คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2268/2565 บริษัทโตโยด้า โกเซ (ประเทศไทย) จำกัด  โจทก์
                                                                 
  นายกานต์  รังสิมันต์รัตน์

                                                                    ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน          จำเลย

                                                                    นายประมวล  พรมโคตร             จำเลยร่วม

ป.พ.พ. มาตรา ๘, ๑๕๐

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๒, ๕๗

กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563

            กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจาก
การระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ข้อ 2 นิยาม
เหตุสุดวิสัยว่า หมายความรวมถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย
ว่าด้วยโรคติดต่อซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้
หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ นั้น บัญญัติไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บังคับเฉพาะกับกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โดยลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะนำคำนิยามของคำว่า
เหตุสุดวิสัยตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมาใช้ในกรณีทั่วไปไม่ได้ โดยกรณีทั่วไป จะใช้นิยามคำว่าเหตุสุดวิสัยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 8 ที่ให้นิยามคำว่า เหตุสุดวิสัย หมายความว่า
เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบ
หรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคล
ในฐานะและภาวะเช่นนั้น ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครก่อให้เกิดขึ้นและเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่การที่จำเลยร่วมติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ว่าการป่วยดังกล่าวจะเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นกรณีเจ็บป่วยตามปกติ ลูกจ้างก็ยังคงได้รับความคุ้มครอง
ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง
ที่บัญญัติว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยตามมาตรา 32 เท่ากับอัตราค่าจ้าง
ในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทำงาน ประกาศของโจทก์
เรื่อง การใช้สิทธิการลาเกี่ยวกับสถานการณ์
COVID – 19 กรณีพนักงานโดนคำสั่งจากทางภาครัฐ 
และ/หรือ คำสั่งจากทางบริษัท ฯ ให้กักตัว ๑๔ วัน ที่กำหนดโดยมีใจความสำคัญว่า กรณีที่พนักงานเข้าไปยังจังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม ฝ่าฝืนประกาศ เรื่อง มาตรการป้องกันวิกฤตการณ์
จากโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 (ฉบับล่าสุด) ของโจทก์ หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หากพนักงานโดนคำสั่ง
ให้กักตัว ให้พนักงานลาหยุดโดยใช้สิทธิการลาหยุดอื่น ๆ โดยไม่ได้รับค่าจ้างตามวันที่กำหนด นั้น  จึงขัดต่อมาตรา 57 และมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะ โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้าง

ในวันลาป่วยให้แก่จำเลยร่วมในวันที่ไม่ได้มาทำงานเนื่องจากถูกกักตัวเพื่อป้องกันการระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
 

______________________________

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๕๐๑/๒๕๖๔ ลงวันที่
๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานภาค ๒ มีคำสั่งเรียกนายประมวล เข้าเป็นจำเลยร่วม

         จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยพร้อมดอกเบี้ย
นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วม

         ศาลแรงงานภาค ๒ พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยและค่าชดเชย ๑๗๕,๖๕๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่
วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วม ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี  ที่  ๕๐๑/๒๕๖๔

