คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3306/2567                     นางสาว พ.                                 โจทก์

                                                                         บริษัท ท.                                จำเลย

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67, 118, 119

                    ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดโทษสำหรับพนักงานที่กระทำผิดวินัยไว้ทั้งสิ้นเจ็ดประการ  โดยไม่มีเรื่องการลงโทษปรับเงินการที่โจทก์ลงโทษปรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชานั้นเนื่องจากโจทก์ได้ประชุมพนักงานขายแล้วมีมติให้ลงโทษปรับเงินพนักงานที่กระทำความผิด
ซึ่งเป็นโทษที่ไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นการกระทำไปโดยพลการ
จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย  แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำเงินของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปรับมาได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์หรือบุคคลอื่น ทั้งพนักงานที่ถูกลงโทษปรับเงินนั้นได้ปฏิบัติงานบกพร่องจริง การลงโทษปรับเงินครั้งละ 300 บาท แสดงว่าโจทก์ต้องการให้พนักงานปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย 
การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง  เมื่อจำเลย
เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อนจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) และเมื่อโจทก์ยังคงเหลือวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง  จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนให้แก่โจทก์ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง

 

                                           (เสถียร ศรีทองชัย - จำแลง กุลเจริญ - บดินทร์ ตรีรานุรัตน์)

 

                                                                                                      กานต์พิชาณัช ตัญจพัฒน์กุล - ย่อ

                                                                                                                          อิสรา วรรณสวาท - ตรวจ

                                                                                       (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1610/2564)