คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2237/2560   นาย ป.                                 โจทก์

                                                                         นางสาว ส.                            จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง, 1526, 1564, 1598/38

ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246

ป.ที่ดิน มาตรา 94

พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182

 

          เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดกัน โจทก์กับจำเลยต่างไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูกันอีกต่อไป จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยอีก ทั้งการที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันนั้นเนื่องมาจากโจทก์กับจำเลยตกลงหย่ากัน การหย่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ได้เกิดจากความผิดของฝ่ายใด แม้การที่ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันอาจจะทำให้จำเลยยากจนลงตามที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะในฐานะเป็นค่าเลี้ยงชีพได้เช่นกัน

          บุตรทั้งสองของจำเลยเกิดจากการผสมเทียมใช้อสุจิของชายอื่น ไม่ใช่โจทก์ ขณะนั้นโจทก์และจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้โจทก์จะยินยอมให้แจ้งว่าโจทก์เป็นบิดาของผู้เยาว์ทั้งสองและให้ผู้เยาว์ทั้งสองใช้ชื่อสกุลของโจทก์ก็ตาม แต่ผู้เยาว์ทั้งสองไม่ได้เกิดจากอสุจิของโจทก์ แม้ต่อมาโจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ถือว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสอง คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และให้โจทก์จ่ายค่าเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสอง เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นบิดาและบุตรและการกำหนด ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็ยกขึ้นพิจารณาเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182

        ป.ที่ดิน มาตรา 94 บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายเฉพาะที่ดินเท่านั้นไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้าง ดังนั้น คนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด

______________________________

 

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 4,034,653.27 บาท และให้จำเลยโอนสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3164 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสินส่วนตัวคืนโจทก์ และให้จำเลย (ที่ถูก โจทก์) เป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรทั้งสอง

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้พิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว ให้โจทก์จ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยอายุ 60 ปี ปัจจุบันจำเลยอายุ 43 ปี เป็นเงิน 6,120,000 บาท ให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 30,000 บาท ต่อคน รวมเป็นเงินเดือนละ 60,000 บาท โดยให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ปัจจุบันบุตรทั้งสองอายุ 6 ปี เป็นเวลา 14 ปี เป็นเงิน 10,080,000 บาท ให้โจทก์ชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ได้รับจากรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่บุตรทั้งสองเกิดคือวันที่ 9 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 9 กันยายน 2559 เดือนละ 18,000 บาท เป็นเงิน 2,600,000 บาท ให้โจทก์แบ่งสินสมรสคือรายได้จากการประกอบกิจการร้านลาสเวกัส 3 เดือนละ 200,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2557 คือวันที่จดทะเบียนสมรส ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ถูกสั่งปิดกิจการ เป็นเวลา 20 เดือน เป็นเงิน 4,000,000 บาท ให้จำเลยกึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และให้แบ่งรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ขล 5833 ชลบุรี ราคาประมาณ 800,000 บาท ให้จำเลยกึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้นำออกขายแก่บุคคลภายนอกหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งจำเลยกึ่งหนึ่ง

          โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ตัดสิทธิ์โจทก์ที่จะเยี่ยมเยียนบุตรทั้งสองตามควรแก่พฤติการณ์ ให้โจทก์จ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง คนละ 15,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559) จนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ให้โจทก์จำหน่ายที่ดินโฉนดเลขที่ 12890 และ 12891 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กึ่งหนึ่ง ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด โดยให้จำเลยผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายได้ หากไม่ได้ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาและให้โจทก์มีสิทธิในเงินที่จำหน่าย หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ตามกฎหมาย ให้จำเลยแบ่งสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ขล 5833 ชลบุรี แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง และให้โจทก์จำหน่ายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3164 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด โดยให้จำเลยผู้มีชื่อถือสิทธิครอบครองแทนโจทก์ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายได้ หากไม่ได้ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาและให้โจทก์มีสิทธิในเงินที่จำหน่าย หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ตามกฎหมาย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ คำขออื่นของโจทก์และจำเลยนอกจากนี้ให้ยก ให้แจ้งผลคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินทราบ

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดกัน โจทก์กับจำเลยต่างไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูกันอีกต่อไป จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยอีก ทั้งการที่ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันนั้นเนื่องมาจากโจทก์กับจำเลยตกลงหย่ากัน การหย่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ได้เกิดจากความผิดของฝ่ายใด แม้การที่ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันอาจจะทำให้จำเลยยากจนลงตามที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะในฐานะเป็นค่าเลี้ยงชีพได้เช่นกัน บุตรทั้งสองของจำเลยเกิดจากการผสมเทียมใช้อสุจิของชายอื่นไม่ใช่โจทก์ในปี 2553 ขณะนั้นโจทก์และจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้โจทก์จะยินยอมให้แจ้งว่าโจทก์เป็นบิดาของเด็กชาย ส. และเด็กหญิง พ. และให้ผู้เยาว์ทั้งสองใช้ชื่อสกุลของโจทก์ก็ตาม แต่ผู้เยาว์ทั้งสองไม่ได้เกิดจากอสุจิของโจทก์ แม้ต่อมาโจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ถือว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสองตามกฎหมาย อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินดังกล่าวนั้นได้และการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวหมายความเฉพาะกับที่ดินเท่านั้น ไม่รวมสิ่งปลูกสร้างเพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำหน่ายที่ดินโฉนดเลขที่ 12890 และ 12891 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กึ่งหนึ่ง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3164 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด จึงไม่ถูกต้อง ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน และพิพากษาให้โจทก์จ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละ 15,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ เนื่องจากผู้เยาว์ทั้งสองไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ โจทก์ไม่มีหน้าที่อุปการะผู้เยาว์ทั้งสองตามกฎหมาย จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นบิดาและบุตรและการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็ยกขึ้นพิจารณาเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นควรแก้ไข

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 12890 และ 12891 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3164 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์จำหน่ายเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 12890 และ 12891 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี กึ่งหนึ่ง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3164 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ให้ยกคำขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองของจำเลยซึ่งศาลชั้นต้นให้โจทก์จ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองคนละ 15,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นแจ้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้อธิบดีกรมที่ดินทราบ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ

 

(อมรรัตน์  กริยาผล – ประวิทย์  อิทธิชัยวัฒนา – พนารัตน์  คิดจิตต์)

 

พิทักษ์  หลิมจานนท์ - ย่อ

นรินทร์  ทองคำใส - ตรวจ