คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ วทป 45/2560 

                                      นายรุ่ง  ตาสว่าง                                                    โจทก์

                                      นายสืบศักดิ์  ตาสว่าง กับพวก                                                           จำเลย

 

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (3) (9), ๙

 

         โจทก์กล่าวอ้างว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้า “รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล” แต่จําเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ
ที่โจทก์อนุญาตให้จําเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีระยะเวลา 2 ปี ด้วยการร่วมกันปลอมและหรือเลียนแบบดัดแปลงเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับสินค้า
ของโจทก์และนําออกขายเสนอขายสินค้าโดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “รุ่งอรุณ ๙๙ ตราดอกมะลิ” ทําให้ยอดขายของโจทก์ลดลง อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทําให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจําเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง ส่วนจําเลยทั้งสองปฏิเสธว่ามิได้กระทําละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จําเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามคําพิพากษาตามยอมครบถ้วน และสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ายังมีผลบังคับอยู่ถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐ โจทก์มิได้รับความเสียหาย คดีมีประเด็น
ข้อพิพาทโดยตรงถึงการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า “รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล” ตลอดจนระยะเวลาของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงใด และสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าสินค้ายาเส้น “ตรารุ่งอรุณ ๙๙” ของจําเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าสินค้ายาเส้น “รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล” ของโจทก์หรือไม่ และทําให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ
ในเครื่องหมายการค้าและคดีแพ่งที่เกี่ยวกับชื่อทางการค้าตามมาตรา ๗ (๓) (9) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

 

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ยาเส้น ชื่อทางการค้า “รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล” โดยจําเลยที่ ๑ เป็นผู้โอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากนั้น จําเลยทั้งสองร่วมกันปลอมและหรือเลียนเครื่องหมายการค้า
ยาเส้นของโจทก์ ดัดแปลง ต่อเติมเลียนแบบให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับสินค้าของโจทก์ โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “ รุ่งอรุณ ๙๙ ตราดอกมะลิ” และนําออกขายเสนอขายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ทําให้หลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์รับไปจําหน่ายแบบขายปลีกในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดใกล้เคียง ทําให้ยอดการค้าขายสินค้าของโจทก์ลดลง ซึ่งจําเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่อนุญาตให้จําเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้า “รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล” เป็นระยะเวลา ๒ ปี และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจําเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ๑๒,๑๘๘,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจําเลยทั้งสองจะชําระเสร็จแก่โจทก์ต่อโจทก์

         จําเลยทั้งสองให้การว่า จําเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามคําพิพากษาตามยอม มิได้กระทําละเมิดต่อโจทก์ เนื่องจากสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ายังมีผลบังคับอยู่ถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐ เดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ โจทก์และจําเลยทั้งสองร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจํากัดรุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล มีโจทก์เป็น หุ้นส่วนผู้จัดการ ประกอบธุรกิจขายยาเส้นบรรจุของและข้าวสารบรรจุถุงให้แก่ร้านค้าทั่วไป ต่อมาวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ โจทก์ลาออกจากหุ้นส่วนผู้จัดการโดยโอนหุ้นให้นางจารี ฤทธิ์เจริญ บุตรสาว
ของโจทก์และให้จําเลยที่ ๑ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต่อไป หลังจากโจทก์ลาออกแล้วประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ โจทก์ผลิตและจําหน่ายยาเส้นลุงโท รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล แข่งขันสินค้ากับจําเลยที่ ๑ อันเป็นการผิดข้อตกลงหุ้นส่วน จึงได้ฟ้องร้องคดีกันโดยจําเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้า
คําขอเลขที่ ๖๙๗๕๑๑ ทะเบียนเลขที่ ค.๓๐๑๑๗๓ สินค้าจําพวก ๓๔ ยาเส้นให้แก่โจทก์ และโจทก์อนุญาตให้จําเลยที่ ๑ ใช้เครื่องหมายการค้า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นเวลานาน 2 ปี
นับแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐ จําเลยทั้งสองผลิตและจําหน่ายสินค้า
ยาเส้นตรารุ่งอรุณ ๙๙ มาก่อนที่โจทก์จะได้รับโอนเครื่องหมายการค้าพิพาทจากจําเลยที่ ๑ จําเลยทั้งสองไม่ได้ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย คดีไม่ได้อยู่ในเขตอํานาจ
ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี แต่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ขอให้ยกฟ้อง

         ในชั้นชี้สองสถาน ศาลจังหวัดสิงห์บุรีเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙

         พิเคราะห์แล้ว กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและคดีแพ่งที่เกี่ยวกับชื่อทางการค้าตามมาตรา ๗ (๓) และ (9)
แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างว่า
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้า “รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล” ที่จําเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าคําขอเลขที่ ๖๙๗๕๑๑ ทะเบียนเลขที่
ค.๓๐๑๑๗๓ สินค้าจําพวก ๓๔ ยาเส้นให้แก่โจทก์ แต่จําเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ
ที่โจทก์อนุญาตให้จําเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีระยะเวลา ๒ ปี ด้วยการร่วมกันปลอมและหรือเลียนแบบดัดแปลงเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับสินค้าของโจทก์
และนําออกขายเสนอขายสินค้าโดยใช้ชื่อทางการค้าว่า “รุ่งอรุณ 9๙ ตราดอกมะลิ” ทําให้ยอดขาย
ของโจทก์ลดลง อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทําให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจําเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง ส่วนจําเลยทั้งสองปฏิเสธว่ามิได้กระทําละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จําเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามคําพิพากษาตามยอมครบถ้วน และสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ายังมีผลบังคับอยู่ถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐ โจทก์มิได้รับความเสียหาย แม้การบรรยายฟ้องให้จําเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจะอาศัยเหตุจากมูลละเมิดด้วยก็ตาม แต่การวินิจฉัยถึงการกระทําของจําเลยทั้งสองจะเป็นการกระทําละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จําต้องวินิจฉัยถึงสัญญาประนีประนอมยอมความในข้อที่จําเลยที่ ๑ ตกลงโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า “รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล” ให้แก่โจทก์ และโจทก์อนุญาตให้จําเลยที่ ๑ ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจําเลยทั้งสองยกข้อต่อสู้ว่าตามสัญญา ประนีประนอมยอมความนั้น สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้ายังมีผลบังคับอยู่ขณะพิพาท และจําเลยทั้งสองผลิตและจําหน่ายสินค้ายาเส้น “ตรารุ่งอรุณ ๙๙” มาก่อนที่โจทก์ได้รับโอนเครื่องหมาย การค้า “รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล” คดีมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงถึงการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า “รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล” ตลอดจนระยะเวลาของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีผลบังคับได้ เพียงใด และสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าสินค้ายาเส้น “ตรารุ่งอรุณ ๙๙” ของจําเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าสินค้ายาเส้น “รุ่งอรุณ ตราดอกพิกุล” ของโจทก์หรือไม่
และทําให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าและคดีแพ่งที่เกี่ยวกับชื่อทางการค้าตามมาตรา ๗ (๓) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

 

วินิจฉัย ณ วัน 30 เดือน สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

 

เมทินี ชโลธร

(นางเมทินี ชโลธร)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