คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2257/2565 บริษัทเอ็ม  เอ็ม  ลอจิสติคส์  จำกัด      โจทก์

                                                                      นางทิพยาภา  สุวรรณโคตร  ในฐานะ

                                                                      พนักงานตรวจแรงงาน                     จำเลย

                                                                      นายเกียรติศักดิ์  วิจิตรขจี               จำเลยร่วม                                                           

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)

         วันหยุดพักของจำเลยร่วม จำเลยร่วมขับรถยนต์ของโจทก์ซึ่งมีไว้เพื่อให้พนักงานโจทก์
ใช้ประโยชน์ส่วนตัวในช่วงวันหยุดพักไปซื้อของที่ร้านค้าจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบคำสั่งของโจทก์อันว่าด้วยการนำทรัพย์สินไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การจะถือว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีใดเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น ศาลต้องพิจารณาจากพฤติการณ์
แห่งคดีแต่ละกรณีไป มิใช่ว่าต้องถือไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งอาจกำหนดขึ้นโดยไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างก็ได้ เมื่อจำเลยร่วมขับรถยนต์คันดังกล่าวไปซื้อของที่ร้านค้าแล้วดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านค้า จำเลยร่วมมีอาการมึนเมาไม่สามารถขับรถยนต์คันดังกล่าวกลับถึงที่พักได้ จึงจอดรถยนต์ไว้แล้วไปนอนที่เพิงพักข้างทาง ซึ่งสภาพถนนที่จำเลยร่วมจอดรถยนต์ทิ้งไว้มีลักษณะเป็นทางที่ใช้สัญจรในชนบท
ผู้ขับขี่ไม่สามารถใช้ความเร็ว
ได้เหมือนกับถนนทางหลวงได้ แม้จำเลยร่วมจอดรถยนต์บริเวณทางโค้ง
แต่ก็จอดไว้ชิดขอบทาง ซึ่งแม้จะ
เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่ก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์หรือชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงและไม่เป็นจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ย่อมไม่ใช่กรณีจำเลยร่วมทำความผิดร้ายแรง เมื่อโจทก์ไม่ได้มีหนังสือเตือนจำเลยร่วมก่อนเลิกจ้าง
จึงเป็นการเลิกจ้างในกรณีที่ไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครอง
แรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)

______________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
จังหวัดอุดรธานี ที่ 42/2564 เรื่อง ค่าชดเชยลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานภาค ๔ มีคำสั่งเรียกนายเกียรติศักดิ์ เข้าเป็นจำเลยร่วม

