คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1092/2566   สหภาพแรงงานยาชิโยดา

    แห่งประเทศไทย                      โจทก์

    คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์        จำเลย

พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒, ๑๓, ๑๕, ๑๙ วรรคสอง

          ถึงแม้โจทก์จะเคยแจ้งข้อเรียกร้องและได้มีการเจรจากับบริษัท ย. จนเกิดบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งมีผลใช้บังคับถึงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๓  แต่เมื่อต่อมาได้มีบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ อันเกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง
และเจรจากันระหว่างบริษัท ย. กับลูกจ้าง ๒๓๘ คน เป็นจำนวนเกินกว่าสองในสามของลูกจ้างทั้งหมด ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ บันทึกข้อตกลงฉบับเดิมย่อมสิ้นผลใช้บังคับนับแต่นั้น ลูกจ้างทุกคนรวมถึงลูกจ้างที่เป็นสมาชิกโจทก์ต้องผูกพันปฏิบัติ
ตามบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ดังกล่าวตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๙ วรรคสอง โจทก์ไม่อาจยกเอากำหนดเวลาสิ้นสุดของบันทึกข้อตกลงฉบับเดิมขึ้นอ้างได้อีก ทั้งในตอนท้าย
ของบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ระบุไว้ด้วยว่า ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างจะไม่ยื่นข้อเรียกร้องอีกภายในระยะเวลา
ที่ข้อตกลงมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์แจ้งข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓
เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หลังจากข้อตกลงดังกล่าวเพิ่งใช้บังคับไปไม่ถึง ๖ เดือน ก่อนจะครบกำหนดนานกว่า ๑ ปี โดยประสงค์ให้บริษัท ย. ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่แจ้งตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ อันรวมถึงในระหว่างเวลาที่ข้อตกลงฉบับใหม่ยังมีผลใช้บังคับด้วย มิใช่การใช้สิทธิแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อเนื่องกับข้อตกลงฉบับเดิม  แต่เท่ากับเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒ ที่จำเลยไม่รับข้อเรียกร้องของโจทก์ไว้พิจารณาโดยอ้างเหตุว่าเป็นการแจ้งข้อเรียกร้องที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้นชอบแล้ว  ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๑๒/๒๕๖๓  ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

______________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๑๒/๒๕๖๓ และให้จำเลยวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด
อีกครั้ง

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด
โดยสามารถตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องได้และทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่
๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับ ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๓ ต่อมาก่อนครบกำหนดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ลูกจ้างบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด จำนวน ๒๓๘ คน จากลูกจ้างทั้งหมด ๓๕๐ คน ร่วมกันลงลายมือชื่อแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด โดยสามารถตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องได้และทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
ถึงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ในระหว่างบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่
๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ โจทก์มีหนังสือ
แจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด ครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการเจรจากันภายใน ๓ วัน นับแต่วันที่บริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด ได้รับข้อเรียกร้อง
โจทก์จึงแจ้งข้อพิพาทแรงงานให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดไกล่เกลี่ยวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ บริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด มีหนังสือฉบับลงวันที่
๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ คัดค้านหนังสือแจ้งข้อเรียกร้องของโจทก์ว่า เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื่องจากบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และมีผลผูกพันใช้กับลูกจ้างทุกคน จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์แจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม
ที่ใช้บังคับกับลูกจ้างทุกคนรวมถึงลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโจทก์ยังมีผลใช้บังคับอยู่อีกกว่า ๒ ปี เป็นการแจ้งข้อเรียกร้องที่ซ้ำซ้อนกับข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่เคยแจ้งต่อบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด และได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้แล้ว โดยที่บริษัทยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น อีกทั้ง
ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ในประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๒.๓ ที่ว่า
การแจ้งข้อเรียกร้องควรกระทำก่อนข้อตกลงเดิมสิ้นสุดลงไม่เกินหกสิบวัน การแจ้งข้อเรียกร้อง
ของโจทก์ไม่สอดคล้องกับมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ถือว่าไม่มี
ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ไม่จำต้องพิจารณาชี้ขาด ตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๑๒/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ แล้ววินิจฉัยว่า ในขณะที่โจทก์แจ้งข้อเรียกร้องตามหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ นั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่
๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และมีผลใช้บังคับกับลูกจ้างทุกคน รวมถึงสมาชิกโจทก์ด้วย ส่วนที่โจทก์อ้างว่า ลูกจ้างบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด จำนวน ๓๙๖ คน ก็เคยร่วมกัน
ลงลายมือชื่อแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ซ้ำซ้อนกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๗ ซึ่งมีผลใช้บังคับถึงวันที่
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เช่นกันนั้น เป็นการแจ้งข้อเรียกร้องก่อนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
ฉบับลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๗ จะสิ้นสุดลงประมาณ ๓ เดือน ถือเป็นระยะเวลาที่สมเหตุสมผล
ที่จะแจ้งข้อเรียกร้องได้ ส่วนในกรณีนี้เป็นการแจ้งข้อเรียกร้องก่อนที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ จะสิ้นสุดลงถึงประมาณ ๑ ปี ๖ เดือน จึงเป็นการแจ้งข้อเรียกร้อง
ที่ซ้ำซ้อนกับข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่เคยแจ้งต่อบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด และได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ต่อกัน ถือว่าไม่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ คำชี้ขาด
ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๑๒/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอน

