คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ วทป 40/2560 

                                      บริษัทเตชูไบโอ จำกัด                                               โจทก์

                                      บริษัทชูการ์ แอนด์ ดูการ์ จำกัด กับพวก                           จำเลย

 

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (5), ๙

 

         โจทก์กล่าวอ้างในคําฟ้องแต่แรกว่า จําเลยที่ ๑ โดยจําเลยที่ ๒ เสนอขายสินค้าแก่โจทก์
เป็นเงิน ๙,๗๑๕.๔88 ดอลลาร์สหรัฐ และจําเลยที่ ๑ จะส่งสินค้าให้ภายใน ๔ ถึง 6 สัปดาห์ โจทก์จึงได้ โอนเงินจํานวนดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ของจําเลยที่ ๑ หลังจากโจทก์ชําระราคาแล้ว จําเลยที่ ๑ ไม่ส่งสินค้าตามที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์ และจําเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดหลอกลวงโจทก์ ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกันชําระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนจําเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จําเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันละเมิดต่อโจทก์อันเป็นหนี้
มูลละเมิด แต่เป็นมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ ซึ่งนายจัง ฮุน คิม ตัวแทนโจทก์
ให้จําเลยที่ ๒ นําเงินค่าซื้อสินค้าไปร่วมลงทุนกับจําเลยที่ ๒ เพื่อขยายกิจการบริษัทจําเลยที่ ๑ ดังนี้ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างมาในคําฟ้องว่าจําเลยทั้งสองร่วมกันทําละเมิดต่อโจทก์ แต่เมื่อคดีตามคําฟ้องและคําให้การของจําเลยทั้งสอง ยังมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ ๑ อันเนื่องมาจากการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายระหว่างประเทศที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามบทบัญญัติมาตรา ๗ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

 

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (ประเทศเกาหลีใต้) จําเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศไทย เมื่อระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ จําเลยที่ ๒ กรรมการของจําเลยที่ ๑ เสนอขายสินค้าให้แก่โจทก์หลายรายการเป็นเงิน ๙,๗๑๕.๔๘8 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์ตกลงซื้อสินค้าตามที่จําเลยที่ ๒ เสนอขายและโอนเงินจํานวนดังกล่าว จากบัญชีธนาคารของโจทก์ในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ของจําเลยที่ ๑ ตามใบเสนอขายสินค้า ซึ่งจําเลยที่ ๑ จะจัดส่งสินค้าให้แก่โจทก์ภายใน ๔ ถึง 6 สัปดาห์ หลังจากโจทก์ชําระเงินเรียบร้อยแล้ว จนล่วงเลยกําหนดจัดส่งสินค้า ต่อมาเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ จําเลยที่ ๑ โดยจําเลยที่ ๒ มีหนังสือ
ถึงโจทก์แจ้งว่าจะปิดกิจการในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ ให้โจทก์ยืนยันยอดหนี้ค้างชําระ แต่ปรากฏว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ นายจัง ฮุน คิม ตัวแทนโจทก์ ซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท
อินฟินิท เพ็ท โซลูชั่น จํากัด เช่นเดียวกับจําเลยที่ ๒ แจ้งโจทก์ว่าจําเลยที่ ๒ ปลอมเอกสารและหลอกลวงกรรมการและผู้ถือหุ้นโอนเงินค่าหุ้นของบริษัทดังกล่าว นอกจากนั้นเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ โจทก์ตรวจพบว่าไม่มีการทําธุรกรรมการโอนเงินของจําเลยที่ ๑ กับธนาคารที่จําเลยที่ 1 เปิดไว้ และไม่พบบริษัทจําเลยที่ ๑  ณ ที่ตั้งสํานักงานตามหนังสือรับรองกลับปรากฏเป็นที่ตั้งของบริษัทอื่น จําเลยที่ ๒
เปิดบริษัทจําเลยที่ ๑ ไว้เพื่อใช้เป็นวิธีการหลอกลวงผู้อื่นในการซื้อขายสินค้ารวมทั้งโจทก์ด้วย จําเลยทั้งสองมีเจตนาร่วมกันมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่ส่งสินค้ามาให้ การเสนอขายสินค้าจึงเป็นเพียงวิธีการหลอกลวงให้โจทก์โอนเงินไปให้เท่านั้น จึงเป็นการร่วมกันกระทําละเมิดต่อโจทก์ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน ๓๙๔,๔๐๖.๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๕๐,๒๙๑.๓๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์

