คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1656/2567  นางสาว ธ.                               โจทก์

                                                                     บริษัท ส.                                 จำเลย

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕22 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

         ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเพียงแต่ขาดทุนในส่วนของผลกำไรเท่านั้น จำเลยสามารถขายดาวน์ห้องชุดได้เกือบหมดโครงการ ซึ่งไม่ใช่เหตุขาดทุนตามที่จำเลยกล่าวอ้างเพื่อมาเลิกจ้างโจทก์
โจทก์มีร่างกายที่สมบูรณ์และทำงานได้ ไม่ได้หย่อนสมรรถภาพตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ จนถึงปัจจุบัน จำเลยปรับตัวโดยปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และปรับลดพนักงาน โจทก์ขาดงานหลายครั้งจำนวนมาก เป็นโรคไตวายและต้องเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาล ทำให้จำเลยไม่อาจ
คาดหมายได้ว่าโจทก์จะหายจากโรคดังกล่าวหรือไม่ ถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ดังที่กล่าวมาเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยว่า
การเลิกจ้างเป็นโมฆะหรือไม่ การวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบนั้น ศาลแรงงานกลาง
ได้วินิจฉัยแล้วว่า โจทก์ไม่ทักท้วงหนังสือแจ้งการเลิกจ้างในทันทีที่มาทำงาน เชื่อได้ว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือแจ้งการเลิกจ้างโดยสมัครใจ ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยถึงความสมบูรณ์
ของหนังสือแจ้งการเลิกจ้างแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 238,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน
ได้รับค่าจ้างเดือนละ 34,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำ โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่
1 เมษายน 2564 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน จำเลยได้ปรับตัวโดยปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และปรับลดพนักงาน โดยพิจารณาจากผลการทำงานและวินัยการทำงาน โจทก์ขาดงานสะสมจำนวนมาก ในปี 2563 โจทก์ลาป่วยสะสม 13 วันครึ่ง
ปี 2564 เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม โจทก์ลาป่วยรวม 26 วันครึ่ง ในแผนกของโจทก์มีพนักงานเพียง 2 คน คือ โจทก์และเจ้าหน้าที่การเงินอีกหนึ่งคน ทำให้เพื่อนร่วมงานของโจทก์ต้องรับภาระงานของโจทก์เพิ่มขึ้น และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแผนกลดลง เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการเลิกจ้างในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 โจทก์ได้ลงลายมือชื่อ แล้วโจทก์ยังคงมาทำงานอีก ๑ เดือน และยังได้รับค่าจ้างในเดือนที่มาทำงาน โดยไม่ทักท้วงหนังสือแจ้งการเลิกจ้างในทันทีที่มาทำงาน กลับปล่อยระยะเวลาโดยทักท้วงการแจ้งการเลิกจ้างเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลาถึงปีเศษ เชื่อได้ว่า
โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือแจ้งการเลิกจ้างโดยสมัครใจ ทั้งโจทก์ยังมีใบรับรองแพทย์ระบุว่า
โจทก์เป็นโรคไตวายและแท้งบุตร ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการป่วยด้วยโรคไตวาย
และต้องเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาล ทำให้จำเลยไม่อาจคาดหมายได้ว่าโจทก์จะหาย
จากโรคดังกล่าวหรือไม่ ประกอบกับจำเลยไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมกับร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ของโจทก์
ถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน นอกจากนี้ธุรกิจของจำเลยอยู่ในภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จากการไม่สามารถขายห้องชุดได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น
จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ในส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น
ในสัญญาจ้างแรงงานไม่มีเงื่อนไขว่า จำเลยจะตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานคนอื่น ๆ รวมถึงโจทก์ด้วย และโจทก์ไม่เคยเห็นประกาศของจำเลยว่าจะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานทุกคน ส่วนการออกหนังสือรับรอง
การทำงานให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๕ จำเลยได้ส่งหนังสือรับรองการผ่านงานให้โจทก์แล้วทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ จำเลยจึงไม่จำต้องออกหนังสือรับรองการทำงาน
ฉบับใหม่ให้แก่โจทก์อีก

         ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า จำเลยประสบภาวะขาดทุนจนไม่สามารถประกอบกิจการได้นั้น ตามงบการเงินของจำเลย จำเลยเพียงแต่ขาดทุนในส่วนของผลกำไรเท่านั้น
ยังมีโครงการอาคารชุดที่จะขายและรับรู้รายได้ในปี 2566 ในระหว่างการก่อสร้างโครงการอาคารชุด
จำเลยสามารถขายดาวน์ห้องชุดได้เกือบหมดโครงการ ซึ่งไม่ใช่เหตุขาดทุนตามที่จำเลยกล่าวอ้างเพื่อมา
เลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่มีเหตุผลอันสมควรและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ลาป่วย
ในปี 256๓ จำนวน 13 วัน เนื่องจากโจทก์อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์ และตามกฎหมายให้สิทธิโจทก์และพนักงานลาป่วยได้ 30 วัน ต่อปี แต่โจทก์ใช้สิทธิลาป่วยในปี 2563 เพียง 13 วัน เท่านั้น โจทก์ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยในระหว่างที่โจทก์ตั้งครรภ์ ส่งผลให้โจทก์ต้องแท้งบุตรและเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นเวลาเพียง 26 วัน แต่จำเลยกลับมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีร่างกายที่สมบูรณ์และทำงานได้และยังสามารถไปทำงานให้จำเลยได้อีก 1 เดือน ตามที่จำเลยขอร้องให้มาช่วยฝึกพนักงานใหม่ แม้โจทก์จะเป็นโรคไต
แต่ไม่ถึงขั้นที่ต้องฟอกไตหรือเป็นไตวายเรื้อรังยังสามารถทำงานได้ การทำงานของโจทก์จึงไม่ได้
หย่อนสมรรถภาพตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน จำเลยได้ปรับตัวโดยปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และปรับลดพนักงานโดยพิจารณาจากผลการทำงานและวินัยการทำงาน โจทก์ขาดงานสะสมจำนวนมาก โดยในปี 2563 โจทก์ลาป่วย 13 วันครึ่ง ปี 256๔ เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม โจทก์ลาป่วยรวม 26 วันครึ่ง ในแผนกของโจทก์มีพนักงานเพียง 2 คน คือ โจทก์และเจ้าหน้าที่การเงินอีกหนึ่งคน ทำให้เพื่อนร่วมงานของโจทก์ต้องรับภาระงานของโจทก์เพิ่มขึ้น และทำให้ประสิทธิภาพ
การทำงานของแผนกลดลง และจากใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่า โจทก์เป็นโรคไตวายและแท้งบุตร
ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการป่วยด้วยโรคไตวายและต้องเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาล
ทำให้จำเลยไม่อาจคาดหมายได้ว่าโจทก์จะหายจากโรคดังกล่าวหรือไม่ ถือได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน การเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร
มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ฉะนั้นอุทธรณ์ของโจทก์ดังที่กล่าวมาเป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งดุลพินิจ
ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังข้อเท็จจริง
ตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามงบการเงินของจำเลย จำเลยเพียงแต่ขาดทุนในส่วนของผลกำไรเท่านั้น
ยังมีโครงการอาคารชุดที่จะขาย และในระหว่างการก่อสร้างโครงการอาคารชุด จำเลยสามารถขายดาวน์ห้องชุดได้เกือบหมดโครงการ ซึ่งไม่ใช่เหตุขาดทุน แม้โจทก์จะเป็นโรคไตแต่ไม่ถึงขั้นที่ต้องฟอกไต
หรือเป็นไตวายเรื้อรังยังสามารถทำงานได้ การทำงานของโจทก์ไม่ได้หย่อนสมรรถภาพ จึงเป็นอุทธรณ์
ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยด้วยว่า
มีการบอกเลิกจ้างที่เป็นโมฆะหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างตามหนังสือแจ้งการเลิกจ้าง ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 โจทก์ยังคงมาทำงานอีก
1 เดือน และได้รับค่าจ้างในเดือนที่มาทำงาน โดยไม่ทักท้วงหนังสือแจ้งการเลิกจ้างในทันทีที่มาทำงาน
กลับปล่อยระยะเวลาโดยทักท้วงการแจ้งการเลิกจ้างเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลา
ถึงปีเศษ เชื่อได้ว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือแจ้งการเลิกจ้างโดยสมัครใจ จึงถือได้ว่า
ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของหนังสือแจ้งการเลิกจ้างแล้ว อุทธรณ์ในส่วนนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(อุไรรัตน์ น้อยสุวรรณ – อนุวัตร ขุนทอง – ไพรัช โปร่งแสง)

ชนันท์ชัย ภัทรสกล - ย่อ

เกริกเกียรติ พุทธสถิตย์ - ตรวจ