คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ วทป 30/2560  

                                             บริษัทออโต้บาห์น อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด                 โจทก์       

                                             นายพันวศิน วิไลแก้ว กับพวก                                  จำเลย

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา 7 (5), 9

         โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์กับจําเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยมีจําเลยที่ ๕ เป็นตัวแทนในการเป็นผู้รับตราส่ง รับมอบรถยนต์จากท่าเรือ และเก็บรักษารถยนต์ไว้ ณ คลังสินค้า ทัณฑ์บน จําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ผิดสัญญาไม่ชําระราคารถยนต์แล้วนํารถยนต์ทั้งหมดที่ยังไม่ชําระราคาออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน โจทก์จึงฟ้องเรียกทรัพย์คืนและเรียกให้จําเลยทั้งหกชําระค่าปรับ ค่าขนส่งและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เมื่อจําเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ให้การปฏิเสธความรับผิด และจําเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคําให้การคดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จําเลยทั้งหกต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด กรณีจึงเป็นข้อโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับหนี้อันเกิดจากสัญญาซื้อขายสินค้าและสัญญาแต่งตั้งตัวแทนในการเก็บรักษาและครอบครองรถยนต์แล้วมีการปฏิบัติผิดสัญญา อันจะต้องพิจารณาถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายและข้อตกลงที่เกี่ยวเนื่อง
กับสัญญาซื้อขายนั้นเป็นสําคัญ เมื่อสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่ผู้ขายต้องส่งสินค้าจาก
ประเทศอังกฤษมาให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเข้าลักษณะของ
สัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ
และนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ตามมาตรา ๗ (๕) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

_____________________________

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคําฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด ตามกฎหมายของ
หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน จําเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด มีจําเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔
เป็นกรรมการผู้มีอํานาจ จําเลยที่ ๕ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด มีจําเลยที่ 6 เป็นกรรมการ
ผู้มีอํานาจ เมื่อประมาณปี ๒๕๕๑ จําเลยที่ ๑ ติดต่อนายแลชแมน กรรมการผู้มีอํานาจของโจทก์ ซื้อรถยนต์ใหม่จากประเทศอังกฤษเพื่อนําเข้ามาขายในประเทศไทย โจทก์และจําเลยที่ ๑ ซื้อขายรถยนต์กันหลายครั้ง มีการส่งมอบรถยนต์และชําระราคาเรียบร้อยทุกครั้ง จนช่วงกลางปี ๒๕๕๕ จําเลยที่ ๑
ขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการซื้อขายและการชําระเงิน โดยจําเลยที่ ๑ เสนอให้มีตัวแทนที่กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับตราส่ง รับมอบรถยนต์จากท่าเรือ และจัดเก็บรถยนต์ไว้ ณ คลังสินค้าทัณฑ์บนโดยให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชําระราคารถยนต์ครบถ้วน และโจทก์เป็นผู้แจ้งคําสั่งมายังตัวแทนให้ปล่อยรถยนต์ให้แก่จําเลยที่ ๑ ในการดําเนินการดังกล่าวจําเลยที่ ๑ จะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมการให้บริการของตัวแทน จําเลยที่ ๑ แนะนําให้นายและแมนรู้จักกับตัวแทนของจําเลยที่ ๕
ซึ่งเป็นผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนและจะดําเนินการเป็นตัวแทนครอบครองและเก็บรักษารถยนต์ หลังจากนั้นจําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันสั่งซื้อรถยนต์ใหม่จากโจทก์ โดยให้จําเลยที่ ๕ เป็นผู้รับตราส่ง
.

 

