คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1608/2565  นายธีระศาสตร์ นิตย์สุภาพ ผู้ชำระบัญชี

        (ประชุมใหญ่)                                            ร้องขอให้บริษัทสวนเสือ จำกัด

                                                                       ล้มละลาย                               ผู้ร้อง

                                 

ป.พ.พ. มาตรา 1266

พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา 61, 88 วรรคหนึ่ง, 135 (2)

         พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา 8๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงกรณีที่ผู้ชําระบัญชี
ของนิติบุคคลยื่นคําร้องขอให้นิติบุคคลนั้นล้มละลายได้ ถ้าปรากฏว่าเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้น
ได้ใช้เสร็จหมดแล้วสินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สิน เช่นเดียวกับที่ ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๖๖ บัญญัติว่า “ถ้าผู้ชําระบัญชีมาพิจารณาเห็นว่า เมื่อเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ก็ยัง
ไม่พอกับหนี้สินไซร้ ผู้ชําระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลทันที เพื่อให้ออกคําสั่งว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ล้มละลาย” อันเป็นวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้บังคับใช้แก่นิติบุคคลซึ่งต้องมีการดําเนินการทางบัญชีและปรากฏว่ามีสินทรัพย์ไม่พอกับหนี้สินหรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยให้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าจัดการทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้นต่อไป เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ส. เด็ดขาดตามมาตราดังกล่าวแล้ว หากศาลจะมีคําพิพากษาให้บริษัท ส. ล้มละลาย ก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๖๑ กล่าวคือ จะต้องมีการ
จัดประชุมเจ้าหนี้ ดังนั้น เมื่อปรากฏตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า หลังจากครบ กําหนดยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้วไม่มีเจ้าหนี้รายใดยื่นคําขอรับชําระหนี้ จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจจัดการ ประชุมเจ้าหนี้ตามเงื่อนไขดังที่กําหนดไว้อันจะเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาให้บริษัท ส. ล้มละลาย รวมทั้งไม่มีเหตุที่จะต้องดําเนินคดีล้มละลายเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลายอีกต่อไป กรณีจึงถือได้ว่าเป็นเหตุที่บริษัท ส. ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลายตาม
มาตรา ๑๓๕ (๒) ที่ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งยกเลิกการล้มละลายจึงต้องด้วยความเห็นของ
ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ

______________________________

 

         คดีสืบเนื่องมาจากนายธีระศาสตร์ ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้บริษัทสวนเสือ จำกัด ล้มละลาย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๘ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๒๖๖ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทสวนเสือ จำกัด เด็ดขาดเมื่อวันที่
๒๖ เมษายน ๒๕๖๔

         เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลล้มละลายกลางว่า หลังจากโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
ของบริษัทสวนเสือ จำกัด เด็ดขาดซึ่งครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๑
จึงเป็นเหตุที่บริษัทสวนเสือ จำกัด ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๕ (๒)

         ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของบริษัทสวนเสือ จำกัด ตามรายงาน
ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

