คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3969 - 3975/2567      นาย ธ. กับพวก                               โจทก์

                                                                   บริษัท อ.                                      จำเลย

                                                                     

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา 5, ๒๔ วรรคหนึ่ง

 

         สัญญาจ้างแรงงานที่มีข้อตกลงให้ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานทุกวันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่
ขณะทำสัญญาจ้างแรงงาน เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้นายจ้างต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างก่อน
เป็นคราวๆ ไปก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาในการทำงาน ขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔1 มาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง จึงตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยส่งโจทก์ทั้งเจ็ดไปทำงานประจำแท่นฐานการผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติกับบริษัท ช. ซึ่งได้กำหนดเวลาทำงานปกติให้ทำงานเป็นกะ กะละ ๑๒ ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นการกำหนดเวลาการทำงานที่สอดคล้องกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543) ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งได้กำหนดให้งานในกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม รวมตลอดถึงงานซ่อมบำรุง และงานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับงานดังกล่าว เฉพาะที่ทำในแปลงสำรวจในพื้นที่ผลิต
ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาทำงานปกติโดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของการทำงานแต่วันหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน
สี่สิบแปดชั่วโมง และโจทก์ทั้งเจ็ดก็ตกลงทำงานตามที่บริษัท ช. กำหนดไว้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ ๑๒ ชั่วโมง ไม่ใช่มีเวลาทำงานในวันปกติวันละ ๘ ชั่วโมง
และมีเวลาทำงานล่วงเวลาในวันทำงานวันละ ๔ ชั่วโมง ตามที่ระบุในสัญญาจ้างแรงงาน
พร้อมเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ทั้งเจ็ด ดังนั้นเงินที่โจทก์ทั้งเจ็ดได้รับจาก
การทำงานในเวลาการทำงานปกติวันละ ๑๒ ชั่วโมง จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวัน เป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔1 มาตรา ๕ ที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง โดยไม่คำนึงว่าจำเลยจะเรียกเงินที่จ่ายให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดในช่วงระหว่างการทำงาน
๔ ชั่วโมงสุดท้ายของวันว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ก็ตาม

(พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น - จำแลง กุลเจริญ - อนันต์ คงบริรักษ์)

 ณัฐธนา เลิศอริยานันท์ - ย่อ

 สุทจิ์ธิฎา สุทธิพงศ์คณาสัย - ตรวจ

(คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 962 – 968/2565)