คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6894/2567 นาย ร. โจทก์
กรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลย
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา ๑3
ในการพิจารณาความคล้ายกันระหว่างเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน
กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของ
หรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 นั้น
ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่าย ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า เสียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายว่าเหมือนหรือคล้ายกันเพียงใด เป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกัน โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายและความสุจริตของผู้ขอจดทะเบียนประกอบด้วย แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมาย
ของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจะมีการจัดวางองค์ประกอบทำนองเดียวกัน
ในส่วนที่มีกรอบรูปสี่เหลี่ยมใหญ่ด้านนอก และภายในจะมีองค์ประกอบเป็นสองส่วนเช่นเดียวกัน
แต่กรอบสี่เหลี่ยมของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์และเครื่องหมายการค้า
ของผู้ขอจดทะเบียนมีลักษณะแตกต่างกัน โดยกรอบสี่เหลี่ยมของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีสีเข้มกว่ากรอบสี่เหลี่ยมของเครื่องหมายการค้าของผู้ขอ
จดทะเบียนอย่างชัดเจน เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์มีตัวอักษรโรมันคำว่า “TIGA SERANGKAI” อ่านว่า “ทิกา เซรางไค” ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน
มีอักษรโรมันคำว่า “BATIK TIGA LIMA” อ่านว่า “บาติก ทิกา ลิมา” ต่างมีคำว่า “TIGA” เหมือนกัน แต่เมื่อปราฏว่าโจทก์และผู้ขอจดทะเบียนต่างไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียว
ในอักษรโรมันคำว่า “TIGA” โจทก์และผู้ขอจดทะเบียนจึงต่างมีสิทธิใช้คำดังกล่าวได้
เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า
ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีเจตนาไม่สุจริตในการใช้เครื่องหมายการค้าให้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์
(นพพร โพธิรังสิยากร – ไชยยศ วรนันท์ศิริ – อำนาจ โชติชะวารานนท์)
พบธรรม ภักดี - ย่อ
สุทจิ์ธิฎา สุทธิพงศ์คณาสัย - ตรวจ
(คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1591/2565)