คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ วทป 42/2560

                                      บริษัทมิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย       โจทก์

                                      บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)                                  จำเลย

 

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (5), ๙

พ.ร.บ. การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 มาตรา 37 (2), 39

 

         โจทก์ฟ้องจําเลยในฐานะเป็นผู้รับฝากทรัพย์ให้รับผิดในมูลละเมิดที่ลูกจ้างของจําเลย ทําให้สินค้าของบริษัทโซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด ผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม จําเลยให้การต่อสู้ว่า คดีนี้เกี่ยวเนื่องกับสัญญารับขนของทางอากาศระหว่างประเทศ โดยผู้เอาประกันภัย ทําสัญญารับขนของทางอากาศระหว่างประเทศกับบริษัทยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญา และสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ มีฐานะเป็นผู้ขนส่งตามความเป็นจริง เมื่อความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัทยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จํากัด รับมอบสินค้าไว้แล้ว จึงถือว่าความเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ของอยู่ในหน้าที่ดูแลรักษาของผู้ขนส่ง โดยจําเลยเป็นเพียงตัวแทนผู้ให้บริการภาคพื้นดินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ผู้ขนส่งเท่านั้น อีกทั้งจําเลยให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องข้อยกเว้นความรับผิด ตามมาตรา ๓๗ (๒) และการจํากัดความรับผิด ตามมาตรา ๓๙ แห่ง พ.ร.บ. การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ดังนั้น จากคําให้การของจําเลยจึงมีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยถึงสัญญา
รับขนของทางอากาศระหว่างประเทศว่าเริ่มต้นมีผลใช้บังคับ ณ เวลาใด จําเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ในสถานะใด และหากต้องรับผิดสามารถจํากัดความรับผิดตาม พ.ร.บ. การรับขน
ทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้หรือไม่ เพียงใด คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๕) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

 

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ โจทก์รับประกันภัยสินค้าทุกชนิดของบริษัทโซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด ผู้เอาประกันภัย โดยให้ความคุ้มครองเริ่มจากสินค้าขนส่งออกจากโรงงานของผู้เอาประกันภัยไปสิ้นสุดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจนถึงสินค้าขนถ่ายขึ้นเครื่องบิน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ผู้เอาประกันภัยมอบหมายให้บริษัทเอสเอ็ม ซัพพลาย เชน โซลูชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ขนส่งสินค้า ชุดเลนส์ซูม ๑๒ พาเลท จากโรงงานของผู้เอาประกันภัยไปส่งมอบให้แก่บริษัทยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จํากัด ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อขนส่งสินค้าไปทางเครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ พนักงานของบริษัทเอสเอ็ม ซัพพลาย เชน โซลูชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ส่งมอบสินค้า ๑๒ พาเลท ให้บริษัทยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จํากัด ครบถ้วนและอยู่ในสภาพเรียบร้อย
และบริษัทยูเซน โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จํากัด ส่งมอบสินค้า ๑๒ พาเลท ให้คลังสินค้าของจําเลย
และเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ ลูกจ้างของจําเลยใช้รถฟอล์คลิฟท์ยกสินค้า ๒ พาเลท เพื่อนําไปเก็บไว้ที่คลังสินค้าของจําเลย แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อขาดความระมัดระวังขณะใช้รถฟอล์คลิฟท์ยกสินค้าขึ้นจากพื้นไม่ใช้รถประคองสินค้าให้เกิดความสมดุล ทําให้สินค้าที่ยกตกลงจากรถกระแทกกับ
พื้นคอนกรีตเป็นเหตุให้สินค้าทั้ง ๒ พาเลท ได้รับความเสียหาย ฝ่ายรับรองประกันคุณภาพของผู้เอาประกันภัยปฏิเสธไม่รับสินค้าทั้งหมดที่เสียหายทั้ง ๒ พาเลท หรือ ๔๘๐ ชุด จึงถือว่าสินค้าทั้งหมดได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง เป็นเงินค่าเสียหาย ๑,๓๔๒,๒๒๖.๔๐ บาท ผู้เอาประกันภัยเรียกร้อง
ความเสียหายไปยังจําเลย แต่จําเลยเพิกเฉย ผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องค่าเสียหายมายังโจทก์
โจทก์เห็นว่าสินค้าได้รับความเสียหายจริงจึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน ๑,๓๔๒,๒๒๖.๔๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐ สินค้าที่เสียหายอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจําเลยระหว่างการรับฝากสินค้าในคลังสินค้าของจําเลย เมื่อลูกจ้างของจําเลยเป็นผู้กระทําละเมิด
ทําให้สินค้าได้รับความเสียหาย จําเลยต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในทางการที่จ้าง และรับผิดในฐานะ
เป็นผู้ให้บริการขนถ่ายสินค้ารับฝากสินค้าในระหว่างที่สินค้าที่รับฝากได้รับความเสียหายนั้นอยู่ใน
ความครอบครองของจําเลย จําเลยเป็นผู้รับฝากที่มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด จึงต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น แต่หาได้ใช้อย่างเพียงพอไม่ ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มอบหมายให้ทนายความ
มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจําเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว แต่จําเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจําเลยชําระเงิน ๑,๓๔8,๒๙๓.๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๓๔๒,๒๒๖.๔๐ บาท นับถัดจาก วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์

