คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ วทป 58/2560  

                                      บริษัทสยามเมดิคอลดีไวซ์ จำกัด                                    โจทก์

                                      บริษัทดีเอชแอล เอ็กซ์เพรสอินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด  จำเลย

 

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (5), ๙

 

         โจทก์กล่าวอ้างในคําฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างจําเลยให้ขนส่งสินค้าจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทย รวมทั้งดําเนินการพิธีการทางศุลกากรให้แก่โจทก์ด้วย โดยจําเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาและส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว แต่จําเลยไม่คืนเอกสารที่โจทก์มอบให้แก่จําเลยเพื่อไปดําเนินการพิธีการทางศุลกากร อันเป็นการทําละเมิด ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจําเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์เพิ่งทวงถามภายหลังจากที่หนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์ของโจทก์หมดอายุแล้ว และหลังจากได้รับการทวงถาม จําเลยก็คืนเอกสารให้แก่โจทก์แล้ว จําเลยจึงไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทําให้โจทก์ได้รับความเสียหายและให้การต่อสู้ด้วยว่า ในใบตราส่งสินค้าทางอากาศระบุไว้ชัดเจนว่า ความรับผิดของจําเลยจํากัดเฉพาะต่อความสูญหายและความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงและจํากัดค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิน ๒๕ เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม คดีจึงมีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยด้วยว่า มูลเหตุที่โจทก์กล่าวอ้างให้จําเลยต้องรับผิด
อยู่ในบังคับตามสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องหรือไม่และหากจําเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จําเลยจะจํากัดความรับผิดตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้าทางอากาศได้หรือไม่ เพียงใด เมื่อสัญญาขนส่งสินค้า
ระหว่างโจทก์และจําเลยมีลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทยจึงเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ ดังนั้น คดีนี้ย่อมเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๕)

 

______________________________

 

            โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๙ โจทก์สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทอาร์ เค อินสตรูเมนท์เต้ จํากัด สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีโดยให้จําเลยเป็นตัวแทนในการนําเข้าสินค้าและผ่านพิธีการทางศุลกากร โจทก์มอบเอกสาร ได้แก่ หนังสือรับรองบริษัทโจทก์ ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบจดทะเบียนสถานประกอบการ นําเข้าเครื่องมือแพทย์ หนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์ คําแปลสินค้ารายการตามใบส่งของ และหนังสือมอบอํานาจ ให้แก่จําเลยเพื่อให้จําเลยดําเนินการนําเข้าสินค้าและผ่านพิธีการทางศุลกากร จําเลยดําเนินการและส่งมอบสินค้าให้โจทก์เรียบร้อยแล้วในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๙ จําเลยต้องส่งมอบ ใบจดทะเบียนสถานประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์ หนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์
ใบแจ้งหนี้ ใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มคืนโจทก์ แต่จําเลย ไม่นําส่งเอกสารดังกล่าวคืนโจทก์ โจทก์ติดตามทวงถามหลายครั้ง โดยเฉพาะหนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์ซึ่งใกล้จะหมดอายุ เนื่องจากหนังสือดังกล่าวเป็นเอกสารที่องค์การอาหารและยาออกให้โจทก์เพื่อแสดงว่ารายการสินค้าชนิดใดอนุญาตให้นําเข้ามาในราชอาณาจักรและเป็นเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้แจ้งในการนําเข้าสินค้าผ่านพิธีการทางศุลกากรทุกครั้งที่มีการนําเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากหนังสือดังกล่าวหมดอายุมีผลทําให้ไม่สามารถผ่านพิธีการทางศุลกากรได้ และต้องไปดําเนินการขออนุญาตใหม่ทั้งหมดซึ่งยุ่งยาก ใช้เวลานาน และต้องเสียค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงกว่าเดิม แต่จําเลยไม่คืน เอกสารดังกล่าวให้โจทก์จนหนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์หมดอายุในวันที่
๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ ทําให้โจทก์ไม่สามารถนําหนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์ไปใช้ดําเนินพิธีการทางศุลกากร และไม่สามารถให้คู่ค้าส่งสินค้าที่ค้างส่งทั้งหมดให้กับโจทก์ได้ โจทก์ต้องทําหนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์ใหม่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนใบเสร็จรับเงินและใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ทวงถามจากจําเลยหลายครั้งเพื่อที่โจทก์จะได้จัดทําบัญชีและรายงานภาษีแก่กรมสรรพากร ซึ่งหากไม่ได้จัดทําโจทก์จะมีความผิด
ตามกฎหมายและถูกกรมสรรพากรปรับ แต่จําเลยเพิกเฉย ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ จําเลย
ส่งใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรคืนให้แก่โจทก์ และวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ จําเลยส่งหนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์คืนให้แก่โจทก์ แต่ยังขาดใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม การกระทําของจําเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน ๑๑๓,๖๔๐,๙๒๙.๙๐ บาท ขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน๑๑๓,๖๔๐,๙๒๙.๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันละเมิด
(๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙) เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์