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า กรณีมีเหตุเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๑๒/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ หรือไม่ เห็นว่า ถึงแม้โจทก์จะเคยแจ้ง
ข้อเรียกร้องและได้มีการเจรจากับบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด จนเกิดบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งมีผลใช้บังคับถึงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๓
แต่เมื่อต่อมาได้มีบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ อันเกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง
และเจรจากันระหว่างบริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด กับลูกจ้าง ๒๓๘ คน เป็นจำนวนเกินกว่า
สองในสามของลูกจ้างทั้งหมด ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ บันทึกข้อตกลงฉบับเดิมย่อมสิ้นผลใช้บังคับนับแต่นั้น ลูกจ้างทุกคนรวมถึงลูกจ้างที่เป็นสมาชิกโจทก์
ต้องผูกพันปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ดังกล่าวตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๙ วรรคสอง โจทก์ไม่อาจยกเอากำหนดเวลาสิ้นสุดของบันทึกข้อตกลงฉบับเดิมขึ้นอ้างได้อีก
ทั้งในตอนท้ายของบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ระบุไว้ด้วยว่า ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างจะไม่ยื่นข้อเรียกร้องอีกภายในระยะเวลาที่ข้อตกลงมีผลใช้บังคับ การที่โจทก์แจ้งข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หลังจากข้อตกลงดังกล่าวเพิ่งใช้บังคับไปไม่ถึง ๖ เดือน ก่อนจะครบกำหนดนานกว่า ๑ ปี โดยประสงค์ให้บริษัทยาชิโยดา อัลลอย วีล จำกัด ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่แจ้งตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ ถึงปี ๒๕๖๕ อันรวมถึงในระหว่างเวลาที่ข้อตกลงฉบับใหม่ยังมีผลใช้บังคับด้วย
มิใช่การใช้สิทธิแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อเนื่องกับข้อตกลงฉบับเดิม แต่เท่ากับ
เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒ ที่จำเลยไม่รับข้อเรียกร้องของโจทก์ไว้พิจารณาโดยอ้างเหตุว่าเป็นการแจ้งข้อเรียกร้องที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา ๑๒
แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำชี้ขาด
ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๑๒/๒๕๖๓ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(วัชรินทร์  ฤชุโรจน์ – ยิ่งศักดิ์  โอฬารสกุล – อรนุช  อาชาทองสุข)

ภัทรวรรณ  ทรงกำพล - ย่อ

อิสรา  วรรณสวาท - ตรวจ