         ผู้ร้องอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติ
ตามคำร้องว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทสวนเสือ จำกัด
มีมติเอกฉันท์ให้เลิกบริษัท จึงได้จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อนายทะเบียนกระทรวงพาณิชย์โดยตั้งให้
นายธีระศาสตร์ เป็นผู้ชำระบัญชี จากการชำระบัญชีตามงบแสดงฐานะการเงินของบริษัทสวนเสือ จำกัด ณ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ปรากฏว่าเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้วสินทรัพย์ไม่พอกับหนี้สินโดยยังมีหนี้สิน ๑๒๓,๐๘๕,๘๘๙ บาท แต่มีทรัพย์สินเพียง ๓,๕๔๖ บาท และยังมีหนี้สิน
ที่อาจเกิดขึ้นจากผลคดีที่ถูกฟ้องร้องในคดีแพ่งและคดีอาญากรณีถูกกล่าวหาว่าออกรายงานประเมินราคาที่ดินผิดให้แก่บริษัท ๑๖ แห่ง เพื่อขอสินเชื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจนเป็นเหตุให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ชำระเบี้ยปรับกับชำระเงินคืนให้แก่สถาบันการเงินดังกล่าวตามงบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับงวดบัญชีตั้งแต่วันที่
๑ มกราคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้
มีคำสั่งให้บริษัทสวนเสือ จำกัด ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๘
และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๖๖ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
ของบริษัทสวนเสือ จำกัด เด็ดขาดแล้ว ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า
การที่ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ถือเป็นเหตุที่บริษัทสวนเสือ จำกัด ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลายอันเป็นเหตุยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๕ (๒)
ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้วสินทรัพย์ไม่พอกับหนี้สิน การยื่นคำร้องเพื่อขอให้บริษัทสวนเสือ จำกัด ล้มละลาย จึงเป็น
การกระทำเพื่อให้เสร็จสิ้นการชำระบัญชีเป็นผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่จัดการทรัพย์สิน
ของผู้ล้มละลายต่อไปแทนผู้ร้อง การที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายจะทำให้การชำระบัญชี
ไม่อาจเสร็จสิ้น ขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายเกี่ยวกับการเลิกบริษัทจึงควรต้องพิพากษาให้
บริษัทสวนเสือ จำกัด ล้มละลายนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า
แม้ว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงกรณีที่ผู้ชำระบัญชี
ของนิติบุคคลยื่นคำร้องขอให้นิติบุคคลนั้นล้มละลายได้ ถ้าปรากฏว่าเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้
เสร็จหมดแล้วสินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สิน เช่นเดียวกับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๒๖๖ บัญญัติว่า “ถ้าผู้ชำระบัญชีมาพิจารณาเห็นว่า เมื่อเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้
เสร็จหมดแล้ว สินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สินไซร้ ผู้ชำระบัญชีต้องร้องขอต่อศาลทันที เพื่อให้ออกคำสั่งว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นล้มละลาย” อันเป็นวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้บังคับใช้แก่
นิติบุคคลซึ่งต้องมีการดำเนินการทางบัญชีและปรากฏว่ามีสินทรัพย์ไม่พอกับหนี้สินหรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าจัดการทรัพย์สินของนิติบุคคลนั้นต่อไปแทนผู้ชำระบัญชีดังที่
ผู้ร้องอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามีอำนาจจัดกิจการของนิติบุคคลแล้วก็ย่อม
ต้องดำเนินการต่อไปตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ บัญญัติไว้นับแต่ประกาศโฆษณา
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้ จัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้
และรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่อไป แต่เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติในชั้นนี้ว่า หลังจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทสวนเสือ จำกัด เด็ดขาดแล้ว ไม่มีเจ้าหนี้รายใดยื่นคำขอรับชำระหนี้ หากศาลจะมีคำพิพากษาให้บริษัทสวนเสือ จำกัด ล้มละลายดังที่
ผู้ร้องอุทธรณ์ก็เป็นกรณีที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๖๑ กล่าวคือจะต้องมีการจัดประชุมเจ้าหนี้ ดังนั้น เมื่อปรากฏตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า หลังจากครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วไม่มีเจ้าหนี้รายใดยื่นคำขอรับชำระหนี้ จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจ
จัดการประชุมเจ้าหนี้ตามเงื่อนไขดังที่กำหนดไว้อันจะเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาให้บริษัทสวนเสือ จำกัด ล้มละลาย รวมทั้งไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินคดีล้มละลายเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์
แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายอีกต่อไป กรณีจึงถือได้ว่าเป็นเหตุที่บริษัทสวนเสือ จำกัด ไม่ควรถูกพิพากษา
ให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๕ (๒) ที่ศาลล้มละลายกลาง
มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายจึงต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

 

ความเห็นแย้ง

ในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๖๐๘/๒๕๖๕

         จากกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยที่ประชุมใหญ่ได้ร่วมพิจารณาคดีนี้ในปัญหา
ข้อกฎหมายว่า กรณีที่ผู้ชำระบัญชีของลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย
พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๘ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๖๖ ขอให้ศาลสั่งให้ลูกหนี้นั้นล้มละลาย แต่ไม่มีเจ้าหนี้รายใดยื่นคำขอรับชำระหนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเลิก
การล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๕ (๒) ได้หรือไม่ และหากการที่
ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ถือเป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายแล้ว จะถือว่า
เป็นกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง ได้เลยหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยเสียงข้างมากวินิจฉัยสรุปได้ว่า เมื่อไม่มีเจ้าหนี้รายใดยื่นคำขอรับชำระหนี้ จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจจัดการประชุมเจ้าหนี้ตามเงื่อนไขดังที่กำหนดไว้อันจะเป็นเหตุให้ศาลพิพากษาให้บริษัทสวนเสือ จำกัด ล้มละลาย รวมทั้งไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินคดีล้มละลายเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายอีกต่อไป กรณีจึงถือได้ว่า
เป็นเหตุที่บริษัทสวนเสือ จำกัด ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย
พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๕ (๒) และพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ให้ยกเลิก
การล้มละลายของบริษัทสวนเสือ จำกัดนั้น ข้าพเจ้า นายเกียรติคุณ แม้นเลขา ผู้พิพากษา
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายซึ่งเป็นผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ซึ่งลงมติ
เป็นเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาซึ่งวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงขอทำความเห็นแย้งด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

         นอกจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๗ บัญญัติหลักการฟ้องคดีล้มละลายโดยเจ้าหนี้เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดกิจการของลูกหนี้และรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายผู้ได้รับความเสียหายจาก
การกระทำของลูกหนี้แล้ว ยังมีกรณีที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๘ บัญญัติ
ถึงที่มาของคดีล้มละลายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง ป้องกันหรือระงับความเสียหายที่สาธารณชน
อาจได้รับกรณีที่นิติบุคคลตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวโดยการจำกัดอำนาจการทำนิติกรรมด้วยการมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นิติบุคคลนั้นทันทีที่ผู้ชำระบัญชียื่นคำร้องโดยไม่จำต้องรับฟังพยานหลักฐานซึ่งต่างจากวัตถุประสงค์ของเจ้าหนี้ที่ฟ้องคดีตามมาตรา ๗ ที่ประสงค์ให้มีการรวบรวมทรัพย์สินเอาชำระหนี้เท่านั้น
เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า จากการชำระบัญชีตามงบแสดงฐานะการเงินของบริษัทสวนเสือ จำกัด
ณ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ปรากฏว่าเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้ว บริษัทมีหนี้สินจำนวน ๑๒๓,๐๘๕,๘๘๙ บาท ขณะที่มีสินทรัพย์เหลือเพียง ๓,๕๔๖ บาท ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา ๑๒๖๖ บัญญัติให้ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งให้
บริษัทสวนเสือ จำกัด ล้มละลาย เนื่องจากมีสภาพบังคับในคดีอาญาตามพระราชบัญญัติกำหนด
ความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๓๔ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ชำระบัญชีใดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด ไม่ร้องขอต่อศาลตามมาตรา ๑๒๖๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท” ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๖๖ และพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐเข้าตรวจสอบและจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อเนื่องและแทนผู้ชำระบัญชี
อันเป็นวิธีการพิเศษในการใช้กฎหมายล้มละลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการป้องกันและระงับ
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้ ดังนั้น เมื่อการเข้าควบคุมกิจการ
ของลูกหนี้เพื่อป้องกันและระงับความเสียหายมิได้มีความมุ่งหมายโดยตรงเพื่อเอาทรัพย์สินชำระให้แก่เจ้าหนี้ การที่ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจจัดประชุมเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง
จึงไม่น่าจะถือว่าเป็นเหตุให้ต้องยุติการใช้มาตรการทางกฎหมายล้มละลายซึ่งประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๗ ประสงค์ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ารับหน้าที่ต่อไปแทนผู้ชำระบัญชี นอกจากนี้หากพิจารณาข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่ไม่มีเจ้าหนี้รายใดยื่นคำขอรับชำระหนี้ ก็เนื่องมาจากปรากฏว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินเป็นเงินสดเหลือเพียง ๓,๕๔๖ บาท ซึ่งไม่น่าจะเกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อเจ้าหนี้ที่จะดำเนินกระบวนการในชั้นนี้ การที่จะถือว่าเหตุที่ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเหตุที่ไม่ควร
ให้ลูกหนี้ล้มละลาย ย่อมมีผลเป็นการยุติบทบาทของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ควรต้องดำเนินการ
ตามอำนาจหน้าที่อันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้การประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจ
เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อพิจารณาถ้อยคำตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง
ที่บัญญัติให้ศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลายได้หากเป็นกรณีที่ไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุม ก็ควรจะอนุโลม
เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายและเป็นการแปลความกฎหมายในทาง
ที่มีผลบังคับ โดยไม่คำนึงแต่เพียงเรื่องการชำระหนี้ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายล้มละลายเท่านั้น จึงเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้มีลักษณะเป็นกรณีลูกหนี้โดยผู้ชำระบัญชีขอให้ตนเองล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๘ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีหลักการต่างไปจากกรณีที่มีเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จึงสมควรพิพากษาให้บริษัทสวนเสือ จำกัด ล้มละลายเพื่อให้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นจริงดังผลการชำระบัญชีของผู้ร้องหรือไม่จนกว่า
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเห็นว่าเสร็จสิ้นการชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๒๔๙ ซึ่งจะเป็นการแปลความและกำหนดวิธีการใช้กฎหมายล้มละลายและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างให้มีผลบังคับ ไม่ใช้กฎหมายเป็นอุปสรรคเพียงเพราะไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากเงินที่ลูกหนี้มีอยู่เพียง ๓,๕๔๖ บาท  ส่วนกรณีที่จะมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายไปเสียทีเดียว
ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า นอกจากไม่มีกรณีที่ต้องพิจารณาเรื่องเกินคำขอเนื่องจากเป็นเพียงการรายงานข้อเท็จจริงเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรแล้ว รายงานฉบับดังกล่าวยังได้กล่าวถึงข้อเท็จจริง
ที่ไม่มีข้อโต้แย้งซึ่งรับฟังได้ว่า ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จึงไม่อาจจัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้
ซึ่งมีผลเท่ากับไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุม จึงเป็นเหตุที่จะพิพากษาให้บริษัทสวนเสือ จำกัด ลูกหนี้ล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง.

(เกียรติคุณ แม้นเลขา - สถาพร วิสาพรหม – เพชรน้อย สมะวรรธนะ)

 

สรายุทธ์  เตชะวุฒิพันธุ์ – ย่อ

สุรัชฎ์  เตชัสวงศ์ – ตรวจ