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยร่วมเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานจัดของเพื่อเตรียมขนส่ง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564
โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วม วันที่ 29 มิถุนายน 2564 จำเลยร่วมยื่นคำร้องต่อจำเลยว่าถูกโจทก์เลิกจ้าง
โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างในวันลาป่วยโดยไม่ชอบ ต่อมา จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์โดยกรรมการ
ผู้มีอำนาจจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยตั้งแต่วันที่ 14 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2564 เป็นเงิน 5,112 บาท และค่าชดเชย 170,540 บาท รวมเป็นเงิน 175,652 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี ที่ 501/2564 แล้ววินิจฉัยว่า วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ จำเลยร่วมรับประทานอาหารร่วมกับภริยา น้องชาย น้องสาว และทราบว่าน้องชายติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๗ นาฬิกา ก่อนเข้าทำงานในกะดึก แต่ไม่ได้แจ้งให้โจทก์
ทราบทันทีว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ หลังเลิกงาน จำเลยร่วมกับภริยาตรวจหาเชื้อดังกล่าว ผลการตรวจปรากฏว่าติดเชื้อจริง จำเลยร่วมจึงทำผิดตามประกาศของโจทก์ เรื่อง มาตรการป้องกันวิกฤติการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 โดยรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และต่อมา
เมื่อทราบว่าผู้อื่นคือน้องชายของจำเลยร่วมติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบทันที และยังเข้าทำงานกะดึก ทั้งที่ตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่จำเลยร่วมจะเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด
ของโรคดังกล่าวหรือไม่ น่าเชื่อว่าเป็นเรื่องที่พยานโจทก์คาดการณ์ไปเอง แต่อย่างไรก็ตามถือว่า
จำเลยร่วมทำผิดคำสั่งของโจทก์แล้ว ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวดที่ ๘ วินัยและโทษทางวินัย ข้อ ๑.๑ กำหนดว่า พนักงานต้องปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด ลักษณะความผิด ข้อ ๕.๖ กำหนดว่า ฝ่าฝืน ละเลย หรือเพิกเฉยต่อประกาศหรือคำสั่งของโจทก์ ระดับการลงโทษ ครั้งที่ ๑ พักงาน ๕ วัน
ครั้งที่ ๒ เลิกจ้าง และในตอนท้ายของข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวกำหนดว่า ความผิดอื่นใด
ที่ไม่กำหนดไว้ในตารางลักษณะความผิดข้างต้นนี้ โจทก์จะลงโทษโดยการเตือนด้วยวาจา หรือหนังสือเตือน หรือพักงาน หรือเลิกจ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องลงโทษตามลำดับ โดยจะพิจารณาจากความเสียหาย ความรุนแรง พฤติกรรมขณะทำ และความเป็นธรรมเป็นกรณี ๆ ไป การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยร่วม
เป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องกักตัวลูกจ้างอีกหลายคน
ต้องจ้างคนมาทำงานแทนผู้ที่ถูกกักตัว และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อนั้น ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันให้ชัดเจนว่า จำเลยร่วมเป็นต้นเหตุหรือสาเหตุดังกล่าวจริงหรือไม่ แม้จำเลยร่วมจะเป็นบุคคล
ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ลูกจ้างคนอื่น ๆ ก็อาจเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับจำเลยร่วมก็ได้
เพราะสถานการณ์ในขณะนั้นอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในวงกว้าง และการกระทำ
ของจำเลยร่วมก็ไม่ใช่เป็นการกระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่เป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงยังไม่ถึงขั้นผิดระเบียบวินัยหรือข้อบังคับ
