คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1776/2567 นางสาว พ. โจทก์
สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ของลูกค้า ธ.
สาขาบ้านกรวด จำเลย
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49, 54 วรรคหนึ่ง
แม้การสอบสวนจะไม่เป็นไปตามระเบียบของจำเลยอยู่บ้าง แต่จะถือเป็นเหตุว่าการเลิกจ้าง
เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ เพราะการเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้นจะต้อง
พิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างที่แท้จริงว่าได้มีได้เกิดขึ้นหรือไม่ หากมีจึงจะพิจารณาต่อไปว่า
การกระทำนั้นๆ มีเหตุที่สมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
ลำพังการสอบสวนที่ไม่เป็นไปตามระเบียบจึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์
โดยไม่เป็นธรรม
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๙๕๐,๓๒๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 71,274 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดของเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว กับจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 11,760,210 บาท และเงินบำเหน็จ 1,761,995.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่
วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๓ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์
ของโจทก์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การเลิกจ้างโจทก์
ไม่เป็นไปตามระเบียบของจำเลย เนื่องจากตามระเบียบฉบับที่ ๑ ระเบียบว่าด้วยพนักงาน ข้อ 28 กำหนดว่า “การลงโทษไล่ออกและให้ออกนั้น ให้นายกสมาคมฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้น คณะหนึ่งอย่างน้อย 3 คน เพื่อสอบสวนประกอบด้วย ให้คณะกรรมการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายกสมาคมฯ สอบสวน ถ้ามีความจำเป็น ซึ่งจะสอบสวน
ขยายเวลาการสอบสวนออกไปอีก 15 วัน เมื่อกรรมการสอบสวนได้สอบสวน แล้วเสนอเรื่อง
ต่อนายกสมาคมฯ ให้นายกสมาคมฯ ทำเรื่องเข้าปรึกษาที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาเป็นเช่นไรให้นายกสมาคมฯ สั่งไปตามนั้น” แต่จำเลยมิได้
ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนการกระทำผิด ข้อที่กล่าวหาโจทก์ทั้ง ๔ ข้อ ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง
จึงเป็นการจงใจกลั่นแกล้งโจทก์และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เห็นว่า แม้ปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันเป็นยุติว่า ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลย ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ ลงวันที่
22 กุมภาพันธ์ 2566 ระบุเพียงว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ๒ ชุด คือ กรรมการ
ชุดติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเลขที่ประจำตัวสมาชิก และกรรมการชุดติดตามตรวจสอบวาระ
การประชุมการเปลี่ยนแปลงเลขทะเบียนเท่านั้น มิได้ระบุให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาทั้งหมด
ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง หลังจากนั้นตามรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลย
ครั้งที่ 4/๒๕๖๖ ลงวันที่ 20 มีนาคม 2566 นายกสมาคมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณากรณีที่มี
การร้องเรียนพนักงาน โดยได้รับข้อมูลจากอดีตนายกสมาคม เอกสารที่หารือและเอกสารต่าง ๆ
ที่ได้รับแล้วขอให้คณะกรรมการได้แสดงความคิดเห็นกรณีการร้องเรียนการทำงานของพนักงาน
และให้คณะกรรมการลงมติเลิกจ้างหรือให้พนักงานคนใดทำงานต่อ ซึ่งที่ประชุมมีมติสมควรให้โจทก์ออก
๑๑ เสียง งดออกเสียง ๑ เสียง ต่อมานายกสมาคมมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสอบสวนเสนอเรื่องต่อนายกสมาคมอย่างไรเพื่อให้นายกสมาคมทำเรื่องเข้าปรึกษา
ที่ประชุมคณะกรรมการก็ตาม แม้การสอบสวนจะไม่เป็นไปตามระเบียบของจำเลยอยู่บ้าง แต่จะถือเป็นเหตุว่าการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ เพราะการเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมนั้นจะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างที่แท้จริงว่าได้มีได้เกิดขึ้นหรือไม่ หากมีจึงจะพิจารณาต่อไปว่า
การกระทำนั้น ๆ มีเหตุที่สมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
ลำพังการสอบสวนที่ไม่เป็นไปตามระเบียบจึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์
โดยไม่เป็นธรรม ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานภาค ๓ มิได้มีคำสั่งเรียกผู้สอบบัญชีมาเบิกความชี้แจง
