คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2789/2566 นายพิภพ แสงจันทร์ โจทก์
(ประชุมใหญ่) บริษัทกาญจน์คอร์น จำเลย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘/๑ วรรคสอง
ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การเกษียณอายุตามที่นายจ้างหรือลูกจ้างตกลงกัน หรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
ตามมาตรา 118 วรรคสอง และวรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น
ตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไป
ใช้สิทธิขอเกษียณอายุและให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แม้นายจ้างจะมิได้เป็นฝ่ายเลิกจ้างก็ตาม
เมื่อศาลแรงงานภาค ๗ ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะโจทก์เข้าทำงานกับจำเลย ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเดิมกำหนดการเกษียณไว้ที่อายุ 60 ปี ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2564 จำเลยแก้ไขการเกษียณเป็นอายุ 65 ปี ตามเอกสารหมาย ล.3 ดังนี้จึงเป็นกรณีที่นายจ้างกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปีตามมาตรา ๑๑๘/๑ วรรคสอง แม้ขณะที่โจทก์มาสมัครเข้าทำงาน
กับจำเลย โจทก์มีอายุ ๖๒ ปีแล้ว ไม่ว่าโจทก์ทำงานจากที่บริษัทอื่นจนเกษียณอายุครบ 60 ปี
หรือโจทก์จะได้รับเงินจากการเกษียณอายุจากที่อื่นมาแล้วหรือไม่ก็ตาม การที่จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปีและขณะโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยนั้น โจทก์ยังมีอายุไม่เกินกว่ากำหนดการเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามที่มีการแก้ไขตามเอกสารหมาย ล.๓ โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีอายุ 69 ปีเศษ ย่อมใช้สิทธิเกษียณอายุ
โดยการแสดงเจตนาต่อจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้ เมื่อโจทก์ได้แสดงเจตนาเกษียณอายุต่อจำเลยในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ อันเป็นการใช้สิทธิภายหลังจากที่จำเลยได้แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเรื่องการเกษียณเป็นอายุ 65 ปี
ตามเอกสารหมาย ล.3 แล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปได้แสดงเจตนาเกษียณอายุต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา จำเลย
ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่เกษียณอายุนั้นตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง
ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118/1 วรรคสอง
____________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยคืนค่าจ้างที่หักไว้เป็นเงิน 13,283 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยของค่าจ้าง
ที่ชำระล่าช้า 231 บาท และค่าชดเชย 409,471.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๗ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 409,471.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว และดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างที่ชำระล่าช้าจำนวน 231 บาท
นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 มิถุนายน 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๗ ฟังข้อเท็จจริงว่า
โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายผู้จัดการแผนกต้นทุน เงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 51,184 บาท โจทก์สมัครเข้าทำงานกับจำเลยขณะมีอายุ 62 ปี ต่อมาโจทก์ขอลาออกโดยขอเกษียณอายุ
และเรียกค่าชดเชย แล้ววินิจฉัยว่า ขณะโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเดิมกำหนดการเกษียณไว้ที่อายุ 60 ปี ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2564 จำเลยแก้ไขการเกษียณเป็นอายุ 65 ปี นั้น ไม่เป็นการลบล้างที่โจทก์ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีขึ้นไปจะใช้สิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ โดยโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างต้องแสดงเจตนาเกษียณอายุต่อจำเลยผู้เป็นนายจ้าง และให้มีผลเมื่อครบ 30 วัน
นับแต่วันแสดงเจตนา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้นายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118/1 การเกษียณอายุตามที่นายจ้างหรือลูกจ้าง
ตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง ในกรณีที่มิได้
มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น
ตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีอายุ 69 ปีเศษ ไม่มีความประสงค์จะทำงาน
ให้จำเลยอีกต่อไป ขอใช้สิทธิเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ตามมาตราดังกล่าว เมื่อโจทก์แสดงเจตนาให้จำเลยทราบเป็นหนังสือแล้ว ต่อมาโจทก์ทำงานจนถึงวันที่กำหนดในหนังสือแสดงเจตนาขอเกษียณอายุแล้ว นิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันสิ้นสุด ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยยังไม่อนุญาตให้โจทก์เกษียณอายุ เนื่องจากอยู่ระหว่างสอบสวนเรื่องทุจริต เพราะโจทก์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับผิดด้วยนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้และศาลไม่ได้กำหนดเป็นประเด็น
ข้อพิพาทไว้ จึงไม่มีกรณีจำต้องวินิจฉัย หลังวันครบกำหนดในหนังสือ โจทก์ไม่ได้กลับเข้าไปทำงาน
กับจำเลยอีก ย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง การจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยจึงสิ้นสุด
ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ แล้ว ถึงแม้จำเลยจะไม่ยินยอมอนุมัติให้โจทก์ลาออกก็ตาม สิทธิของโจทก์กรณีได้รับค่าชดเชยมีขึ้นตั้งแต่อายุครบ 60 ปีโดยไม่คำนึงว่าหลังจากนั้นจะยังคงจ้างกันต่อไป
