คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3117/2567 นาย ส. โจทก์
บริษัท ป. จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 688
ขณะโจทก์ทำหนังสือยินยอมให้หักเงินชำระหนี้ หนี้เงินกู้ระหว่างผู้กู้กับสหกรณ์
ออมทรัพย์ ก. ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว และโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมมีความผูกพันต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ ก. ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ว่าจะเข้าชำระหนี้แทนหากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ การที่โจทก์ทำหนังสือยินยอมดังกล่าวเป็นการสละสิทธิเกี่ยงให้ผู้กู้ชำระหนี้ก่อน ตาม ป.พ.พ มาตรา ๖๘๘ โดยโจทก์ยินยอมชำระหนี้แทนผู้กู้หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ด้วยการให้จำเลยหักเงินเดือน ค่าจ้าง หรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ ก. เป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยได้ และให้หักรวมกับรายการหักอื่น ๆ เกินกว่าหนึ่งในห้าของเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับได้ อันเป็นการให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๓๑ วรรคสอง ดังนี้ เมื่อผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ ก. โจทก์จึงมีหนี้ที่ต้องชำระในฐานะ
ผู้ค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ ก. แล้ว จำเลยจึงมีสิทธิหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้แทนผู้กู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ ก. ตามหนังสือยินยอมดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมทราบในขณะทำหนังสือยินยอมว่าเมื่อผู้กู้ที่โจทก์ค้ำประกันผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องถูกหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดเพื่อชำระหนี้แทน ซึ่งโจทก์สามารถคาดหมายได้ว่าเมื่อหักแล้วเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใด จะเหลือเพียงพอแก่การดำรงชีพได้หรือไม่ การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใด ของโจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวแล้วคงเหลือเงินไม่เพียงพอที่โจทก์สามารถดำรงชีพได้หรือบางเดือนเหลือศูนย์บาท จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง ดังนั้น การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ชำระหนี้ในส่วนของความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ที่ผิดนัดให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ ก. ซึ่งบางเดือนเงินเดือนค่าจ้างคงเหลือศูนย์บาท จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
(พงษ์ธร จันทร์อุดม - จำแลง กุลเจริญ - ธวัชชัย รัตนเหลี่ยม)
กานต์พิชาณัช ตัญจพัฒน์กุล - ย่อ
อิสรา วรรณสวาท - ตรวจ
(คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 993/2565)