังคับจำเลย จึงมิใช่กรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันลาพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ใช้สิทธิตามข้อบังคับของจำเลย

______________________________

 

          คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย

          โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 214,864.65 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 145,047.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

          จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 214,864.65 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 145,047.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 ตุลาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

          จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ตำแหน่งรองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (การเงิน) และให้โจทก์ที่ 2 ตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผนงานจัดกรรมสิทธิ์ ระดับ 11 พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากโจทก์ทั้งสองมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2558 โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีงบประมาณ 2557 และ 2558 จำนวน 45 วัน เป็นเงิน 214,864.65 บาท และโจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ในปีงบประมาณ 2557 และ 2558 จำนวน 41 วัน เป็นเงิน 145,047.06 บาท

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการเกษียณอายุของโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 วรรคสอง ออกโดยอาศัยตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 3 นั้น เป็นการอ้างบทกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาปรับใช้แก่คดีซึ่งไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ดีการที่โจทก์ทั้งสองพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุนั้น ตามข้อบังคับองค์การรถไฟฟ้ามหานคร จำเลย ฉบับที่ 20 ว่าด้วย พนักงาน ข้อ 19 ระบุว่า พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (สิ้นสภาพการเป็นพนักงาน)...(3) มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ (6) เลิกจ้าง และข้อ 63 ของข้อบังคับดังกล่าวซึ่งเป็นข้อบังคับขณะที่โจทก์ทั้งสองเกษียณอายุระบุว่า พนักงานมีสิทธิได้รับเงินเดือนสำหรับวันหยุดและวันลาต่าง ๆ ดังนี้...(6) วันลาพักผ่อนประจำปี และในกรณีที่ รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจำเลย) เลิกจ้างพนักงานโดยพนักงานมิได้มีความผิดตามข้อ 68 ให้ รฟม. จ่ายเงินเดือนแก่พนักงานสำหรับวันลาพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่พนักงานมีสิทธิได้รับตามข้อ 50 (2) และตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ข้อ 59 วรรคสอง ระบุว่า การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ไม่รวมถึงการพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองเกษียณอายุเพราะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ตามข้อบังคับของจำเลย จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันลาพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ใช้สิทธิตามข้อบังคับของจำเลย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสองมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น โดยไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีก

          พิพากษากลับเป็นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง.

 

(สถาพร  วงศ์ตระกูลรักษา - ฐานันดร  กิตติวงศากูล - ปณิธาน  วิสุทธากร)

 

ศาลแรงงานกลาง        นายมนต์ชัย  ชนินทรลีลา

 

นายสุรพัศ  เพ็ชรคง                         ผู้ช่วยฯ/ย่อสั้น

นายสุโรจน์  จันทรพิทักษ์                   ผู้พิพากษาฯ ประจำกองผู้ช่วยฯ/ตรวจย่อสั้น/ตรวจย่อยาว

นางสาวนิติรัตน์  ศิระภัสร์บารมี            นิติกร/ย่อยาว

นางสาวมนัสนันท์  อิ่มใจ                   พิมพ์