         ศาลแรงงานภาค ๔ พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๔ ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยร่วมเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขับรถแบคโฮ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2557 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,450 บาท ทำงานติดต่อกัน 28 วัน มีวันหยุดพัก 14 วัน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564
ซึ่งเป็นวันหยุดพักของจำเลยร่วม จำเลยร่วมขับรถยนต์ของโจทก์ ไปซื้อของที่ร้านค้า แล้วดื่มแอลกอฮอล์
ที่ร้านค้า จำเลยร่วมมีอาการมึนเมาไม่สามารถขับรถยนต์คันดังกล่าวกลับถึงที่พักได้ จึงจอดไว้ แล้วนอน
ที่เพิงพักข้างทางและทำกุญแจรถยนต์หายไป เช้าวันรุ่งขึ้นพนักงานโจทก์พบรถยนต์คันดังกล่าวจอดบริเวณทางโค้งแต่ไม่สามารถติดต่อจำเลยร่วมได้ จึงจ้างรถยกมาเคลื่อนย้ายรถยนต์คันดังกล่าวออกไป ต่อมาวันที่
20 สิงหาคม 2564 โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วม วันที่ 1 กันยายน 2564 จำเลยร่วมยื่นคำร้อง
ต่อพนักงานตรวจแรงงาน แล้วจำเลยมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอุดรธานีที่ 42/2564 เรื่อง ค่าชดเชย ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย 76,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดแก่จำเลยร่วม แล้ววินิจฉัยว่า รถยนต์คันดังกล่าว
โจทก์มีไว้เพื่อให้พนักงานใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในช่วงวันหยุดพัก จึงฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยร่วมขับรถยนต์
คันดังกล่าวออกไปนั้นเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของโจทก์อันว่าด้วยการนำทรัพย์สินของโจทก์ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามข้อ 2.4.5 และไม่ใช่กรณีจำเลยร่วมฝ่าฝืนระเบียบ
หรือคำสั่งของโจทก์อันก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายตามข้อ 2.4.3 อันจะเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างที่โจทก์ระบุไว้ และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีระเบียบข้อบังคับของโจทก์กำหนดให้เรื่องดังกล่าว
เป็นกรณีร้ายแรงถึงขนาดสามารถลงโทษด้วยการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและโดยไม่จำต้องตักเตือน
เป็นหนังสือตามข้อ 3.1.4 (4) ได้แล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เมื่อจำเลยร่วมเป็นลูกจ้าง
ซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย
สองร้อยสี่สิบวัน แต่เนื่องจากโจทก์จ่ายค่าจ้างแก่จำเลยร่วมด้วยอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งท้องที่จังหวัดอุดรธานีมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 320 บาท ตามสำเนาประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๑๐) การคำนวณค่าชดเชยจึงต้องใช้ฐานอัตรา
ค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราดังกล่าว คิดเป็นเงิน 76,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอุดรธานี ที่ 24/2564
เรื่อง ค่าชดเชย ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2564 จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่ง

         มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอุดรธานี ที่ 24/2564 เรื่อง ค่าชดเชย ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ หรือไม่ เห็นว่า วันหยุดพักของจำเลยร่วม จำเลยร่วมขับรถยนต์ของโจทก์ซึ่งมีไว้เพื่อให้พนักงานโจทก์
ใช้ประโยชน์ส่วนตัวในช่วงวันหยุดพักไปซื้อของที่ร้านค้าจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
หรือระเบียบคำสั่งของโจทก์อันว่าด้วยการนำทรัพย์สินไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต การจะถือว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีใดเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น ศาลต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี
แต่ละกรณีไป มิใช่ว่าต้องถือไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งอาจกำหนดขึ้นโดยไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างก็ได้ เมื่อจำเลยร่วมขับรถยนต์คันดังกล่าวไปซื้อของที่ร้านค้าแล้วดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านค้า จำเลยร่วมมีอาการมึนเมาไม่สามารถขับรถยนต์คันดังกล่าวกลับถึงที่พักได้ จึงจอดรถยนต์ไว้แล้วไปนอนที่เพิงพักข้างทาง ซึ่งสภาพถนน
ที่จำเลยร่วมจอดรถยนต์ทิ้งไว้มีลักษณะเป็นทางที่ใช้สัญจรในชนบท ผู้ขับขี่ไม่สามารถใช้ความเร็วได้เหมือนกับถนนทางหลวงได้ แม้จำเลยร่วมจอดรถยนต์บริเวณทางโค้งแต่ก็จอดไว้ชิดขอบทาง ซึ่งแม้จะเสี่ยงต่อ
การเกิดอุบัติเหตุ แต่ก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์หรือชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น
แต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณี
ที่ร้ายแรงและไม่เป็นจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ย่อมไม่ใช่กรณีจำเลยร่วมทำความผิดร้ายแรง
เมื่อโจทก์ไม่ได้มีหนังสือเตือนจำเลยร่วมก่อนเลิกจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างในกรณีที่ไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)

         พิพากษายืน.

(วรศักดิ์  จันทร์คีรี - พนารัตน์  คิดจิตต์ - ฤทธิรงค์  สมอุดร)

วิฑูรย์  ตรีสุนทรรัตน์ - ย่อ

อิสรา  วรรณสวาท - ตรวจ