คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2331/2565 นายสุริยา มีจรูญสม โจทก์
บริษัทธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
โดยบริษัทธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด
(มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน
กับพวก จำเลย
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญ กล่าวคือ นายจ้างมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่
ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นพนักงานสินเชื่อและเจ้าหน้าที่การตลาดที่มีหน้าที่นำเสนอขายผลิตภัณฑ์
และบริการของจำเลยที่ ๑ การที่จำเลยที่ ๑ ใช้หลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบ
Incentive Points ที่ได้จากการขายผลิตภัณฑ์ อันเกี่ยวเนื่องกับงานในหน้าที่ของโจทก์
มาประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ จึงเป็นวิธีที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานของโจทก์ได้โดยตรง ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียโอกาสได้รับคะแนนประเมิน โจทก์ทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาตลอด จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกับโจทก์เพียงคนเดียว แต่ใช้กับเจ้าหน้าที่การตลาดประจำสาขาทุกคน ซึ่งเปรียบเทียบกันแล้วผลการปฏิบัติงานของโจทก์ด้อยกว่าพนักงานอื่นที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันและช่วงเวลาเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ได้เพิ่งต่ำกว่าเกณฑ์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ และมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
แต่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ แม้จำเลยที่ ๑ จะให้โอกาสโจทก์ปรับปรุงและพัฒนาตนเองด้วยการเข้าโครงการแผนการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งกำหนดเกณฑ์ที่จะผ่านการประเมินให้ต่ำกว่า
ปกติแล้วถึง ๒ ครั้ง เป็นระยะเวลารวม ๕ เดือน โจทก์ก็ยังไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ ๑ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะผ่านการประเมินได้ เช่นนี้จึงแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่ามาตรฐานและหย่อนประสิทธิภาพในการทำงาน การจ้างโจทก์ทำงานต่อไปย่อมไม่เกิดประโยชน์
ต่อธุรกิจของจำเลยที่ ๑ ถือว่ามีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จำเลยที่ ๑ จะเลิกจ้างโจทก์ได้
ทั้งก่อนเลิกจ้างจำเลยที่ ๑ เคยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าหากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงาน
ได้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่กำหนดอาจเลิกจ้าง และจำเลยที่ ๑ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนและทำความเห็นเสนอประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพื่อพิจารณาสั่งการ อันเป็นขั้นตอนตามระเบียบทรัพยากรบุคคล หมวด ๑๑ ข้อ ๔๘ แล้วจึงเลิกจ้างด้วยเหตุที่กำหนดไว้ใน หมวด ๑๔ ข้อ ๖๐ ของระเบียบฉบับเดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ กลั่นแกล้งโจทก์ ถือไม่ได้ว่า
เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
______________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่าเสียหาย ๓,๐๙๖,๔๑๗ บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง บริษัทธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
ขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ ๑ และโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลแรงงานกลาง
มีคำสั่งอนุญาต ให้จำหน่ายคดีส่วนของจำเลยที่ ๒ ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
และปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททีบีซีโอ จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างชำระบัญชี จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการ
ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาโอนกิจการให้แก่บริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ต่อมา
วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ บริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น
บริษัทธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) และศาลมีคำสั่งให้บริษัทดังกล่าวเข้าสวมสิทธิ
เป็นคู่ความแทนจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ บริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ตกลงรับโอนโจทก์มาเป็นลูกจ้างโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โจทก์ทำงานตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อ (บี๙) ระดับ ๗ ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่การตลาดลูกค้า
รายย่อยอาวุโส สาขาถนนพัฒนาการ ๒๒ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๕,๑๒๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๗ ของเดือน เมื่อปี ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๑ ใช้หลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงาน
ของพนักงานแบบทั้งสาขา โดยกำหนดมาตรฐานการประเมินความสำเร็จของผลงานหรือ
Key Performance Indicator (KPI) หากสาขาใดมีคะแนน KPI ผ่านเกณฑ์ พนักงานทุกคนในสาขา
ก็จะผ่านการประเมินด้วย ต่อมาปี ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๑ เปลี่ยนมาใช้หลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทน
ในรูปแบบ Incentive Points กับเจ้าหน้าที่การตลาดประจำสาขาทั่วประเทศที่มีหน้าที่เสนอขายผลิตภัณฑ์และบริการของจำเลยที่ ๑ โดยกำหนดให้พนักงานแต่ละคนต้องมีผลงานรายเดือน
อย่างน้อยร้อยละ ๘๐ ของเป้าหมายจึงจะผ่านการประเมิน พนักงานจะได้ Incentive Points
จากทุกการขายผลิตภัณฑ์ ตำแหน่งของโจทก์เป็นพนักงานประเภท Personal Banking Officer (PBO) ซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวและโจทก์ทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาตลอด โจทก์มีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าเกณฑ์ที่จำเลยที่ ๑ กำหนดมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙
และน้อยลงเรื่อย ๆ ในปี ๒๕๖๒ และ ๒๕๖๓ ทั้งเมื่อเปรียบเทียบคะแนน KPI ของพนักงาน
ที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน คะแนน KPI ของพนักงานคนอื่น ๆ มากกว่าโจทก์ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ จำเลยที่ ๑ ออกหนังสือเตือนโจทก์ ครั้งที่ ๑ และให้โจทก์เข้าโครงการแผนการพัฒนาศักยภาพ
ในการปฏิบัติงานหรือ Performance Improvement Program (PIP) ในระหว่างเข้าโครงการ
โจทก์ต้องมีผลการปฏิบัติงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ของเป้าหมาย มีระยะเวลาการติดตามผลครั้งละ
๓ เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๔ วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๔ จำเลยที่ ๑ ออกหนังสือเตือนโจทก์ ครั้งที่ ๒ และขยายระยะเวลาการเข้าโครงการต่อไปอีก ๓ เดือน
วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ จำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาการติดตามผล
การปฏิบัติงานจาก ๓ เดือน เป็น ๒ เดือน นับจากวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๔ ต่อมาวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๔ คณะกรรมการพิจารณาศักยภาพในการปฏิบัติงานที่จำเลยที่ ๑
ตั้งขึ้นได้ประชุมพิจารณาผลการปฏิบัติงานของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าโจทก์มีผลการปฏิบัติงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานค่อนข้างมากและไม่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้นได้ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๔ จึงสรุปผล
เสนอความเห็นต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ ๑ ให้เลิกจ้างโจทก์
ตามระเบียบทรัพยากรบุคคล หมวด ๑๑ ข้อ ๔๘ จากนั้นวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๔ จำเลยที่ ๑
มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ ให้มีผลวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าชดเชย สินจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และผลประโยชน์ให้โจทก์แล้วเป็นเงิน ๖๘๑,๓๑๒ บาท แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ มีอำนาจเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานให้สอดคล้องกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจ จำเลยที่ ๑ ใช้หลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบ Incentive Points
กับพนักงานที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกับโจทก์ทุกคน และยกเลิกหลักเกณฑ์การประเมินโดยใช้คะแนน KPI แบบทั้งสาขาไปแล้ว ลักษณะงานของโจทก์เป็นทั้งพนักงานสินเชื่อและเจ้าหน้าที่การตลาดที่มีหน้าที่
เสนอขายผลิตภัณฑ์และบริการของจำเลยที่ ๑ การใช้หลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบ Incentive Points มาประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นวิธีที่สมเหตุสมผล จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เพิ่งเริ่มประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ในปีที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ และโจทก์ไม่ได้มีผล
การปฏิบัติงานต่ำกว่าเกณฑ์เฉพาะในปี ๒๕๖๓ เท่านั้น ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ จำเลยที่ ๑ กำหนดเกณฑ์ผ่านการประเมินจากเดิมเหลือร้อยละ ๖๐ เป็นการปรับลดให้เหมาะกับสถานการณ์แล้ว โจทก์ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินเพราะทำคะแนน KPI และคะแนน Incentive Points ได้ในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานในตำแหน่งเดียวกัน จำเลยที่ ๑ จึงให้โจทก์เข้าโครงการแผนการพัฒนาศักยภาพเพื่อปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ๒ ครั้ง ซึ่งในระหว่างเข้าโครงการยังปรับลดเกณฑ์ผ่านการประเมินลงมาอีกเหลือร้อยละ ๕๐ แต่ที่จำเลยที่ ๑ ปรับลดระยะเวลาการติดตามผล
การปฏิบัติงานครั้งที่ ๒ ลง เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ต้องสรุปผลการประเมินให้แล้วเสร็จก่อนโอนย้ายโจทก์ไปเป็นพนักงานของบริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมีผลวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ในขณะประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ยังเป็นนายจ้างโจทก์อยู่และมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ รวมระยะเวลาที่โจทก์เข้าโครงการแผนการพัฒนาศักยภาพ ๕ เดือน ถือว่าจำเลยที่ ๑ ให้โอกาสโจทก์พอสมควรแล้ว แต่เมื่อโจทก์ไม่สามารถปรับปรุงการปฏิบัติงานได้ ย่อมทำให้จำเลยที่ ๑ ขาดรายได้และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในภาพรวม ทั้งจำเลยที่ ๑ แจ้งให้โจทก์ทราบในหนังสือเตือน