         จําเลยให้การว่า โจทก์ได้ใช้บริการของจําเลยในการนําเข้าสินค้าเครื่องมือแพทย์ตามฟ้อง
ซึ่งเป็นการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทย โจทก์มอบหมายให้จําเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ในการดําเนินพิธีการทางศุลกากรขาเข้าสินค้า โดยโจทก์ มอบเอกสารให้จําเลยเพื่อใช้ประกอบการดําเนินการหลายรายการตามฟ้อง แต่เอกสารที่เป็นต้นฉบับเอกสารมีเพียงฉบับเดียว คือ หนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ออกโดยสํานักงาน คณะกรรมการอาหารและยา ส่วนหนังสือรับรองบริษัทโจทก์ ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และใบจดทะเบียน

สถานประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์เป็นเพียงสําเนาเอกสาร และสําเนาเอกสารดังกล่าวต้องยื่นให้กับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรทั้งหมด ในทางประเพณีปฏิบัติ จําเลยจะเก็บเอกสารต้นฉบับที่ได้รับจากลูกค้าไว้ไม่ได้คืนให้ลูกค้าทันที เพื่อเป็นการอํานวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการดําเนินพิธีการ
ทางศุลกากรขาเข้าสินค้าในครั้งถัดไป หากลูกค้าประสงค์จะขอเอกสารต้นฉบับคืน ลูกค้าจะแจ้งให้จําเลยทราบและจําเลยจะคืนต้นฉบับเอกสารให้โดยไม่ชักช้า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จําเลยคืนหนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ โดยก่อนหน้านั้นโจทก์ไม่เคยแจ้งให้จําเลยคืนแต่อย่างใด เมื่อจําเลยได้รับการทวงถามจากโจทก์ จําเลยได้คืนเอกสารให้โจทก์แล้วในวันที่
๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๙ โจทก์ทราบดีว่าหนังสือดังกล่าวจะสิ้นอายุในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ แต่โจทก์
ไม่ติดตามขวนขวายเพื่อขอรับหนังสือดังกล่าวคืนจากจําเลย จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง ส่วนต้นฉบับใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรและสําเนาใบขนส่งสินค้าขาเข้าได้ส่งไปที่สํานักงานสาขา
ของจําเลยที่จังหวัดเชียงใหม่ตามที่อยู่ของผู้รับใบตราส่ง แต่โจทก์ติดต่อขอรับสินค้าที่กรุงเทพมหานครแทน ทําให้ไม่สามารถส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้โจทก์ได้ในขณะที่โจทก์มารับมอบสินค้าที่กรุงเทพมหานคร
ซึ่งต่อมาจําเลยได้ส่งมอบเอกสารดังกล่าวคืนโจทก์แล้วในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ จําเลยจึงไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจําเลย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจริงและสูงเกินความเป็นจริง ข้อกําหนดและเงื่อนไขของสัญญาขนส่งที่ระบุในใบตราส่งสินค้าทางอากาศระบุไว้ชัดเจนว่าความรับผิดของจําเลยจํากัดเฉพาะต่อความสูญหายและความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรง และจํากัดค่าเสียหาย
ที่แท้จริงไม่เกิน ๒๕ เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

         ในวันนัดพิจารณา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้ว เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจ พิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณา

พิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙

         พิเคราะห์แล้ว กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศอันอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๕) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างในคําฟ้องว่า โจทก์ว่าจ้างจําเลยให้ขนส่งสินค้าจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทย รวมทั้งดําเนินการพิธีการทางศุลกากรให้แก่โจทก์ด้วย โดยจําเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาและส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว แต่จําเลยไม่คืนเอกสารที่โจทก์มอบให้แก่จําเลยเพื่อไปดําเนินการพิธีการทางศุลกากร คือ ใบจดทะเบียนสถานประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์ หนังสือรับรองประกอบการนําเข้าเครื่องมือแพทย์ ใบแจ้งหนี้ ใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นการทําละเมิด ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจําเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จําเลยคืนเอกสารให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่หนังสือรับรองประกอบการนําเข้า เครื่องมือแพทย์ของโจทก์หมดอายุแล้ว และหลังจากได้รับการทวงถาม จําเลยก็คืนเอกสารให้แก่โจทก์แล้ว จําเลยจึงไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทําให้โจทก์ได้รับความเสียหายและให้การต่อสู้ด้วยว่า ข้อกําหนด และเงื่อนไขของสัญญาขนส่งระหว่างโจทก์และจําเลยในใบตราส่งสินค้าทางอากาศระบุไว้ชัดเจนว่า
ความรับผิดของจําเลยจํากัดเฉพาะต่อความสูญหายและความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรง และจํากัดค่าเสียหายที่แท้จริงไม่เกิน ๒๕ เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม คดีจึงมีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยด้วยว่า มูลเหตุที่โจทก์กล่าวอ้างให้จําเลยต้องรับผิดอยู่ในบังคับตามสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องหรือไม่ และหากจําเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จําเลยจะจํากัดความรับผิดตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งสินค้าทางอากาศได้หรือไม่ เพียงใด เมื่อสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างโจทก์และจําเลยมีลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมายังประเทศไทย จึงเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ ดังนั้น คดีนี้ย่อมเป็นคดีแพ่ง
ที่เกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๕)

 

 

วินิจฉัย ณ วัน 19 เดือน ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

 

เมทินี ชโลธร

(นางเมทินี ชโลธร)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