และจัดเก็บรักษารถยนต์ตาม เงื่อนไขที่ตกลงกัน หลังจากเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ จําเลยที่ ๑ และที่ ๒ เริ่มชําระเงินล่าช้า นายแลชแมน จึงเดินทางมาประเทศไทยเพื่อพบจําเลยที่ ๑ เกี่ยวกับการชําระเงินล่าช้า จําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชําระเงินเพียงบางส่วนและใช้อุบายหลอกลวงให้ความมั่นใจกับนายแลชแมนว่าจะชําระเงินได้เต็มจํานวน และให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ให้เพิ่ม จนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ มีรถยนต์อยู่ในความครอบครองของจําเลยที่ ๕ ทั้งสิ้น ๙๑ คัน ต่อมาช่วงต้นปี ๒๕๕๗ จําเลยที่ ๑ และที่ ๒
จึงยินยอมส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ ๒๐ คัน คงเหลือรถยนต์ในความครอบครองของจําเลยที่ ๕
จํานวน ๗๑ คัน จําเลยที่ ๑ และที่ ๒ หลอกลวงโจทก์ว่า จะผ่อนชําระเงินให้โจทก์พร้อมค่าปรับ
และจําเลยที่ ๕ และที่ 6 หลอกลวงโจทก์โดยทําหนังสือยืนยันรายการและจํานวนรถยนต์ที่อยู่
ในความครอบครองพร้อมยืนยันว่ากรรมสิทธิ์รถยนต์ยังเป็นของโจทก์และจะไม่ส่งมอบรถยนต์ให้จําเลยที่ ๑ จนกว่าโจทก์จะได้รับชําระราคาครบถ้วน แต่จําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ผิดนัดไม่ชําระเงินให้โจทก์
นายแลชแมนพร้อมทนายความจึงไปตรวจสอบที่คลังสินค้าทัณฑ์บนของจําเลยที่ ๕ พบว่ารถยนต์ทั้ง
๗๑ คัน ได้หายไป การกระทําของจําเลยทั้งหกเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจําเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันคืนรถยนต์จํานวน ๗๑ คัน ให้แก่โจทก์ หากคืนแล้วรถยนต์เสื่อมราคาให้จําเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชําระราคารถยนต์ในส่วนต่างให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนให้แก่โจทก์ได้ ให้จําเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชําระเงิน ๑๓๑,๘๔๐,๖๔๗.๗๑ บาท พร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๒๐,๖๓๖,๓๔๐.๙๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่า
จะชําระเสร็จแก่โจทก์ และชําระค่าปรับ ๒๔,๒4๐,๗๖๐ บาท และค่าปรับอีกวันละ ๕๓,๖๓๐ บาท
นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ ให้จําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันชําระค่าขนส่งทางเรือและค่าเสียหายจากการซ่อมรถยนต์และจําหน่ายได้ราคาต่ำกว่าทุนเป็นเงิน ๙,๔๒๓,๗๖๐.๓๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน 8,๖๙๑,๕๒๘.8๕ บาท
นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ ให้จําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันหรือแทนกันชําระเงินค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการดําเนินการด้านกฎหมายเป็นเงิน ๑๐,๕๒๖,๗๐๕.๑๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์

         จําเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง จําเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จําเลยที่ ๑ เป็นเพียงนายหน้าขายรถยนต์ให้โจทก์และได้รับ
ค่าคอมมิชชั่นเป็นค่าตอบแทน เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ นายแลชแมน ให้จําเลยที่ ๑
ช่วยหาลูกค้าซื้อรถยนต์ จํานวน ๗๑ คัน และจําเลยที่ ๕ รับซื้อรถยนต์ทั้ง ๗๑ คัน จากนายแลชแมน
โดยมีจําเลยที่ ๑ เป็นผู้ชี้ช่องให้เข้าทําสัญญาระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ ๕ เท่านั้น จําเลยที่ ๑ ไม่เคย
ออกอุบายหลอกลวงโจทก์และไม่เคยตกลงจะชําระเงินค่ารถยนต์ให้แก่โจทก์ จําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่เคยตกลงที่จะส่งมอบรถยนต์ ๒๐ คัน หรือตกลงเป็นผู้ชําระค่าขนส่งและค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่โจทก์
กรณีเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจําเลยที่ ๕ ทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง

         จําเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า จําเลยที่ ๒ ร่วมกับจําเลยที่ ๑ วางแผนหลอกลวง โจทก์จึงเป็นฟ้องในมูลละเมิด คดีนี้จึงไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศ โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง จําเลยที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จําเลยที่ ๒ ไม่เคยออกอุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งรถยนต์ให้จําเลยที่ ๒ จําเลยที่ ๒ ไม่เคยส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ไม่เคย

 

 

 

ตกลงว่า จะชําระเงินค่ารถยนต์ ๗๑ คัน ให้แก่โจทก์ และไม่เคยนํารถยนต์ทั้ง ๗๑ คัน ออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน จําเลยที่ ๒ ไม่เคยตกลงร่วมรับผิดชอบค่าขนส่งรถยนต์ ๒๐ คัน ฝ่ายละครึ่งกับโจทก์ ค่าเสียหายตามฟ้อง โจทก์ไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริง ขอให้ยกฟ้อง

