คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 315/2560
พนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดขอนแก่น ผู้ร้อง
นาย ว. ผู้ถูกกล่าวหา
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา
6, 174
อำนาจในการออกหรือแก้ไขคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเป็นอำนาจเฉพาะของศาลเยาวชนและครอบครัวอันเป็นศาลชั้นต้น เมื่อศาลมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเดิมอย่างไร คำสั่งศาลดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 174 วรรคสาม เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมถึงที่สุดเช่นกัน ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
______________________________
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คุ้มครองสวัสดิภาพเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 ดังนี้ ห้ามผู้ถูกกล่าวหาทำร้ายร่างกาย ขู่เข็ญ นาง ช. นาง ส. และเด็กชาย พ. หรือบุคคลในครอบครัวของ
ผู้ถูกกล่าวหา ห้ามผู้ถูกกล่าวหาเข้าใกล้นาง ช. นาง ส. และเด็กชาย พ. และบ้านเลขที่ 58/178 หมู่ที่ 4 ถนนชาตะผดุง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และห้ามเข้าไปในโรงเรียนอนุบาลขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในระยะ 200 เมตร ห้ามผู้ถูกกล่าวหาข่มขู่ก่อกวนนาง ช. นาง ส. เด็กชาย พ. ไม่ว่าด้วยทางกาย วาจา และสื่อใด ๆ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ นักจิตวิทยา หรือเจ้าหน้าที่อื่นของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ติดตามกำกับดูแลให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติตามคำสั่งและรายงานให้ศาลทราบทุก 3 เดือน โดยคำสั่งทุกข้อให้มีกำหนด 6 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ขอยกเลิกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ถูกกล่าวหา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ถูกกล่าวหา
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 174 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพให้แก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว และมาตรา 174 วรรคสาม บัญญัติให้คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพตามวรรคหนึ่งเป็นที่สุด แต่ถ้าพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขคำสั่งเดิมได้ กรณีเกิดเหตุที่ศาลอาจจะมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพดังกล่าวได้ ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีสิทธิร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ตนมีถิ่นที่อยู่หรือมีภูมิลำเนาหรือที่ศาลที่มูลเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แสดงว่าศาลเยาวชนและครอบครัวที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงร้องขอเป็นศาลที่ออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพที่ถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 174 วรรคสาม ซึ่งตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 4 ได้ให้นิยามคำว่า ศาลเยาวชนและครอบครัว หมายถึง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ อันเป็นศาลชั้นต้นทั้งสิ้น ประกอบกับคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของศาลเป็นมาตรการเพื่อสนับสนุนให้การคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือเด็ก ซึ่งถูกปฏิบัติโดยมิชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ตามลำดับ ให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพแก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือเด็กให้พ้นจากสภาพที่ถูกปฏิบัติโดยมิชอบโดยเร็วทันต่อเหตุการณ์ ทั้งต้องสามารถแก้ไขคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วย คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพไม่ใช่โทษอาญาและมีระยะเวลาบังคับเพียงระยะเวลาหนึ่งไม่เกินหกเดือนเท่านั้น การที่กฎหมายบัญญัติให้คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งเป็นศาลชั้นต้นถึงที่สุดเพื่อที่จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นได้นั่นเอง อำนาจในการออกหรือแก้ไขคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพจึงเป็นอำนาจเฉพาะของศาลเยาวชนและครอบครัวอันเป็นศาลชั้นต้น ทั้งการแก้ไขคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเดิมเมื่อมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปนั้น ก็เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการบังคับใช้คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพที่กฎหมายบัญญัติให้ถึงที่สุดแล้ว เมื่อศาลมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเดิมอย่างไรคำสั่งศาลดังกล่าวย่อมถึงที่สุดด้วย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมถึงที่สุดเช่นกัน ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลดังกล่าว อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหา.
(อมรรัตน์ กริยาผล - ประวิทย์ อิทธิชัยวัฒนา - พนารัตน์ คิดจิตต์)
พิทักษ์ หลิมจานนท์ - ย่อ
นรินทร์ ทองคำใส - ตรวจ