คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2117/2567 พนักงานอัยการจังหวัดหัวหิน โจทก์
ธนาคาร พ. ผู้ร้อง
นาย ส. หรือ อ. จำเลย
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 30, 44/1
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 165 (1)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๖๕ (๑) เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองบุคคลภายนอกที่จำเลยประสงค์จะขอสินเชื่อเกินกว่าจำนวนสองพันบาท จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลย
ที่ต้องแสดงความสุจริตโดยต้องแจ้งผู้ให้สินเชื่อได้ทราบถึงสถานะของตนเองก่อนที่จะตกลงให้สินเชื่อ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้ร้องเป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหาย
จากการที่จำเลยปกปิดมิได้บอกข้อความจริงให้ทราบก่อนว่าจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่ง
พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จนจำเลยได้รับเงินสินเชื่อ
เพื่อผู้บริโภคไปจากผู้เสียหายเป็นเงิน ๙๕๐,๐๐๐ บาท อันเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖๕ (๑) ในชั้นนี้ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายเนื่องจากการกระทำความผิด
ในข้อกล่าวหาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง ตามที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๔) ประกอบ
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๐ ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้ง
ศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ และเป็นผู้เสียหายที่ถูกกระทำโดยละเมิด ผู้ร้องจึงชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ ได้ด้วยเช่นกัน
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๖, ๒๔, ๑๖๕ และนับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากคดีดังกล่าว
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องทั้งสอง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่
๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๖๕ และขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่น ระหว่างพิจารณา ธนาคาร พ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้อง
ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ และต่อมายื่นคำร้องลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๗
ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย ศาลล้มละลายกลางเห็นว่าผู้ร้อง
มิใช่เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายในคดีที่ลูกหนี้เป็นจำเลยจึงมิใช่ผู้เสียหายในคดีนี้
ให้ยกคำร้องทั้งสองฉบับ แล้วกำหนดให้ดำเนินกระบวนพิจารณานัดสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และยกคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยเหตุที่ผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่ลูกหนี้เป็นจำเลย ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้เสียหายนั้น เป็นการชอบหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากผู้ร้องภายหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มูลหนี้ระหว่างผู้ร้องกับจำเลย
จึงต้องห้ามมิให้ยื่นขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา 94 การที่ผู้ร้อง
ให้สินเชื่อเป็นเงินกู้แก่จำเลยจำนวน 950,000 บาท จึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) และการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินด้วย ผู้ร้องจึงถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ ด้วย เห็นว่า
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๔ บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม…” ซึ่งเห็นได้ว่าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้นั้น มูลแห่งหนี้ต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๖๕ ซึ่งบัญญัติว่า “ในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จนถึงเวลาที่พ้นจากล้มละลาย ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้… (๑) รับสินเชื่อ
จากผู้อื่นมีจำนวนตั้งแต่สองพันบาทขึ้นไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์
หรือล้มละลาย...” ซึ่งเห็นได้ว่าช่วงเวลาที่เกิดมูลแห่งหนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๖๕ นั้น
เป็นคนละช่วงเวลาที่กำหนดให้เจ้าหนี้ทั้งปวงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๔ ดังนั้น มูลหนี้
ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์จนถึงเวลาถูกปลดจากล้มละลายจึงไม่ใช่มูลหนี้ที่อาจนำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ได้แต่อย่างใด ทั้งนี้ ในระหว่างที่จำเลยยังมิได้รับการปลดจากล้มละลาย บทบัญญัติมาตรา ๑๖๕ (๑) เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองบุคคลภายนอกที่จำเลยประสงค์จะขอสินเชื่อเกินกว่าจำนวนสองพันบาท จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องแสดงความสุจริตโดยต้องแจ้งผู้ให้สินเชื่อ
ได้ทราบถึงสถานะของตนเองก่อนที่จะตกลงให้สินเชื่อ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้ร้องเป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยปกปิดมิได้บอกข้อความจริงให้ทราบก่อนว่าจำเลยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จนจำเลยได้รับเงินสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคไปจากผู้เสียหายเป็นเงิน ๙๕๐,๐๐๐ บาท อันเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๖๕ (๑) ในชั้นนี้ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดในข้อกล่าวหาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง
ตามที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๐ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔
และเป็นผู้เสียหายที่ถูกกระทำโดยละเมิด ผู้ร้องจึงชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ ได้ด้วยเช่นกัน ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่ลูกหนี้เป็นจำเลยจึงมิใช่ผู้เสียหาย
ในคดีนี้ และยกคำร้องทั้งสองของผู้ร้องมานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และรับคำร้องขอ
ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องไว้พิจารณา ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ.
(นพร เพชรคุณ - ฐานิต ศิริจันทร์สว่าง - สมจิตร์ ปอพิมาย)
สรายุทธ์ เตชะวุฒิพันธุ์ - ย่อ
ปวีณา แสงสว่าง - ตรวจ