การตรวจสอบบัญชีย้อนหลังรวม ๑๑ ปี ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา ๔๕ นอกจากนี้ จำเลยมีพยานเพียงปากเดียว คือ นายธเรศ
นายกสมาคมของจำเลยคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าโจทก์
กระทำการโดยทุจริต นั้น อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐาน
และโต้แย้งการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๓ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้าม
มิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยดำเนินกิจการในรูปแบบของคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้ง
จากที่ประชุมใหญ่ของจำเลย โจทก์ในฐานะพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งและมติของคณะกรรมการจำเลย การซื้อสลากออมทรัพย์ หุ้นสามัญ และพันธบัตรรัฐบาล เกิดจากมติที่ประชุมคณะกรรมการจำเลย ซึ่งกระทำโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ของจำเลย ผลประโยชน์ เงินปันผล หรือดอกเบี้ยตกเป็น
ของจำเลยแต่ผู้เดียว นอกจากนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบข้อบังคับจำเลย หมวด 8 การใช้จ่าย
และการเก็บรักษาเงิน ข้อ ๒๖ นายสุวรรณ นายกสมาคมของจำเลยในขณะนั้นเป็นผู้เสนอขอแก้ไข
โจทก์เป็นเพียงผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะพนักงานบัญชี ไม่มีสิทธิเสนอหรือลงมติ ซึ่งต่อมานายทะเบียน
ก็ได้รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบข้อบังคับจำเลย การปรับขึ้นเงินเดือนของพนักงาน
ด้วยมติที่ประชุมคณะกรรมการจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริต นั้น ศาลแรงงานภาค ๓ ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพนักงานการเงินและบัญชีมานาน ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้างาน
ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการในสำนักงานของจำเลยโดยตรง ย่อมทราบและเข้าใจในกฎระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นอย่างดีว่าสามารถดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของจำเลยได้เพียงใด
โจทก์เป็นผู้เสนอคณะกรรมการและดำเนินการนำเงินของจำเลยไปซื้อสลากออมทรัพย์ หุ้นสามัญ
และพันธบัตรรัฐบาล ในนามจำเลย โดยไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานแสดงหรือแจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการว่าจะมีดอกเบี้ย ผลประโยชน์ตอบแทนอื่น หรือเงินปันผลเข้าบัญชีรายรับของจำเลยหรือไม่ ทั้งการนำเงินของจำเลยที่ใช้ในการบริหารองค์กรไปดำเนินการด้วยวิธีดังกล่าว ถือว่าฝ่าฝืนต่อประกาศกระทรวง
การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง วิธีการจ่ายเงินค่าจัดการศพ หรือค่าจัดการศพ
และสงเคราะห์ครอบครัว การใช้จ่าย และการเก็บรักษาเงินของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ข้อ ๖ นอกจากนี้ โจทก์ยังเป็นผู้เสนอและมีส่วนรู้เห็นกับการดำเนินการแก้ไขระเบียบข้อบังคับของจำเลย
ซึ่งขัดต่อประกาศกระทรวงและพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 เกี่ยวกับการแก้ไขอัตราเงินเดือน ซึ่งต้องผ่านมติอนุมัติในที่ประชุมใหญ่และนำส่งให้นายทะเบียนพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ข้อ 5 แก้ไขเป็นการปรับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาของพนักงาน ให้วางเป็นระเบียบ โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการเท่านั้น ไม่ต้องนำเสนอที่ประชุมใหญ่อนุมัติและไม่ต้องส่งให้นายทะเบียนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการขึ้นอัตราเงินเดือนให้แก่โจทก์ ซึ่งต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการจำเลยได้ประชุมพิจารณาปรับขั้นและกำหนดกรอบอัตราเงินเดือนให้แก่โจทก์และพนักงานอื่นเรื่อยมาหลายครั้ง ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการเป็นการดำเนินการพิจารณาปรับอัตราเงินเดือนโดยมิชอบ
อันเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่า โจทก์เป็นเพียงผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะพนักงานบัญชีไม่มีสิทธิเสนอเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว โจทก์กระทำตามคำสั่ง
และมติคณะกรรมการจำเลยเท่านั้น จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน
ของศาลแรงงานภาค ๓ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒5๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.
(ชุติมา รางชางกูร – สัญชัย ลิ่มไพบูลย์ – นรพัฒน์ สุจิวรกุล)
ชนันท์ชัย ภัทรสกล - ย่อ
สุนทรี วิไลสรการ - ตรวจ