         จําเลยที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีนี้ไม่อยู่ในอํานาจพิจารณา พิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จําเลยที่ ๕ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จําเลยที่ ๕ ได้รับการติดต่อจากจําเลยที่ ๑ ซึ่งแจ้งว่าเป็นตัวแทนจําหน่ายรถยนต์นําเข้าจากต่างประเทศ ของหลาย ๆ บริษัทรวมทั้งบริษัทออโต้บาห์น อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ที่มีสํานักงานใหญ่และสถานประกอบ กิจการที่ประเทศอังกฤษ เมื่อจําเลยที่ ๕ ตกลงซื้อรถยนต์กับบริษัทออโต้บาห์น อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ดังกล่าวแล้วจะมีหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจําหน่ายให้เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นชําระภาษีอากรขาเข้า ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีอากรขาเข้า จําเลยที่ ๕ จึงตกลงรับซื้อรถยนต์นําเข้าใหม่เพื่อนํามา จําหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศไทย โดยติดต่อซื้อขายผ่านจําเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนจําหน่าย และจําเลยที่ 5 จะซื้อขายกันในราคารวมค่าสินค้า ค่าประกัน และค่าขนส่งแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ทั้งหมดเป็นของ จําเลยที่ ๕ ในช่วงแรกการซื้อขายไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ระยะหลังมีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือแต่งตั้งตัวแทนที่จําเลยที่ ๕ ได้รับมาจากจําเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทออโต้บาห์น อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ที่มีสํานักงานใหญ่และสถานประกอบกิจการที่ประเทศอังกฤษ โดยเมื่อจําเลยที่ ๕ นําเอกสารยื่นประกอบ พิธีการศุลกากร เจ้าพนักงานศุลกากรแจ้งว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ทําให้จําเลยที่ ๕
ถูกประเมินภาษีขาเข้าย้อนหลัง ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างจําเลยที่ ๕ กับบริษัทออโต้บาห์น อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ที่มีสํานักงานใหญ่และสถานประกอบกิจการที่ประเทศอังกฤษ ไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ในคดีนี้
ขอให้ยกฟ้อง

         จําเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคําให้การ

         ในวันนัดพิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว
เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าว
ให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙

         พิเคราะห์แล้ว กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายระหว่าง ประเทศและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๗ (๕) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์กับจําเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยมีจําเลยที่ ๕ เป็นตัวแทนในการเป็นผู้รับตราส่ง รับมอบรถยนต์จากท่าเรือ และเก็บรักษารถยนต์ไว้ ณ คลังสินค้าทัณฑ์บน จําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ผิดสัญญาไม่ชําระราคารถยนต์แล้วนํารถยนต์ทั้งหมด
ที่ยังไม่ชําระราคาออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน โจทก์จึงฟ้องเรียกทรัพย์คืนและเรียกให้จําเลยทั้งหกชําระค่าปรับ ค่าขนส่ง และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เมื่อจําเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ให้การปฏิเสธความรับผิด และจําเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคําให้การ คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จําเลยทั้งหกต้องรับผิด

 

 

 

 

 

ต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด กรณีจึงเป็นข้อโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับหนี้อันเกิดจากสัญญาซื้อขายสินค้าและสัญญาแต่งตั้งตัวแทนในการเก็บรักษาและ ครอบครองรถยนต์แล้วมีการปฏิบัติผิดสัญญา อันจะต้องพิจารณาถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญา ตามสัญญาซื้อขายและข้อตกลงที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาซื้อขายนั้นเป็นสําคัญ เมื่อสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาที่ผู้ขายต้องส่งสินค้าจากประเทศอังกฤษมาให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเข้าลักษณะของสัญญา ซื้อขายระหว่างประเทศ ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างในคําฟ้องว่า ฝ่ายจําเลยออกอุบายหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อ อันเป็นการบรรยายฟ้องในมูลละเมิดนั้น เห็นว่า
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในมูลละเมิดมาด้วย แต่ในทางแพ่ง กฎหมายไม่ได้บังคับว่าหากเป็นกรณีที่เป็นได้ทั้งละเมิดและผิดสัญญา โจทก์ต้องเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง เมื่อโจทก์กล่าวอ้างในฟ้องเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศและสัญญาตัวแทนที๋เกี่ยวเนื่องกับสัญญาซื้อขายดังกล่าวมาแล้ว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ และนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ตามมาตรา ๗ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