หรือมีการเลิกจ้าง เมื่อจำเลยยินยอมว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานในขณะที่โจทก์มีอายุมากกว่า 60 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุเมื่อใดก็ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118/1 โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 (4)
โจทก์รับทราบถึงการขอความร่วมมือขอลดค่าจ้างแล้วและโจทก์ยินยอมมิได้โต้แย้งและคัดค้าน พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และพนักงานอื่นต่างตกลงโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิลดค่าจ้างของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างส่วนที่หักไว้ 2 เดือน จำนวน 13,283 บาท คืนแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์เรียกดอกเบี้ย
ของเงินเดือน เดือนพฤษภาคม 2564 จำนวน 231 บาท นั้น โจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน
เดือนละ 51,184 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนของแต่ละเดือน ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ระบุว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตามมาตรา 10 วรรคสอง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง... ภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70... ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้าง
ในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2564 ให้โจทก์เมื่อวันที่
11 มิถุนายน 2564 จำเลยต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด และจำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกมาจำเลยมิได้โต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง จึงกำหนดให้ตามฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุ
ตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
หรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง และวรรคสอง บัญญัติว่า
ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้
เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปใช้สิทธิขอเกษียณอายุและให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แม้นายจ้างจะมิได้เป็นฝ่ายเลิกจ้างก็ตาม
เมื่อศาลแรงงานภาค ๗ ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะโจทก์เข้าทำงานกับจำเลย ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงานของจำเลยเดิมกำหนดการเกษียณไว้ที่อายุ 60 ปี ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2564 จำเลยแก้ไขการเกษียณเป็นอายุ 65 ปี ดังนี้จึงเป็นกรณีที่นายจ้างกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี
ตามมาตรา ๑๑๘/๑ วรรคสอง แม้ขณะที่โจทก์มาสมัครเข้าทำงานกับจำเลย โจทก์มีอายุ ๖๒ ปีแล้ว
ไม่ว่าโจทก์ทำงานจากที่บริษัทอื่นจนเกษียณอายุครบ 60 ปี หรือโจทก์จะได้รับเงินจากการเกษียณอายุ
จากที่อื่นมาแล้วหรือไม่ก็ตาม การที่จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปีและขณะโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยนั้น โจทก์ยังมีอายุไม่เกินกว่ากำหนดการเกษียณอายุ
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามที่มีการแก้ไข โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีอายุ 69 ปีเศษ
ย่อมใช้สิทธิเกษียณอายุโดยการแสดงเจตนาต่อจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้ เมื่อโจทก์
ได้แสดงเจตนาเกษียณอายุต่อจำเลยในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ อันเป็นการใช้สิทธิภายหลังจากที่จำเลยได้แก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเรื่องการเกษียณเป็นอายุ
65 ปี แล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปได้แสดงเจตนาเกษียณอายุ
ต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่เกษียณอายุนั้นตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118/1 วรรคสอง ที่ศาลแรงงานภาค ๗ วินิจฉัยและพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา 37 ไม่ได้กำหนดให้จำเลยต้องยื่นคำให้การ ซึ่งจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลา
ที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้ ดังนั้นข้อเท็จจริงที่โจทก์กับจำเลยนำสืบมาศาลสามารถรับฟังในการพิจารณาพิพากษาคดีได้ และเมื่อข้อเท็จจริงที่นำสืบมาฟังได้ว่าจำเลยยังไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออก เนื่องจาก
อยู่ในระหว่างสอบสวนเรื่องทุจริตที่โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่โจทก์ได้ขาดงานไปโดยไม่กลับเข้ามาทำงานกับจำเลยอีก ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุตามที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขอลาออกโดยขอเกษียณอายุการทำงาน ให้มีผลวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔
แต่จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชย ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลย ขณะเข้ามาสมัครงานโจทก์
มีอายุ 62 ปีแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากการเกษียณได้อีก การที่จำเลยเพิ่งยกเหตุที่จำเลย
ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยยังไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออก เนื่องจากอยู่ในระหว่างสอบสวนเรื่องทุจริตที่โจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่โจทก์ได้ขาดงานไปโดยไม่กลับเข้ามาทำงานกับจำเลยอีก อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 7 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.
(สมเกียรติ คูวัธนไพศาล – วิไลวรรณ ชิดเชื้อ – ดณยา วีรฤทธิ์)
พรรณทิพย์ วัฒนกิจการ – ย่อ
เกริกเกียรติ พุทธสถิตย์ – ตรวจ