คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2574/2566  นายปองศักดิ์  แจ้งธรรม                 โจทก์

                                                                    บริษัทซัมมิท โอโต บอดี้

                                                                       อินดัสตรี จำกัด                         จำเลย

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓, ๑๒๔, ๑๒๕

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙

         คดีเดิมจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลย ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จำเลยคดีนี้จ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์คดีนี้ ซึ่งโจทก์คดีนี้เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าว คดีเดิมไม่มีประเด็นพิจารณาเรื่อง
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ประกอบกับพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งเฉพาะเงิน
ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ดังที่บัญญัติไว้ในหมวดที่ ๑๒ มาตรา ๑๒๓ ถึงมาตรา ๑๒๕ เท่านั้น การเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมมีกำหนดไว้ในกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง
คือตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน ประเด็นในคดีเดิมจึงมีปัญหาต้องพิจารณาเพียงว่าคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวชอบหรือไม่ ไม่มีประเด็นที่จะสามารถพิจารณาไปถึงการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ นอกจากนี้ ตามรายงานกระบวนพิจารณาในคดีเดิมที่ว่าโจทก์และจำเลยร่วมไม่ติดใจดำเนินคดีกันอีกต่อไป
ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวกับคดีนี้อีกต่อไป ขอถอนฟ้องนั้น ก็เป็นผลสืบเนื่องจากข้อเท็จจริง
ที่ตกลงกันว่าโจทก์คดีนี้ (จำเลยร่วมในคดีเดิม) ยอมรับเงินช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งคือเงินตามกรอบของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เท่านั้น อันเป็นเงินที่สืบเนื่องมาจากโจทก์คดีนี้ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์คดีเดิม (จำเลยคดีนี้) จ่ายเงิน
ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ดังกล่าว ดังนั้น คำว่า ไม่ติดใจดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีนี้
อีกต่อไปจึงมีความหมายเพียงว่า คดีที่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในคดีเดิมเท่านั้น
ไม่สามารถจะตีความรวมไปถึงการไม่เรียกร้องเงินจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ด้วยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในคดีนี้ และไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต  

______________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๔) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้
ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗ ที่แก้ไขใหม่
บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

         จำเลยอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน
และศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลย และเกษียณอายุไปเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ แล้ว ต่อมาวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ โจทก์ทำงานให้จำเลยโดยทำสัญญาว่าจ้างกันปีต่อปี เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๓ จำเลยเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ ก่อนคดีนี้โจทก์เคยเป็นจำเลยร่วม ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ร ๗๘๒/๒๕๖๓ หมายเลขแดงที่
ร ๘๘๖/๒๕๖๓ ของศาลแรงงานภาค ๒ ระหว่าง บริษัทซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด (จำเลยคดีนี้) โจทก์ นายสภาวุฒิ ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลย นายปองศักดิ์ (โจทก์คดีนี้) จำเลยร่วม
โดยเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๓ คดีสามารถตกลงกันได้ โจทก์และจำเลยร่วมในคดีดังกล่าวแถลงไม่ติดใจดำเนินคดีกันอีกต่อไปทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวกับคดีนี้ ขอถอนฟ้อง แล้วศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยว่า ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ร ๗๘๒/๒๕๖๓ หมายเลขแดงที่ ร ๘๘๖/๒๕๖๓ ของศาลแรงงานภาค ๒ ระบุว่า โจทก์และจำเลยร่วม (จำเลยและโจทก์ในคดีนี้) ไม่ติดใจดำเนินคดีกัน
อีกต่อไปทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวกับคดีนี้ ซึ่งแปลความได้ว่าคู่ความไม่ติดใจดำเนินคดีกันทั้งทางแพ่งและทางอาญาเฉพาะข้อพิพาทในคดีดังกล่าว คือข้อพิพาทในเรื่องค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่รวมถึงเรื่องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยอ้างว่าถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุ
อันสมควรเพียงพอ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต โจทก์มีอำนาจฟ้อง นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานไม่ใช่สัญญาจ้างทำของ ปัญหาว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จำเลยนำสืบกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าผลการประเมินการทำงานของโจทก์ยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และจำเลยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้นำสืบให้เห็นรายละเอียดในข้อเท็จจริงว่า
เกณฑ์มาตรฐานในการทำงานที่จำเลยกำหนดเป็นอย่างไร และการทำงานของโจทก์ไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างไร ที่อ้างว่าประสบปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยประสบปัญหาดังกล่าวทำให้ขาดทุนมากน้อยเพียงใด และถึงขนาดต้องเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ ข้ออ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ต้องฟังว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ยังไม่มีเหตุผลอันสมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลย เมื่อได้พิเคราะห์
ถึงอายุของโจทก์ ระยะเวลาที่ทำงาน ความเดือดร้อนเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง
และเงินค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

         คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อ ๒.๑ และข้อ ๒.๒ ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง
เรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า
คดีเดิมของศาลแรงงานภาค ๒ หมายเลขดำที่ ร ๗๘๒/๒๕๖๓ หมายเลขแดงที่ ร ๘๘๖/๒๕๖๓ จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องนายสภาวุฒิ ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลย ขอให้เพิกถอนคำสั่ง
พนักงานตรวจแรงงานที่ ๓๖๕/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่สั่งให้จำเลยคดีนี้จ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์คดีนี้ และโจทก์คดีนี้เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าวตามคำสั่งของศาลแรงงานภาค ๒ ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๓
ในคดีเดิมไม่มีประเด็นพิจารณาเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ประกอบกับพนักงานตรวจแรงงาน
มีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งเฉพาะเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ดังที่บัญญัติ
ไว้ในหมวดที่ ๑๒ มาตรา ๑๒๓ ถึงมาตรา ๑๒๕ ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานไม่มีอำนาจวินิจฉัยในเรื่อง
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเพราะไม่ใช่เงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยการ
เรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมีกำหนดไว้ในกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อในคดีเดิมพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยคดีนี้จ่ายค่าชดเชย
และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์คดีนี้ และเมื่อจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลยในคดีเดิม ประเด็นในคดีเดิมจึงมีปัญหาต้องพิจารณาเพียงว่า
คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้จ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวชอบหรือไม่ คดีเดิมจึงไม่มีประเด็นที่จะสามารถพิจารณาไปถึงการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้เพราะไม่อยู่
ในอำนาจพิจารณาของพนักงานตรวจแรงงาน นอกจากนี้ ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานภาค ๒ ที่ว่า โจทก์และจำเลยร่วมในคดีเดิมจึงไม่ติดใจดำเนินคดีกันอีกต่อไปทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวกับคดีนี้อีกต่อไป ขอถอนฟ้อง นั้น ก็เป็นผลสืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ตกลงกันว่าโจทก์คดีนี้ (จำเลยร่วมในคดีเดิม) ยอมรับเงินช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งคือเงินตามกรอบของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เท่านั้น อันเป็นเงินที่สืบเนื่องมาจากโจทก์คดีนี้ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์คดีเดิม (จำเลยคดีนี้) จ่ายเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ดังกล่าว ดังนั้น คำว่า ไม่ติดใจดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีนี้อีกต่อไปจึงมีความหมายเพียงว่าคดีที่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในคดีเดิมเท่านั้น ไม่สามารถจะตีความรวมไปถึงการไม่เรียกร้องเงิน
จากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ด้วยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในคดีนี้
และไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

         ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานภาค ๑
กำหนดให้แก่โจทก์นั้นสูงเกินส่วน ประกอบกับจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากผลการประเมินการทำงานของโจทก์ไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และจำเลยมีเหตุผลในทางเศรษฐกิจ จึงมีเหตุผลสมควร
ในการเลิกจ้างโจทก์นั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการพิจารณากำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายของศาลแรงงานภาค 1 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณา
กำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายใหม่ให้น้อยลง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         พิพากษายืน.

(สิทธิชัย  ลีลาโสภิต - นาวี  สกุลวงศ์ธนา - ภูมิวุฒิ  พุทธสุอัตตา)

มนุเชษฐ์  โรจนศิริบุตร  -  ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์  -  ตรวจ