         จําเลยทั้งสองให้การว่า จําเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมกันกระทําละเมิดต่อโจทก์ ไม่มีมูลหนี้ละเมิด
ที่ต้องร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้อง แต่มีหนี้เริ่มต้นมาจากเมื่อวันที่
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ จําเลยที่ ๑ เสนอขายสินค้าประเภทอุปกรณ์ของสัตว์เลี้ยงให้แก่โจทก์ผ่าน
นายจัง ฮุน คิม ตัวแทนโจทก์ แล้วโจทก์ตอบรับคําเสนอของจําเลยที่ ๑ โดยสั่งซื้อสินค้าดังกล่าว
รวม ๑๗,๐๑๓ รายการ เป็นเงิน 9,๗๑๕.๔๘8 ดอลลาร์สหรัฐ และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ชําระค่าสินค้าโดยโอนเงินจากบัญชี ธนาคารโจทก์ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมายังบัญชีธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ของจําเลยที่ ๑ โจทก์บิดเบือนข้อเท็จจริงในสภาพแห่งข้อหาและคําขอบังคับ เป็นเรื่องการผิดสัญญา
ซื้อขายระหว่างประเทศ ไม่มีมูลหนี้ละเมิดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง จําเลยที่ ๑ มีภูมิลําเนาตามหนังสือรับรองจริง ต่อมาธุรกิจของจําเลยที่ ๑ ดีขึ้นจึงได้ย้ายสถานที่ประกอบการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ๒๕๕๘ ซึ่งตัวแทนโจทก์ก็ทราบดี ก่อนหน้านี้โจทก์เป็นผู้ซื้อสินค้าจากจําเลยที่ ๑ เพื่อไปจําหน่ายที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ต่อมาเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ ตัวแทนโจทก์ตกลงกับจําเลยที่ ๒ จะร่วมลงทุน และจัดตั้งบริษัทอินฟินิท เพ็ท โซลูชั่น (ประเทศไทย) จํากัด
ก่อนจดทะเบียนบริษัทตัวแทนโจทก์แจ้งจําเลยที่ ๒ ให้นําเงิน ๙,๗๑๕.๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ ที่โอนเป็น
ค่าซื้อสินค้าตามฟ้อง มาเป็นเงินลงทุนในการเปิดบริษัท จําเลยที่ ๒ จึงมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจําเลยที่ ๑ ปิดกิจการ ต่อมาวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙ จําเลยที่ ๒ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทดังกล่าวโดยใช้สถานที่ตั้ง
ณ ที่เดียวกันกับสถานประกอบกิจการของจําเลยที่ ๑ ภายหลังเกิดมีปัญหาภายในบริษัทโจทก์จึงได้มาฟ้องจําเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ และคําฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

         ในชั้นชี้สองสถาน ศาลแพ่งธนบุรีเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษา
ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙

         พิเคราะห์แล้ว กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายระหว่างประเทศตามมาตรา ๗ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ เห็นว่า
โจทก์กล่าวอ้าง ในคําฟ้องแต่แรกว่า จําเลยที่ ๑ โดยจําเลยที่ ๒ เสนอขายสินค้าแก่โจทก์ (Proform Invoice) เป็นเงิน ๙,๗๑๕.๔๘8 ดอลลาร์สหรัฐ และจําเลยที่ ๑ จะส่งสินค้าให้ภายใน ๔ ถึง 6 สัปดาห์ หลังจากโจทก์ชําระราคาแล้ว โจทก์จึงได้สั่งซื้อสินค้า (Purchase Order) และโอนเงินจํานวนดังกล่าวจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ของจําเลยที่ ๑ แต่ล่วงเลยกําหนดเวลาแล้ว จําเลยที่ ๑ ไม่ส่งสินค้าตามที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์ และจําเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดหลอกลวงโจทก์ ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกันชําระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ส่วนจําเลยทั้งสอง
ให้การต่อสู้ว่า โจทก์บิดเบือนข้อเท็จจริง จําเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันละเมิดต่อโจทก์อันเป็นหนี้มูลละเมิด แต่เป็นมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศรวม ๙,๗๑๕.๔๘๘ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนายจัง ฮุน คิม ตัวแทนโจทก์ให้จําเลยที่ ๒ นําเงินค่าซื้อสินค้าไปร่วมลงทุนกับจําเลยที่ ๒ เพื่อขยายกิจการบริษัทจําเลยที่ ๑ โดยเปิดบริษัทใหม่ในประเทศไทย ณ สถานที่ตั้งเดียวกัน ซึ่งมีจําเลยที่ ๒ และตัวแทนโจทก์เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น แล้วปิดกิจการบริษัทจําเลยที่ ๑ ไป โจทก์โดยตัวแทนโจทก์ทราบเรื่องนี้ดี ดังนี้ แม้โจทก์
จะกล่าวอ้างมาในคําฟ้องว่าจําเลยทั้งสองร่วมกันทําละเมิดต่อโจทก์ แต่เมื่อคดีตามคําฟ้องและคําให้การของจําเลยทั้งสอง ยังมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ ๑ อันเนื่องมาจาก
การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายระหว่างประเทศ
ที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามบทบัญญัติมาตรา ๗ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

 

 

วินิจฉัย ณ วัน 4 เดือน สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

 

เมทินี ชโลธร

(นางเมทินี ชโลธร)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