         จําเลยให้การว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เกี่ยวเนื่องมาจากสัญญารับขนของทางอากาศระหว่างประเทศ จึงอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เข้าทําสัญญารับฝากทรัพย์กับจําเลยจึงไม่มี
นิติสัมพันธ์ระหว่างกัน จําเลยเป็นเพียงตัวแทนผู้ให้บริการภาคพื้นดินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ผู้รับขนสินค้าทางอากาศพิพาทรายนี้เท่านั้น สินค้าไม่ได้รับความเสียหายเพราะจําเลย พนักงานขับรถฟอล์คลิฟท์ไม่ใช่ลูกจ้างของจําเลย ผู้เอาประกันภัยไม่ใช้วัสดุห่อหุ้มสินค้าที่มีประสิทธิภาพดีและเหมาะสมสําหรับการป้องกันการกระแทก โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง ค่าเสียหายที่เรียกร้องมาสูงเกินจริง จําเลยจํากัดความรับผิดได้เท่ากับ ๑๙ หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ต่อน้ําหนักสินค้า ๑ กิโลกรัม คิดเป็นเงินไทย ๓๔๘,๓๘๔ บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

         ในวันนัดพิจารณา ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอํานาจพิจารณา พิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาคดี ไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย
ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙

         พิเคราะห์แล้ว กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙มาตรา ๗ (๕) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจําเลยในฐานะเป็นผู้รับฝากทรัพย์ให้รับผิดในมูลละเมิดที่ลูกจ้างของจําเลยทําให้สินค้าของบริษัทโซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด ผู้เอาประกันภัยได้รับ
ความเสียหาย อย่างไรก็ตามจําเลยให้การต่อสู้ว่า คดีนี้เกี่ยวเนื่องกับสัญญารับขนของทางอากาศระหว่างประเทศ โดย ผู้เอาประกันภัยทําสัญญารับขนของทางอากาศระหว่างประเทศกับบริษัทยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จํากัด ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญา และสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ มีฐานะ
เป็นผู้ขนส่งตามความเป็นจริง เมื่อความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัทยูเซ็น
โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จํากัด รับมอบสินค้าไว้แล้ว จึงถือว่าความเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดขึ้น
ในช่วงเวลาที่ของอยู่ในหน้าที่ดูแลรักษาของผู้ขนส่ง โดยจําเลยเป็นเพียงตัวแทนผู้ให้บริการภาคพื้นดินของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ผู้ขนส่ง เท่านั้น อีกทั้งจําเลยให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องข้อยกเว้น
ความรับผิด ตามมาตรา ๓๗ (๒) และการจํากัดความรับผิด ตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติ
การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ดังนั้น จากคําให้การของจําเลยจึงมีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยถึงสัญญารับขนของทางอากาศระหว่างประเทศ ว่าเริ่มต้นมีผลใช้บังคับ ณ เวลาใด
จําเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ในสถานะใด และหากต้องรับผิด สามารถจํากัดความรับผิด
ตามพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้หรือไม่ เพียงใด คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

 

วินิจฉัย ณ วัน 29 เดือน สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

 

เมทินี ชโลธร

(นางเมทินี ชโลธร)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