คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ  ร้อยตำรวจโท ส.                               โจทก์       

         ที่ วยช 80/2567                               นาง ป. กับพวก                                  จำเลย

 

         โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงโดยอ้างว่า
ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3
ซึ่งเป็นบุตร ในขณะไม่มีสติสัมปชัญญะ ลายมือชื่อในหนังสือสัญญาให้เป็นลายมือชื่อปลอม
ส่วนจำเลย
ทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ได้มาโดยการรับมรดกและให้โดยเสน่หา จำเลยที่ ๑ จึงทำหนังสือสัญญาให้และจดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง
แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้หรือไม่นั้นจะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลไปถึงอำนาจในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าว จึงเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและการจัดการสินสมรส ซึ่งต้องบังคับ
ตาม ป.พ.พ. บรรพ ๕ มาตรา ๑๔๗๐ ถึง ๑๔๗๔
, 1476 และมาตรา ๑๔๘๐ คดีนี้จึงเป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓
มาตรา ๑๐ (๓)

 

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่
25 มีนาคม 2526 มีบุตรด้วยกันสองคน คือ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ระหว่างสมรสโจทก์และจำเลยที่ 1
ได้ที่ดินพิพาท ๔ แปลง โดยบิดามารดาของจำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนให้เป็นสินสมรส แต่โจทก์ยอม
ให้เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 32391 ตำบลห้วยยาง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ที่ดินโฉนดเลขที่ 59991 ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่ดินโฉนดเลขที่ 937
ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)
เลขที่ 1035 ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมื่อปี 2546 จำเลยที่ 1 ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง มีอาการแขนขาข้างซ้ายยกไม่ขึ้น ลิ้นจุกปาก พูดไม่ได้ ต่อมาปี 2562 จำเลยที่ 1 ป่วยติดเตียง จำเลยที่ 2 จึงมารับตัวจำเลยที่ 1 ไปดูแลรักษา โจทก์ไปเยี่ยมจำเลยที่ 1 เป็นประจำ แต่จำเลยที่ 2
ไม่ให้พบและขับไล่โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 32391 แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1035 แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 937 และ 59991 แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขณะทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น จำเลยที่ 1 ป่วยหนักไม่มีสติสัมปชัญญะ และมีการลงลายมือชื่อปลอมของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงจากชื่อของจำเลยที่ 2
และจำเลยที่ 3 กลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1

 

 

 

         จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามฟ้องแม้จำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส แต่เป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้รับมาจากการให้โดยเสน่หาจากบิดามารดาของจำเลยที่ 1 และโดยการรับมรดก ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงจึงถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ต่อมาจำเลยที่ 1
ทำหนังสือสัญญาให้และจดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็น
บุตรชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์แต่อย่างใด ปัจจุบันจำเลยที่ 1 สามารถรับรู้
พูดโต้ตอบ เขียนหนังสือได้มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนทุกประการ การทำนิติกรรมจดทะเบียนการให้
ที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ 1 ไปที่สำนักงานที่ดินลงลายมือชื่อขณะมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ไม่ได้มีการปลอมลายมือชื่อผู้ให้ในสัญญาให้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำ
การตรวจสอบอย่างครบถ้วนแล้วว่าจำเลยที่ 1 มีสติปกติดี โจทก์มิใช่ผู้เสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดระยองเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว
และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๑

         วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่
เห็นว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “คดีครอบครัว” หมายความว่า คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว ดังนั้น คดีที่เกี่ยวด้วยการสมรส สิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา บิดามารดาและบุตรไม่ว่าในทางใด
ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ทั้งหมด คดีที่เกี่ยวด้วยสถานะ
และความสามารถของบุคคลเกี่ยวกับครอบครัวหรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในบรรพ ๑ มาตรา ๒๑ ถึง ๒๘, ๓๒, ๔๓ และ ๔๔ และในบรรพ ๖ มาตรา ๑๖๑๐, ๑๖๑๑, ๑๖๘๗ และ ๑๖๙๒ รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว ย่อมถือเป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชน
และครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓) คดีนี้สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามฟ้อง โดยอ้างว่าที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์
กับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร ในขณะไม่มีสติสัมปชัญญะ ลายมือชื่อ
จำเลยที่ ๑ ในหนังสือสัญญาให้เป็นลายมือชื่อปลอม ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง
เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ได้มาโดยการรับมรดกและให้โดยเสน่หา จำเลยที่ ๑ จึงทำหนังสือสัญญาให้และจดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงแก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการ
จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้หรือไม่นั้น
จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือเป็นสินส่วนตัว
ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลไปถึงอำนาจในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าว จึงเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน
.

 

 

ระหว่างสามีภริยาและการจัดการสินสมรส ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ มาตรา ๑๔๗๐ ถึง ๑๔๗๔, 1476 และมาตรา ๑๔๘๐ คดีนี้จึงเป็นคดีครอบครัว ตามพระราชบัญญัติ
ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓)

         วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว

 

                             วินิจฉัย ณ วันที่ ๑๗ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖7

 

ประกอบ ลีนะเปสนันท์

(นายประกอบ ลีนะเปสนันท์)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

 

 

อุษา จิวะชาติ - ย่อ

สัญชัย ภักดีบุตร - ตรวจ