คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1728/2567 นาย ธ. โจทก์
บริษัท น. กับพวก จำเลย
ป.อ. มาตรา 271
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ต้องเป็นการขายของโดยการหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพและปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ
วัตถุประสงค์หลักของบันทึกความร่วมมือระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นการพัฒนา
เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ ไฮบริด โซลิตเสตท ร่วมกัน โดยมีข้อตกลงเรื่องการโอนสิทธิบัตรเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหน้าที่อีกหลายส่วนของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าบันทึกความร่วมมือดังกล่าว
มีวัตถุประสงค์เป็นการขายของอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271
แม้โจทก์จะอุทธรณ์ว่า โจทก์ต้องการซื้อสิทธิบัตรซึ่งถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งจากจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ทางไต่สวนมูลฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิบัตร
เช่นว่านั้นแล้ว ทำให้ไม่อาจพิจารณาได้ว่าสิทธิบัตรหรือของนั้นไม่มีคุณภาพ อันเป็นการหลอกลวงโจทก์หรือไม่
____________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๑, ๘๓ และให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน ๔๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
ไม่รับฟ้องในส่วนแพ่ง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๒๗๑ หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพและปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา ๒๗๑
จึงต้องเป็นการขายของโดยการหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพและปริมาณ
แห่งของนั้นอันเป็นเท็จ แต่ตามบันทึกความร่วมมือที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ นั้น ทั้งสองฝ่ายกำหนดวัตถุประสงค์ของการทำบันทึกข้อตกลงที่ร่วมมือกันในการดำเนินการ พัฒนาผลิตภัณฑ์
ที่เป็นนวัตกรรมด้านพลังงาน ได้แก่ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า แบบไฮบริด โซลิตเสตท จัดจำหน่ายและดำเนินการเผยแพร่ ผลิตภัณฑ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้า พลังงานพิโมกข์ รวมถึง ตั้งแต่การจดสิทธิบัตร ทำแบบ
ทำเครื่องต้นแบบ การถอดเตรียมการ จนไปถึง การจัดจำหน่ายและการบริการหลังการขายทั้งหมด
แบบครบวงจร โดยใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ รวมถึงความสัมพันธ์กับกลุ่มทางวิชาการ
และนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น โดยจำเลยที่ ๒ จากจำเลยที่ ๑ เพื่อให้โจทก์สามารถนำไปใช้ดำเนินธุรกิจ
ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ในธุรกิจพลังงานพิโมกข์ ซึ่งเป็นพลังงานชนิดใหม่ของโลกที่จะมา Disruptive พลังงานสิ้นเปลืองในอนาคตอันใกล้ แม้บันทึกความร่วมมือ ข้อ ๒.๑ (ก) จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่โอนสิทธิบัตร
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า แบบไฮบริด โซลิตเสตท ให้แก่โจทก์ด้วยก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอน
การพัฒนาขั้นตอนหนึ่งในหลาย ๆ ขั้นตอนของข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ ๑ ช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษาโจทก์ทางด้านวิชาการ การผลิต เทคนิค การอบรม และการทำการตลาดให้แก่โจทก์ ตามข้อ ๒.๑ (ข) – (จ) จึงเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์หลักของความข้อตกลงดังกล่าวเป็นการพัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ
ไฮบริด โซลิตเสตท ร่วมกัน โดยมีข้อตกลงการโอนสิทธิบัตรเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหน้าที่อีกหลายส่วน
ของจำเลยที่ ๑ ตามบันทึกความร่วมมือเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าบันทึกความร่วมมือตามฟ้องมีวัตถุประสงค์
เป็นการขายของอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามฟ้อง และแม้โจทก์จะอุทธรณ์ว่า โจทก์ต้องการซื้อสิทธิบัตรซึ่งถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งจากจำเลยที่ ๑ ก็ตาม แต่ทางไต่สวนมูลฟ้องก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยได้รับสิทธิบัตรเช่นว่านั้นแล้ว ทำให้ไม่อาจพิจารณาได้ว่าสิทธิบัตรหรือของนั้น
ไม่มีคุณภาพอันเป็นการหลอกลวงโจทก์หรือไม่ ส่วนที่โจทก์โดยบริษัท ย. นำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปทดสอบ
ที่มหาวิทยาลัย ท. โดยผลการทดสอบไม่เป็นที่พอใจแก่โจทก์ และโจทก์ไม่ได้ชำระค่าที่ปรึกษาให้แก่
จำเลยที่ ๑ ตามบันทึกความร่วมมือนั้น ก็เป็นข้อพิพาททางแพ่งที่โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องไป
ว่ากล่าวกันเองอีกส่วนหนึ่ง ข้อเท็จจริงตามทางการไต่สวนมูลฟ้องยังรับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๑ คดีของโจทก์จึงไม่มีมูล ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
(มนตรี ศิลป์มหาบัณฑิต – สุวิทย์ รัตนสุคนธ์ – รุ่งระวี โสขุมา)
สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ
กลอน รักษา - ตรวจ