คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 189/2563 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์

                                                                      นายมงคล  เกาะกิ่ง                        จำเลย

ป.อ. มาตรา 91

พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108, 110 (1)

            โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ซี่งเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าต่างชนิดกันของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการกระทำต่างเจตนาอันเป็นความผิดหลายกรรม และจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าว และสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหายที่ 4 ด้วย การกระทำของจำเลยสามารถแยกขั้นตอนการปลอมเครื่องหมายการค้า และมีเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องคดีย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่าย
ซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหายทั้งสี่อีกกระทงหนึ่งด้วย

______________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔, ๑๐๘, ๑๑๐, ๑๑๓, ๑๑๕, ๑๑๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑ ริบของกลางและวางโทษทวีคูณตามกฎหมาย

         จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้วางโทษทวีคูณ

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๘, ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีโทษเท่ากัน
จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ วางโทษทวีคูณตามมาตรา ๑๑๓ จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน และปรับ ๒๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๙ เดือน และปรับ ๑๐๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุก
ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ
ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลาง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันโดยบรรยายฟ้อง
ในส่วนของการปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าต่างชนิดของผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ อันเป็นเจ้าของต่างกัน ถือได้ว่าเป็นการกระทำ
ต่างเจตนากัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และบรรยายฟ้องในส่วนของการมีไว้
เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งการกระทำดังกล่าวสามารถ
แยกขั้นตอนการกระทำจากการปลอมเครื่องหมายการค้าและมีเจตนาในการกระทำความผิด
แยกต่างหากจากกัน คดีย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหายทั้งสี่อีกกระทงหนึ่งด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาว่า การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ทั้งเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ดังที่ได้วินิจฉัย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรกำหนดโทษจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสม
อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

         พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรรมต่างกัน ให้ลงโทษ
ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ วางโทษทวีคูณ
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๓ ฐานปลอมเครื่องหมายการค้า
ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร รวม ๓ กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ ๔ เดือน
และปรับกระทงละ ๔๐,๐๐๐ บาท ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม
ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๘๐,๐๐๐ บาท รวมจำคุกทั้งสิ้น ๑๘ เดือน และปรับ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๙ เดือน และปรับ ๑๐๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

(พัฒนไชย  ยอดพยุง – จักรกฤษณ์  เจนเจษฎา – จุมพล  ภิญโญสินวัฒน์)

รุ่งระวี  โสขุมา - ย่อ

 นิภา  ชัยเจริญ - ตรวจ