คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1750/2567  นางสาว ส.                              โจทก์

                                                                     บริษัท อ.                                 จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 583

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1)

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49

         แม้บริษัท ต. จะรายงานผลการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ารับรองของนาย ย. ที่ผิดปกติ
โดยอ้างว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการเบิกจ่ายค่ารับรองอันเป็นเท็จดังกล่าวให้จำเลยทราบตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ แล้วก็ตาม แต่เหตุที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ต่อโจทก์ในขณะนั้น ก็เนื่องมาจากช่วงเวลาดังกล่าวนาย ย. ผู้ร่วมกระทำความผิดกับโจทก์ยังเป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจอยู่ใน
บริษัทจำเลย แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างนาย ย. ในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ และได้แต่งตั้งนาย ท. ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการแทนในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๕ จากนั้นในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ จำเลย
ได้ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีกล่าวโทษโจทก์กับนาย ย. ในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้รับผิดชอบ
ในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้
โดยชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์ดังกล่าวจึงยังมิอาจถือได้ว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะเอาผิดแก่โจทก์แล้วดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด

______________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๓๒๖,๐๔๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๑๖,๖๕๗.๓๓ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๒,๑๗๒,๒๔๐ บาท เงินโบนัส ๔๐,๒๒๖.๖๕ บาท ค่าทำงานในวันหยุด ๒๐,๑๑๓.๓๐ บาท และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ๑๓๕,๖๘๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และเงินเพิ่มร้อยละ ๑๕ ของค่าชดเชยที่ค้างจ่าย
ทุกระยะเวลา ๗ วัน นับแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลย โดยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งสุดท้าย Management & General Affairs Manager มีหน้าที่ดูแลงานด้านบุคคล
และงานธุรการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 60,340 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลในทันที เนื่องจากโจทก์
ปลอมบิลเงินสดขึ้น เพื่อเบิกเงินค่ารับรองจากจำเลย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำ
ของโจทก์จึงเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑)
และย่อมถือได้ว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ อีกทั้งยังเป็นกรณีที่มีเหตุ
อันสมควรและเพียงพอที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์

         มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่า เมื่อประมาณปี ๒๕๖๒ (ที่ถูก ปี ๒๕๖๓) จำเลยได้ว่าจ้างบริษัท ต. ตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายของจำเลยในช่วงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้รายงานผลการตรวจสอบให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ และยังได้ส่งผลการตรวจสอบ
ให้บริษัทแม่ของจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย โดยในรายงานผลการตรวจสอบให้ความเห็นเกี่ยวกับ
ผลการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ารับรองของนายโยชิฮิโกะ ที่ผิดปกติ โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์มีส่วนร่วม
ในการเบิกจ่ายค่ารับรองอันเป็นเท็จดังกล่าว ภายหลังจากที่จำเลยและบริษัทแม่ของจำเลยที่ประเทศญี่ปุ่นทราบผลการตรวจสอบแล้วมิได้ดำเนินการใด ๆ แก่โจทก์และนายโยชิฮิโกะ กระทั่งวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖4 (ที่ถูก 2565) จำเลยกลับดำเนินคดีแก่โจทก์และนายโยชิฮิโกะ โดยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
กองกำกับการปราบปรามการกระทำผิดทางเศรษฐกิจ ซึ่งโจทก์ยังคงทำงานอยู่กับจำเลยตลอดมาจนถึงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลทันที หากจำเลยเห็นว่าโจทก์กระทำผิดจริง
จำเลยจะต้องลงโทษโจทก์ทันทีที่ทราบเรื่อง ทั้งที่จำเลยทราบเหตุอันเป็นความผิดมาตลอด พฤติการณ์
ของจำเลยดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะเอาผิดแก่โจทก์แล้ว การที่นำเอาเหตุเกี่ยวกับ
ผลการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ารับรองของนายโยชิฮิโกะมาเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้างโจทก์ในภายหลังอีก
จึงไม่อาจกระทำได้ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า ศาลแรงงานภาค ๑
ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เขียนรายการค่ารับรองขึ้นด้วยลายมือของตนเอง และจัดทำบิลเงินสดของร้านค้าและร้านอาหารขึ้นเองโดยไม่ได้ออกจากร้านค้าและร้านอาหารที่ไปใช้บริการจริง การที่โจทก์ปลอมบิลเงินสดขึ้น เพื่อเบิกเงินค่ารับรองจากจำเลย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำ
ของโจทก์จึงเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิ
เลิกจ้างโจทก์ได้ เมื่อพิจารณาประกอบคำฟ้องของโจทก์ที่ระบุว่า เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ จำเลย
ได้เลิกจ้างนายโยชิฮิโกะ และในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ได้แต่งตั้งนายทะซึจิ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการแทนนายโยชิฮิโกะ โดยในปี ๒๕๖๓ นายชินจิ ได้ว่าจ้างบริษัท ต. ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีอนุญาต เข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของนายโยชิฮิโกะในช่วงปี ๒๕๖๒ เมื่อตรวจสอบแล้วเสร็จก็ไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งปี ๒๕๖๕ จำเลยกลับอ้างว่า โจทก์ทำการปลอมเอกสารใบเสร็จรับเงิน และกล่าวหาว่า
โจทก์ร่วมกับนายโยชิฮิโกะทำความเสียหายให้แก่จำเลย ๔,๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยอาศัยรายงานของบริษัท ต. และจำเลยยังได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์
และนายโยชิฮิโกะ การที่จำเลยปล่อยเวลาล่วงเลยมากระทั่งปี ๒๕๖๕ แล้วนำรายงานของบริษัท ต.
มาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ให้โอกาสโจทก์ชี้แจง ทั้งที่โจทก์ทำงานให้จำเลยด้วยดีมาโดยตลอด
การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และจำเลยก็ให้การว่า โจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบและสั่งการเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านบัญชีของจำเลยรวมทั้งการใช้จ่ายค่ารับรองของจำเลย แต่โจทก์กลับเขียนรายการค่าใช้จ่ายซึ่งรับรองด้วยลายมือของโจทก์เอง และจัดทำบิลเงินสดขึ้นเองจากเครื่องคอมพิวเตอร์
โดยมิได้ออกจากร้านค้าหรือร้านอาหารที่ไปใช้บริการจริง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โดยจำเลย
ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา
แก่โจทก์แล้ว จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้และปรากฏตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นายชินจิ กรรมการผู้มีอำนาจจำเลยได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ
ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์กับนายโยชิฮิโกะ ในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้รับผิดชอบ
ในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้
โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่กองกำกับการ ๓ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้บริษัท ต. จะรายงานผลการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ารับรองของนายโยชิฮิโกะที่ผิดปกติโดยอ้างว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการเบิกจ่ายค่ารับรองอันเป็นเท็จดังกล่าวให้จำเลยทราบตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ แล้วก็ตาม แต่เหตุที่จำเลยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ
ต่อโจทก์ในขณะนั้น ก็เนื่องมาจากช่วงเวลาดังกล่าวนายโยชิฮิโกะผู้ร่วมกระทำความผิดกับโจทก์
ยังเป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจอยู่ในบริษัทจำเลย แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างนายโยชิฮิโกะในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ และได้แต่งตั้งนายทะซึจิขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการแทนในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๕ จากนั้นในวันที่
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ จำเลยได้ให้นายชินจิ กรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนจำเลยไปร้องทุกข์ดำเนินคดีกล่าวโทษโจทก์กับนายโยชิฮิโกะในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี พฤติการณ์ดังกล่าวจึงยังมิอาจถือได้ว่า จำเลยไม่ติดใจที่จะเอาผิดแก่โจทก์แล้ว
ดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง
ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(พนารัตน์ คิดจิตต์ – วรศักดิ์ จันทร์คีรี – ฤทธิรงค์ สมอุดร)

ชนันท์ชัย ภัทรสกล - ย่อ

สุนทรี วิไลสรการ - ตรวจ