ครั้งที่ ๒ แล้วว่าหากไม่สามารถปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดได้อาจเลิกจ้าง จำเลยที่ ๑ แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาศักยภาพในการปฏิบัติงานทำการสอบสวนข้อเท็จจริงและเสนอเรื่อง
ต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนในระเบียบทรัพยากรบุคคล หมวด ๑๑ ข้อ ๔๘ โดยชอบแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ กลั่นแกล้งโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควรและเพียงพอ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
จากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ปฏิบัติงานด้านสินเชื่อเป็นหลัก ไม่ได้ทำหน้าที่ขายผลิตภัณฑ์
ของจำเลยที่ ๑ เป็นหลัก จำเลยที่ ๑ ไม่อาจใช้หลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบ incentive Points จากการขายผลิตภัณฑ์มาประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ นั้น ศาลแรงงานกลาง
ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า ลักษณะงานของโจทก์เป็นทั้งพนักงานสินเชื่อและเจ้าหน้าที่การตลาด
มีหน้าที่เสนอขายผลิตภัณฑ์และบริการของจำเลยที่ ๑ และตำแหน่งของโจทก์เป็นพนักงานประเภท Personal Banking Officer (PBO) ซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบ incentive Points อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน
ของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใด เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ ๑ บริษัทธนาคารหหารไทย จำกัด (มหาชน) และโจทก์ ตามสัญญาโอนการจ้างงานข้อ ๑ ระบุว่า วันที่โอนการจ้างให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ การที่คณะกรรมการพิจารณาศักยภาพในการปฏิบัติงานที่จำเลยที่ ๑ แต่งตั้งขึ้น
ได้ประชุมพิจารณาในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๓ แล้วสรุปผลการพิจารณาพร้อมเสนอความเห็น
ต่อจำเลยที่ ๑ในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๔ และจำเลยที่ ๑ มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๔ จึงเป็นการดำเนินการก่อนที่โจทก์จะถูกโอนไปเป็นลูกจ้างบริษัทธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
และจำเลยที่ ๑ ยังมีสถานะเป็นนายจ้างโจทก์อยู่ ซึ่งสามารถกระทำได้ ส่วนการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญ กล่าวคือ นายจ้างมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นพนักงานสินเชื่อและเจ้าหน้าที่การตลาดที่มีหน้าที่นำเสนอขายผลิตภัณฑ์และบริการของจำเลยที่ ๑ การที่จำเลยที่ ๑ ใช้หลักเกณฑ์
การจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบ Incentive Points ที่ได้จากการขายผลิตภัณฑ์ อันเกี่ยวเนื่องกับงาน
ในหน้าที่ของโจทก์มาประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ จึงเป็นวิธีที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานของโจทก์ได้โดยตรง ไม่ได้ทำให้โจทก์เสียโอกาสได้รับคะแนนประเมิน โจทก์ทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาตลอด จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกับโจทก์เพียงคนเดียว แต่ใช้กับเจ้าหน้าที่การตลาดประจำสาขาทุกคน ซึ่งเปรียบเทียบกันแล้วผลการปฏิบัติงานของโจทก์ด้อยกว่าพนักงานอื่นที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันและช่วงเวลาเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ได้เพิ่งต่ำกว่าเกณฑ์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ และมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ แม้จำเลยที่ ๑ จะให้โอกาสโจทก์ปรับปรุงและพัฒนาตนเองด้วยการเข้าโครงการแผนการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งกำหนดเกณฑ์ที่จะผ่านการประเมินให้ต่ำกว่าปกติแล้วถึง ๒ ครั้ง เป็นระยะเวลารวม ๕ เดือน โจทก์ก็ยังไม่สามารถขายผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ ๑ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะผ่านการประเมินได้ เช่นนี้จึงแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่ามาตรฐานและหย่อนประสิทธิภาพในการทำงาน การจ้างโจทก์ทำงานต่อไปย่อมไม่เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของจำเลยที่ ๑ ถือว่ามีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จำเลยที่ ๑ จะเลิกจ้างโจทก์ได้ ทั้งก่อนเลิกจ้างจำเลยที่ ๑ เคยแจ้งให้โจทก์
ทราบแล้วว่าหากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานได้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่กำหนดอาจเลิกจ้าง
และจำเลยที่ ๑ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนและทำความเห็นเสนอประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพื่อพิจารณาสั่งการ อันเป็นขั้นตอนตามระเบียบทรัพยากรบุคคล หมวด ๑๑ ข้อ ๔๘ แล้ว
จึงเลิกจ้างด้วยเหตุที่กำหนดไว้ใน หมวด ๑๔ ข้อ ๖๐ ของระเบียบฉบับเดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ กลั่นแกล้งโจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กรณีจึงไม่มีค่าเสียหายที่ต้องกำหนดให้โจทก์
ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยและพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
(สมเกียรติ คูวัธนไพศาล – วิไลวรรณ ชิดเชื้อ – ดณยา วีรฤทธิ์)
ภัทรวรรณ ทรงกำพล - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