ของโจทก์กรณีร้ายแรง เพียงแต่ทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งโจทก์
จะเลิกจ้างจำเลยร่วมได้จะต้องตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือ
และใช้วิธีเลิกจ้าง คำสั่งของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยร่วมมิใช่ความผิดร้ายแรง ตามมาตรา ๑๑๙
แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วม จำเลยร่วมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยวินิจฉัยว่า ระหว่างวันที่ ๑๔ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ จำเลยร่วมยังคงมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์อยู่ โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยตั้งแต่วันดังกล่าวให้แก่จำเลยร่วม
แม้โจทก์จะออกประกาศ เรื่อง การใช้สิทธิการลาเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID – 19 กรณี พนักงาน
โดนคำสั่งจากทางภาครัฐ และ/หรือ คำสั่งจากทางบริษัท ฯ ให้กักตัว ๑๔ วัน โดยมีใจความสำคัญระบุว่า สิทธิการลาจะพิจารณาจากการสอบสวนเหตุการณ์และพฤติกรรมของพนักงาน โดยการพิจารณาสิทธิการลาขึ้นอยู่กับ AGM/GM ฝ่าย HR & GA เป็นผู้ตัดสินใจเป็นที่สิ้นสุด ทั้งนี้ ถ้าโจทก์สอบสวนพนักงานแล้วพบว่า พนักงานไม่ปฏิบัติตามประกาศจากฝ่ายความปลอดภัยของโจทก์ เรื่อง มาตรการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 (ฉบับล่าสุด) และหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ มีการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จกับทางโจทก์ สิทธิการลาหยุด กรณีกักตัวจะเป็น
การลาหยุดอื่น ๆ โดยไม่ได้รับค่าจ้างตามวันที่กำหนดให้มีการกักตัวทันที และจะถูกดำเนินการสอบสวน ลงโทษทางวินัยตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ ซึ่งการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เปรียบเสมือน
การป่วยทั่วไป โจทก์จึงไม่อาจปฏิเสธหรือออกกฎระเบียบที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายเกี่ยวกับ
การลาป่วยได้ โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยให้จำเลยร่วมตั้งแต่วันที่ ๑๔ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔นั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยของจำเลยดังกล่าวถูกต้องแล้ว เมื่อจำเลยร่วมทราบว่าตนเองติดเชื้อในวันที่
๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ ก็ได้แจ้งให้โจทก์ทราบทันที จากนั้นพักกักตัวตามช่วงวันดังกล่าว แม้จะไม่ปรากฏว่า
ได้ยื่นใบลาป่วยต่อโจทก์ก็ถือว่าเป็นการลาป่วยต่อโจทก์แล้ว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยตามมาตรา ๓๒
เท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทำงาน
จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้ การที่โจทก์ประกาศ หน้า ๖๔ ในลักษณะทำนองว่า หากจำเลยร่วม
ต้องกักตัวเนื่องจากจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติตามประกาศ เรื่อง มาตรการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 จะไม่ได้รับค่าจ้างตามวันที่กำหนดให้มีการกักตัวทันที ประกาศของโจทก์ในส่วนที่ว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างด้วยเหตุที่กำหนดไว้ฝ่าฝืนต่อหลักกฎหมายดังกล่าว อันเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยตามระยะเวลาดังกล่าวตามที่จำเลยได้วินิจฉัยไว้ที่ ที่จำเลยมีคำวินิจฉัยให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุสมควรเพิกถอนคำสั่งของจำเลย และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อคำสั่ง
ของจำเลยยังคงผูกพันโจทก์ จึงให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลย

         ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยร่วมฝ่าฝืนประกาศของโจทก์ เป็นความผิดร้ายแรง แม้ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าจำเลยร่วมเป็นต้นเหตุการแพร่เชื้อจริงหรือไม่ ก็หาได้สำคัญไม่ เนื่องจากมาตรการกักตัวและการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในสถานประกอบการของโจทก์ โดยมีเป้าหมายต้องการให้การระบาดจำกัดวงให้แคบลงและควบคุมได้ มิได้มีเป้าหมายที่จะหาตัวผู้แพร่เชื้อมารับผิด
ทางวินัย การที่จำเลยร่วมติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ไม่ว่าจะแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่เป็นความผิดทางวินัย ประกาศหมาย จ.7 เป็นมาตรการที่ป้องกันมิให้พนักงานตกเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ การที่จำเลยร่วมฝ่าฝืนประกาศหมาย จ.7 ด้วยการรับประทานอาหารร่วมกับบุคคลอื่น และเมื่อทราบว่าบุคคลอื่นที่รับประทานอาหารด้วยกันติดเชื้อ จำเลยร่วมย่อมรู้ว่าตนเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อด้วย แต่ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบและกลับเข้ามาทำงานตามปกติ จึงเป็นเหตุให้โจทก์ต้องกักตัวพนักงานอื่นที่ทำงานใกล้ชิดกับจำเลยร่วมก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายทั้งค่าจ้างพนักงานที่ถูกกักตัว
และค่าตรวจหาเชื้อรวมถึงความเสียหายต่อการผลิตของโจทก์ มาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ของโจทก์สอดคล้องกับมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
การที่จำเลยร่วมฝ่าฝืนมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของโจทก์ จึงมิใช่
การฝ่าฝืนกรณีไม่ร้ายแรงดังที่ศาลแรงงานภาค ๒ วินิจฉัย หากแต่เป็นการฝ่าฝืนกรณีร้ายแรงนั้น
ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์อ้างว่า จำเลยร่วมเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อดังกล่าว
ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องกักตัวลูกจ้างอีกหลายคน ต้องจ้างคนมาทำงานแทนผู้ที่ถูกกักตัว
และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อนั้น ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันให้ชัดเจนว่า จำเลยร่วม
เป็นต้นเหตุหรือสาเหตุดังกล่าวจริงหรือไม่ การกระทำของจำเลยร่วมเป็นเพียงแต่กระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งโจทก์จะเลิกจ้างจำเลยร่วมได้จะต้องตักเตือน
เป็นหนังสือแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือและใช้วิธีเลิกจ้าง อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 2 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ประกาศของโจทก์ เรื่อง การใช้สิทธิการลาเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID – 19 กรณี พนักงานโดนคำสั่งจากทางภาครัฐ และ/หรือ คำสั่งจาก
ทางบริษัท ฯ ให้กักตัว ๑๔ วัน ที่จำเลยร่วมจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ถูกกักตัว ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจาก
การระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ข้อ 2 นิยามเหตุสุดวิสัยว่า หมายความรวมถึงภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ
ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขนาดที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ นั้น บัญญัติไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บังคับเฉพาะกับกฎกระทรวง
ฉบับดังกล่าว โดยลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจาก
มีเหตุสุดวิสัย ตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว กรณีจะนำคำนิยามของคำว่าเหตุสุดวิสัย
ตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมาใช้ในกรณีทั่วไปไม่ได้ โดยกรณีทั่วไป จะใช้นิยามคำว่าเหตุสุดวิสัย
ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ที่ให้นิยามคำว่า เหตุสุดวิสัย หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบ
หรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดทั่วโลก
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครก่อให้เกิดขึ้นและเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่การที่จำเลยร่วมติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ว่าการป่วยดังกล่าวจะเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นกรณีเจ็บป่วยตามปกติ ลูกจ้างก็ยังคงได้รับ
ความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 57 ประกอบมาตรา 32
โดยมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาป่วยตามมาตรา 32 เท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันทำงาน ประกาศของโจทก์ เรื่อง การใช้สิทธิการลาเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID – 19 กรณี พนักงานโดนคำสั่งจากทางภาครัฐ และ/หรือ คำสั่งจากทางบริษัท ฯ ให้กักตัว ๑๔ วัน ที่กำหนดโดยมีใจความสำคัญว่า กรณีที่พนักงาน
เข้าไปยังจังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม ฝ่าฝืนประกาศ เรื่อง มาตรการป้องกันวิกฤตการณ์
จากโรคติดเชื้อไวรัส COVID – 19 (ฉบับล่าสุด) ของโจทก์ หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หากพนักงาน
โดนคำสั่งให้กักตัว ให้พนักงานลาหยุดโดยใช้สิทธิการลาหยุดอื่น ๆ โดยไม่ได้รับค่าจ้างตามวันที่กำหนด นั้น
จึงขัดต่อมาตรา 57 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะ โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาป่วยให้แก่จำเลยร่วมในวันที่ไม่ได้มาทำงานเนื่องจากถูกกักตัวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019

         พิพากษายืน.

(กนกรดา  ไกรวิชญพงศ์ – ศุภร  พิชิตวงศ์เลิศ – ดาราวรรณ  ใจคำป้อ)

ธัชวุทธิ์  พุทธิสมบัติ - ย่อ

 อิสรา  วรรณสวาท - ตรวจ