คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2463/2560   

พนักงานเจ้าหน้าที่                          ผู้ร้อง

นาย ซ. กับพวก                       ผู้ถูกร้อง

 

ป.วิ.พ. มาตรา 267

พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 43 วรรคสอง

พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 172 วรรคสอง, 174 วรรคสาม

 

          คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของศาลชั้นต้นที่ออกตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เป็นมาตรการให้การคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และเด็กซึ่งถูกปฏิบัติโดยมิชอบตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จึงไม่ใช่คดีสาขาของคดีแพ่งที่ผู้ถูกร้องทั้งสองพิพาทกันในเรื่องการใช้อำนาจปกครองเด็กทั้งสอง แม้ในคดีแพ่งดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาโดยให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ส่งมอบเด็กทั้งสองคืนแก่ผู้ถูกร้องที่ 2 จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าหากเด็กทั้งสองถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือถูกปฏิบัติโดยมิชอบแล้วศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กทั้งสองไม่ได้

        การที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กทั้งสองในเหตุฉุกเฉินและดำเนินการไต่สวนพยานผู้ร้องในวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอทันทีและมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กทั้งสองได้วันเดียวกัน แสดงว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องมีเหตุฉุกเฉิน การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอให้แก่ผู้ถูกร้องที่ 2 เพื่อให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีโอกาสยื่นคำคัดค้านจึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 174 วรรคสาม

______________________________

 

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ ขอให้เด็กหญิง ซ. และเด็กชาย น. อยู่ในความปกครองดูแลของบุคคลที่เหมาะสมตามความเห็นของจิตแพทย์ ผู้ร้อง และสหวิชาชีพ

          ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นาย ด. ผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นผู้คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหญิง ซ. และเด็กชาย น. มีกำหนด ๖ เดือนนับแต่วันมีคำสั่ง โดยให้เด็กทั้งสองอยู่ในความปกครองดูแลของผู้ถูกร้องที่ ๑ เมื่อผู้ถูกร้องที่ ๑ ดำเนินการตามเงื่อนไขที่ผู้ร้องกำหนดตามระเบียบ อันเป็นหลักประกันว่าจะปกครองดูแลเด็กทั้งสองให้ปลอดภัย แต่ทั้งนี้ให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ มีสิทธิพบ เยี่ยม ตลอดจนมีกิจกรรมร่วมกับผู้ถูกร้องที่ ๑ และเด็กทั้งสอง โดยการเยี่ยมและพบเด็กทั้งสองกระทำได้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายใต้เงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด ให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดพฤติการณ์อันเป็นการปฏิบัติต่อเด็กทั้งสองโดยมิชอบ โดยเฉพาะการสร้างหรือแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างกันจนส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของเด็กทั้งสอง และให้ร่วมมือในการเข้ารับการประเมินและบำบัดรักษาจากแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสืบเสาะและพินิจ รวมทั้งการดำเนินการอื่นที่อยู่ภายใต้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ของเด็กทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          ผู้ถูกร้องที่ ๒ อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ที่ผู้ถูกร้องที่ ๒ อุทธรณ์ว่า ผู้ร้องมิได้นำส่งสำเนาคำร้องขอให้แก่ผู้ถูกร้องที่ ๒ เพื่อให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ มีโอกาสยื่นคำคัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องไปฝ่ายเดียวจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อีกทั้งศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีนี้ขัดกับคำสั่งในคดีแพ่งที่ผู้ถูกร้องทั้งสองพิพาทกันในเรื่องการใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ซ. และเด็กชาย น. ซึ่งเป็นคดีหลัก คำสั่งศาลชั้นต้นในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีสาขาของคดีแพ่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของศาลชั้นต้นที่ออกตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นมาตรการให้การคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ และเด็กซึ่งถูกปฏิบัติโดยมิชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงไม่ใช่คดีสาขาของคดีแพ่งที่ผู้ถูกร้องทั้งสองพิพาทกันในเรื่องการใช้อำนาจปกครองเด็กทั้งสอง แม้ในคดีแพ่งดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาโดยให้ผู้ถูกร้องที่ ๑ ส่งมอบเด็กทั้งสองคืนแก่ผู้ถูกร้องที่ ๒ จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าหากเด็กทั้งสองถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือถูกปฏิบัติโดยมิชอบแล้ว ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กทั้งสองไม่ได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาในคดีแพ่งดังกล่าวแล้ว ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ถูกร้องทั้งสองยื้อแย่งเด็กทั้งสองกันที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จนปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางจากการให้ข่าวของผู้ถูกร้องทั้งสองและผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องทั้งสองรวมทั้งความขัดแย้งในเรื่องเกี่ยวกับการแย่งใช้อำนาจปกครองเด็กทั้งสองระหว่างผู้ถูกร้องทั้งสอง ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจและอาจส่งผลต่อเด็กทั้งสองในระยะยาวอันเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัว จึงมีเหตุที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔๓ วรรคสอง และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง และ ๑๗๙ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กทั้งสองพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินซึ่งตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีคุ้มครองสวัสดิภาพ พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อ ๙ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ซึ่งให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม กำหนดให้ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินรวมไปกับคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพโดยมิชักช้า และให้ศาลพิจารณาคำขอเป็นการด่วน ถ้าเป็นที่พอใจจากคำแถลงของผู้ร้องหรือพยานหลักฐานที่ผู้ร้องได้นำสืบ หรือที่ศาลเรียกมาสืบเองว่าคดีนั้นเป็นคดีที่มีเหตุฉุกเฉินและคำขอนั้นมีเหตุผลสมควรอันแท้จริง ให้ศาลมีคำสั่งตามที่ขอภายในขอบเขตและเงื่อนไขไปตามที่เห็นจำเป็นทันที คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กทั้งสองในเหตุฉุกเฉิน ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนพยานผู้ร้องในวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอทันที และมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กทั้งสองในวันเดียวกัน แสดงว่าศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องมีเหตุฉุกเฉิน การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องขอให้แก่ผู้ถูกร้องที่ ๒ เพื่อให้ผู้ถูกร้องที่ ๒ มีโอกาสยื่นคำคัดค้านจึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เพราะเป็นการพิจารณาคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินซึ่งศาลต้องพิจารณาคำร้องขอเป็นการด่วนและมีคำสั่งทันที เมื่อศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพได้และไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบแล้ว คำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพของศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๗๔ วรรคสาม คู่ความไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อไปได้ แต่หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปหรือประสงค์ที่จะยุติการคุ้มครองสวัสดิภาพก่อนครบระยะเวลา ผู้ถูกร้องที่ ๒ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อไต่สวนและมีคำสั่งต่อไปได้ และหากมีเหตุฉุกเฉินก็มีสิทธิขอยกเลิกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพในเหตุฉุกเฉินได้เช่นกัน อุทธรณ์ของผู้ถูกร้องที่ ๒ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

          พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ถูกร้องที่ ๒.

 

(อมรรัตน์  กริยาผล – ประวิทย์  อิทธิชัยวัฒนา – พนารัตน์  คิดจิตต์)

 

พิทักษ์  หลิมจานนท์ - ย่อสั้น

นรินทร์  ทองคำใส - ย่อยาว