คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ วทป 33/2560  

                                      บริษัทดรีม เรคคอร์ด จํากัด                                    โจทก์

                                      นายคฑาวุธ ทองไทย                                                  จำเลย

 

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๓), ๙

 

         โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในผลงานเพลงทั้งหมดตามฟ้อง โดยยินยอมให้จําเลยนําเพลงดังกล่าวไปขับร้อง บรรเลงดนตรี รับจ้างแสดงดนตรีได้ภายในกําหนด และจําเลยตกลง
แบ่งค่าจ้างแสดงดนตรีให้แก่โจทก์ แต่ห้ามจําเลยบันทึกหรืออนุญาตให้ผู้อื่นบันทึกทําซ้ำหรือดัดแปลง การแสดงดนตรีออกจําหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน เมื่อพ้นกําหนดเวลาจําเลยไม่ปฏิบัติ
ตามข้อตกลง ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จําเลยต่อสู้ว่าเนื้อเพลงตามฟ้องไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ จําเลยได้รับอนุญาตจากครูเพลงแล้ว ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาล
ในคดีตามฟ้องสิ้นผลบังคับไปแล้ว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยถึงความเป็น
เจ้าของลิขสิทธิ์ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเพลงที่พิพาท การละเมิดลิขสิทธิ์ และค่าเสียหาย
จากการละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาตามฟ้องว่ายังคงมีผลผูกพันโจทก์กับจําเลยให้ต้องปฏิบัติต่อกันหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์หรือสัญญาอนุญาต
ให้ใช้สิทธิที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามบทบัญญัติ มาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

_____________________________

         โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในผลงานเพลงต่าง ๆ รวม ๕ อัลบั้ม อัลบั้มละ ๑๐ เพลง ต่อมาโจทก์ตกลงกับจําเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๙๕๖/๒๕๕๔ ของศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลางตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ว่า จําเลยสามารถนําผลงานเพลงทั้งห้าอัลบั้มไปขับร้อง บรรเลงดนตรี รับจ้างแสดงดนตรีในชื่อวงดนตรี
มาลีฮวนน่า มีกําหนด ๒ ปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ เว้นแต่
ฝ่ายโจทก์และจําเลยจะตกลงกันใหม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยจําเลยตกลงแบ่งค่าจ้างแสดงดนตรีให้แก่โจทก์ครั้งละ 6,000 บาท แต่จําเลยจะไม่ทําการบันทึกหรืออนุญาตให้ผู้อื่นบันทึก ทําซ้ำ หรือดัดแปลงการแสดงของจําเลยออกจําหน่ายหรือเผยแพร่ต่อประชาชน ฯลฯ แล้วโจทก์ยินยอมถอนฟ้องจําเลย
ศาลอนุญาตและจําหน่ายคดีจากสารบบความ แต่เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาดังกล่าว จําเลยยังคงนําเนื้อร้องและทํานองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปขับร้องในสถานที่ต่าง ๆ ตลอดเวลาตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๐ รวม ๕๒ ครั้ง ด้วยการบันทึก อนุญาตให้ผู้อื่นบันทึก ทําซ้ำ หรือดัดแปลงบันทึกการแสดงเพื่อจําหน่ายแก่ประชาชนหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้มีคําสั่งให้จําเลยหยุดนําผลงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้องไปขับร้องในสถานที่ต่าง ๆ
หยุดบันทึกหรืออนุญาตให้ผู้อื่นบันทึกด้วยการทําซ้ำหรือดัดแปลงการแสดง เพื่อออกจําหน่าย
แก่ประชาชนหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน กับให้จําเลยชําระเงิน 6,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์

         จําเลยให้การและแก้ไขคําให้การว่า คําฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เนื้อเพลงตามฟ้องไม่ใช่ลิขสิทธิ์
ของโจทก์ ผลงานเพลงในอัลบั้มชุดที่ ๑ ถึงชุดที่ ๓ ที่บันทึกเสียงเป็นของบริษัทมายด์สโตน จํากัด
ส่วนอัลบั้มชุดที่ ๔ เป็นสิทธิร่วมกันของโจทก์กับจําเลย โดยต่างมีสิทธิสามารถนําไปเผยแพร่หรือขับร้องต่อสาธารณชนได้ นอกจากนี้เพลงอื่น ๆ ทุกเพลง จําเลยได้รับอนุญาตทั้งทางวาจาและเอกสารจากครูเพลง ทั้งหมดโดยชอบธรรมแล้ว ยกเว้นเพลงที่นายสมพงศ์ เป็นผู้ประพันธ์เท่านั้น ข้อตกลงตามฟ้อง สิ้นผลไปแล้ว และไม่ใช่คําพิพากษาตามยอม โจทก์ไม่อาจขอศาลออกคําบังคับจําเลยได้ โจทก์ไม่ใช่ ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจําเลย คดีมูลละเมิดตามฟ้องไม่ได้เกิดในเขตอํานาจศาลแพ่ง โจทก์ไม่มีสิทธินําคดีมาฟ้องจําเลยต่อศาลแพ่งขอให้ยกฟ้อง

         ในชั้นชี้สองสถาน ศาลแพ่งเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙

         พิเคราะห์แล้ว กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
ตามมาตรา ๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธี พิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ เห็นว่า
โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในผลงานเพลงทั้งหมดตามฟ้อง โดยยินยอมให้จําเลย
นําเพลงดังกล่าวไปขับร้อง บรรเลงดนตรีรับจ้างแสดงดนตรีได้ภายในกําหนด และจําเลยตกลงแบ่งค่าจ้างแสดงดนตรีให้แก่โจทก์ครั้งละ 6,000 บาท แต่ห้ามจําเลยบันทึกหรืออนุญาตให้ผู้อื่นบันทึกทําซ้ำ
หรือดัดแปลงการแสดงดนตรีออกจําหน่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน เมื่อพ้นกําหนดเวลาจําเลย
ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ข้อตกลงจําเลยต่อสู้ว่าเนื้อเพลงตามฟ้องไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ จําเลยได้รับอนุญาตจากครูเพลงแล้ว ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณา
ของศาลในคดีตามฟ้องสิ้นผลบังคับไปแล้ว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเพลงที่พิพาท การละเมิดลิขสิทธิ์ และค่าเสียหายจากการละเมิด
ลิขสิทธ์ ตลอดจนข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาตามฟ้องว่ายังคงมีผลผูกพันโจทก์กับจําเลย
ให้ต้องปฏิบัติต่อกันหรือไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่อยู่
ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามบทบัญญัติ มาตรา ๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณา คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

 

วินิจฉัย ณ วัน 12 เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

 

เมทินี ชโลธร

(นางเมทินี ชโลธร)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