คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ วทป 61/2560  

                                      บริษัทโปรเฟรท เอ็กซ์เพรส จำกัด                                  โจทก์

                                      บริษัทดาน่า สไปเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด                       จำเลย

 

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (5), ๙

 

         แม้ที่จําเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดตามสัญญาขนส่งสินค้าอะไหล่ถ้วยลูกปืนและอะไหล่ ลูกปืนจากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มายังประเทศไทย ณ สํานักงานของจําเลย โดยอ้างว่าสินค้าได้รับความเสียหายเพราะการดําเนินการของโจทก์ จําเลยจึงใช้สิทธิยึดหน่วงไม่ชําระค่าจ้างบริการและเรียกร้องค่าเสียหายหลังจากหักกลบลบหนี้แล้วเป็นเงิน ๑๑๗,๒๘๓.๙๓ บาท นั้น เมื่อโจทก์
ให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธว่า สินค้าเกิดความเสียหายก่อนที่โจทก์จะรับสินค้าออกจากคลังสินค้า
ในอารักขาของการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามหลักฐานรายการสํารวจสินค้า (Survey Note)
จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับเงื่อนไขและความรับผิดของคู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางทะเล ที่ส่งสินค้าจากต่างประเทศมายังประเทศไทย อันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ คดีตามฟ้องแย้ง
จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศตามมาตรา ๗ (๕) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น แม้ศาลจังหวัดพระโขนงจะรับฟ้องแย้งของจําเลยไว้พิจารณาและชี้ขาดเข้าด้วยกันกับฟ้องเดิมซึ่งไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ แต่เมื่อศาลจังหวัด
พระโขนงไม่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศตามฟ้องแย้งได้ จําเลยจึงต้องแยกไปฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหากยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต่อไป

 

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องว่า จําเลยว่าจ้างโจทก์ดําเนินพิธีการศุลกากรออกสินค้าจากท่าเรือหรือท่าอากาศยาน และนําไปส่งยังสถานประกอบการของจําเลย โดยโจทก์จะส่งใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บค่าจ้างบริการไปยัง จําเลยให้ชําระเงินภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันแจ้งหนี้แต่ละคราว ในระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘
ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ โจทก์ให้บริการแก่จําเลยรวม ๑๙๗ ครั้ง เป็นเงิน ๑,๔๖๐,๐๖๐.๘๕ บาท จําเลยโอนเงิน ๔๔๔,๗๙๗.๑๘ บาท เพื่อชําระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐ คงเหลือหนี้ค้างชําระ ๑,๐๑๕,๘๐๙.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ย ๑๐๗,๐๐๗.๘๘ บาท โจทก์ทวงถาม แต่จําเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน ๑,๑๒๒,๘๑๗.๕๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
ของต้นเงิน ๑,๐๑๕,๘๐๙.๖๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์

         จําเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จําเลยยอมรับว่าได้ว่าจ้างโจทก์ดําเนินพิธีการศุลกากรออกสินค้าเพื่อนําไปส่งยังสถานประกอบการของจําเลยรวม ๑๙๗ ครั้ง เป็นเงิน ๑,๔๖๐,๐๖๐.8๕ บาท และจําเลยโอนเงินชําระหนี้บางส่วน ๔๔๔,๗๙๗.๑๘ บาท ให้แก่โจทก์จริงแต่จําเลยมิได้ผิดนัดชําระค่าจ้าง เนื่องจากเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ โจทก์ขนส่งสินค้าอะไหล่ถ้วยลูกปืนและอะไหล่ลูกปืนตั้งแต่ต้นทางจากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ตลอดจนดําเนินพิธีการศุลกากรออกสินค้าแทนจําเลยจากท่าเรือ และนําสินค้า ไปส่งให้กับจําเลย ณ สํานักงานของจําเลย ปรากฏว่าสินค้าได้รับความเสียหายจากการดําเนินการ
ของโจทก์ คิดเป็นเงิน 8๙๘,๕๒๕.๗๔ บาท จําเลยแจ้งให้โจทก์ชําระค่าเสียหายแล้ว โจทก์ไม่ชําระ จําเลยจึงใช้สิทธิยึดหน่วงสินจ้างไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจําเลยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง และให้บังคับโจทก์ชําระค่าเสียหาย ๘๙๘,๕๒๕.๗๔ บาท โดยนําไปหักกลบลบหนี้กับค่าจ้างบริการที่จําเลยต้องชําระ
ให้แก่โจทก์ ๑,๑๐๕,๘๐๙.๖๗ บาท คงเหลือหนี้ที่จําเลยต้องชําระให้แก่โจทก์ ๑๑๗,๒๘๓.๙๓ บาท

         โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จําเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างของโจทก์เพราะโจทก์มิใช่ผู้ที่ทําให้สินค้าของจําเลยได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เมื่อโจทก์ดําเนินพิธีการ ศุลกากรแล้วเสร็จ และออกของที่คลังสินค้าซึ่งอยู่ในอารักขาของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์พบว่า ลังไม้ที่บรรจุสินค้ามาแตกหัก กล่องกระดาษที่บรรจุสินค้าฉีกขาดจนเห็นสินค้าที่อยู่ภายในหีบห่อ
ก่อนโจทก์จะเคลื่อนย้ายสินค้าออกจากคลังสินค้า โจทก์แจ้งจําเลยทราบแล้ว จําเลยสั่งให้โจทก์นําสินค้าไปส่ง ณ สํานักงานของจําเลยแล้วจําเลยจะให้พนักงานควบคุมคุณภาพ (QC) ของจําเลยเป็นผู้สํารวจความเสียหาย โจทก์จึงให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยออกรายการสํารวจสินค้า (Survey Note)
เพื่อยืนยันว่าสินค้าเสียหายก่อนที่โจทก์จะรับสินค้าออกจากคลังสินค้า พร้อมส่งรายงานให้จําเลยทราบ ความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้น ระหว่างการขนส่งในต่างประเทศ จําเลยย่อมต้องเรียกร้องจากผู้เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มิใช่มาฟ้องแย้งเรียกร้องจากโจทก์ อีกทั้งสินค้าบรรจุชิ้นส่วนจํานวนมากรวมกันในกล่องกระดาษลูกฟูกธรรมดา ตั้งเรียงเป็นชั้น ๆ ทับกันอยู่ภายในลังไม้ที่ห่อหุ้มอีกชั้นหนึ่ง โดยไม่มีวัสดุป้องกันการกระแทกระหว่างชิ้นส่วนด้วยกัน ความเสียหายจึงเกิดขึ้น
ตามสภาพของสินค้าเอง มูลค่าความเสียหายที่จําเลยกล่าวอ้าง ไม่มีคนกลางร่วมสํารวจและพิจารณาร่วมกับจําเลย จึงไม่น่าเชื่อถือ จําเลยใช้สิทธิยึดหน่วงสินจ้างของโจทก์โดยไม่สุจริตและไม่ชอบ จําเลยไม่มีอํานาจฟ้องแย้งเรียกร้องค่าเสียหาย เนื่องจากคดีไม่อยู่ในเขตอํานาจศาลจังหวัดพระโขนง แต่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ขอให้ยกฟ้องแย้ง

         ในชั้นชี้สองสถาน ศาลจังหวัดพระโขนงเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่า คดีในส่วนฟ้องแย้งอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙

         พิเคราะห์แล้ว กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีในส่วนฟ้องแย้งเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่ง ระหว่างประเทศและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่องตามมาตรา ๗ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ เห็นว่า คดีตามฟ้องเดิม โจทก์กล่าวอ้างว่า จําเลยว่าจ้างโจทก์ดําเนิน
พิธีการศุลกากร ออกสินค้าและขนส่งต่อไปยังสถานประกอบการของจําเลย แล้วจําเลยค้างชําระค่าจ้างบริการแก่โจทก์ จําเลยให้การยอมรับแต่ต่อสู้อ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้าง คดีตามฟ้องเดิมจึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศตามมาตรา ๗ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่ที่จําเลยฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดตามสัญญาขนส่งสินค้าอะไหล่ถ้วยลูกปืนและอะไหล่ลูกปืนจากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มายังประเทศไทย ณ สํานักงานของจําเลย โดยอ้างว่าสินค้าได้รับความเสียหายเพราะการดําเนินการของโจทก์ จําเลยจึงใช้สิทธิยึดหน่วงไม่ชําระค่าจ้างบริการและเรียกร้องค่าเสียหายหลังจากหักกลบลบหนี้แล้วเป็นเงิน ๑๑๗,๒๘๓.๙๓ บาท นั้น เมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธว่า สินค้าเกิดความเสียหายก่อนที่โจทก์จะรับสินค้าออกจากคลังสินค้าในอารักขาของการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามหลักฐานรายการสํารวจสินค้า (Survey Note) จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับเงื่อนไขและความรับผิดของคู่สัญญา ตามสัญญารับขนของทางทะเล ที่ส่งสินค้าจากต่างประเทศมายังประเทศไทย อันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ คดีตามฟ้องแย้งจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศตามมาตรา ๗ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น
แม้ศาลจังหวัดพระโขนงจะรับฟ้องแย้งของจําเลยไว้พิจารณาและชี้ขาดเข้าด้วยกันกับฟ้องเดิม แต่เมื่อศาลจังหวัดพระโขนงไม่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ
ตามฟ้องแย้งได้ จําเลยจึงต้องแยกไปฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหากยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต่อไป

 

วินิจฉัย ณ วัน 29 เดือน ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

 

เมทินี ชโลธร

(นางเมทินี ชโลธร)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