คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1024/2560     

พนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดมหาสารคาม   โจทก์

นาย ธ. หรือ บ.                           จำเลย

 

พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา 25 วรรคสอง และวรรคสี่

 

           พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๕ วรรคสี่ บัญญัติว่า การขยายและการลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะกระทำกี่ครั้งก็ได้ แต่การขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน ๖ เดือน และรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน ๓ ปี นับแต่วันถูกส่งตัวเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งตามมาตรา ๒๕ วรรคสอง ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดพิจารณาขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดออกไปอีกได้ ในกรณีที่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ แต่ห้ามมิให้ขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเกิน ๓ ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕ วรรคสี่ กรณีตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นเรื่องการขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยยังไม่มารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือว่าจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่ครบระยะเวลาที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามกำหนด จึงมิใช่กรณีที่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะพิจารณาขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดออกไปอีกได้ และแม้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามมีคำสั่งให้รวมแผนฟื้นฟูทั้งสองคดีเข้าด้วยกันและขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดออกไปอีกเป็นเวลา ๑๘๐ วัน ก็ไม่ใช่การขยายระยะเวลาเพราะเหตุว่าผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ดังนั้น ไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา ๒๕ วรรคสี่ มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามมีคำสั่งที่ ๓๙๘/๒๕๕๙ โดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น จึงถือไม่ได้ว่าล่วงเลยหรือพ้นกำหนดเวลาการเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูที่จะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้องคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ

______________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๕๗, ๙๑ และนับโทษหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๘๘/๒๕๖๐ ของศาลชั้นต้น

          ศาลชั้นต้น เห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา ๒๒ โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา ๒๓ ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสมตามมาตรา ๒๕ หากผู้ใดหลบหนีจากการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดหรือหลบหนีออกนอกศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามที่ ๙๙๓/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ (คดีนี้เป็นคดีที่ ๑) เอกสารท้ายฟ้องว่า คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามมีคำวินิจฉัยผลการตรวจพิสูจน์ว่า จำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในฐานะผู้ติดยาเสพติด จึงให้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามโปรแกรมการคุมประพฤติ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เดือนละ ๑ ครั้ง เป็นเวลา ๖ เดือน ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และยินยอมให้มีการเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจสอบหาสารเสพติด ให้เข้าร่วมโปรแกรมพื้นฐาน ๑ ถึง ๕ อย่างน้อย ๓ ฐาน ให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา ๑๐ ชั่วโมง หลังจากจำเลยมารับทราบคำวินิจฉัยแล้ว จำเลยปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ครบและยังคงเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จนกระทั่งจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหาเสพยาเสพติดและมีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอีก คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามมีคำวินิจฉัยที่ ๑๗๒๒/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ (คดีที่ ๒) ว่า จำเลยเป็นผู้ติดยาเสพติด ให้จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวตามโปรแกรมการคุมประพฤติ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เดือนละ ๑ ครั้ง เป็นเวลา ๖ เดือน ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และยินยอมให้มีการเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจสอบหาสารเสพติด ให้เข้ารับการบำบัดรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเป็นเวลา ๑๒๐ วัน ให้เข้าร่วมโปรแกรมพื้นฐาน ๑ ถึง ๕ อย่างน้อย ๓ ฐาน ให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ เป็นเวลา ๑๐ ชั่วโมง แต่จำเลยไม่มารับทราบคำวินิจฉัย ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามมีคำสั่งที่ ๑๐๙๓/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ ให้รวมแผนทั้งสองคดีเข้าด้วยกันและขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดออกไปอีกเป็นเวลา ๑๘๐ วัน โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทุก ๑๕ วัน ต่อครั้ง ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และยินยอมให้มีการเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจสอบหาสารเสพติดทุกครั้งที่มารายงานตัว ให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา ๒๐ ชั่วโมง ให้เข้าร่วมกิจกรรมอื่นตามความเหมาะสม หลังจากจำเลยมารับทราบคำวินิจฉัยแล้ว จำเลยไม่ไปเข้ารับการฟื้นฟูตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่กำหนดไว้ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง กรณีจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้เข้าสู่โปรแกรมการปรับตัวกลับสู่สังคมให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผน แต่ไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แต่ประการใด การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามด่วนมีคำสั่งที่ ๓๙๘/๒๕๕๙ ว่า จำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนด ประกอบกับระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบ ๓ ปี แล้ว วิธีการฟื้นฟูใช้ไม่ได้ผลกับจำเลย ทำให้ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่น่าพอใจ และให้รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไป จึงเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๓ วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีแก่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในกรณีที่ผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ดังนั้น เมื่อได้ตัวจำเลยกลับมา พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา ๒๕ ก่อน ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยเกินกำหนด ๓ ปี นับแต่วันที่จำเลยถูกส่งตัวเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๕ วรรคสี่ อันเป็นการล่วงเลยหรือพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดให้เข้ารับการฟื้นฟูแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๕ วรรคสี่ บัญญัติว่า การขยายและการลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะกระทำกี่ครั้งก็ได้ แต่การขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน ๖ เดือน และรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน ๓ ปี นับแต่วันถูกส่งตัวเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งตามมาตรา ๒๕ วรรคสอง ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดพิจารณาขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดออกไปอีกได้ ในกรณีที่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ แต่ห้ามมิให้ขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเกิน ๓ ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕ วรรคสี่ กรณีตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นเรื่องการขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยยังไม่มารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือว่าจำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่ครบระยะเวลาที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามกำหนด จึงมิใช่กรณีที่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะพิจารณาขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดออกไปอีกได้ และแม้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามมีคำสั่งให้รวมแผนฟื้นฟูทั้งสองคดีเข้าด้วยกันและขยายระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดออกไปอีกเป็นเวลา ๑๘๐ วัน ก็ไม่ใช่การขยายระยะเวลาเพราะเหตุว่าผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ดังนั้น ไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา ๒๕ วรรคสี่ มาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดมหาสารคามมีคำสั่งที่ ๓๙๘/๒๕๕๙ โดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น จึงถือไม่ได้ว่าล่วงเลยหรือพ้นกำหนดเวลาการเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูที่จะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องตามที่กล่าวอ้างไม่ การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้องคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้องนั้นไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

          พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ประทับฟ้องโจทก์.

 

(ประวิทย์  อิทธิชัยวัฒนา – อมรรัตน์  กริยาผล – พนารัตน์  คิดจิตต์)

 

ศิวานนท์  แนมใส - ย่อ

นรินทร์  ทองคำใส - ตรวจ