คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2199 - 2200/2565 นางสาวโชติมาหรือนางโชติมา
ล่ามสมบัติ กับพวก โจทก์
บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด
(มหาชน) จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๓
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔)
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ผู้บังคับบัญชาที่มีระดับต่ำกว่าผู้จัดการฝ่ายมีอำนาจลงโทษตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปมีอำนาจลงโทษทางวินัยทุกสถาน เมื่อศาลแรงงานภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงว่านาย ส. เป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ที่ 1
มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ส่วนนาย ค. เป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ที่ 2 มีตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการทั่วไป ตำแหน่งของนาย ส. และนาย ค. จึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่จะมีอำนาจลงโทษสั่งพักงานโจทก์ทั้งสองชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้างได้ นอกจากนี้ปรากฏตามเอกสารใบรับเงินเดือนประจำวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ ของโจทก์ทั้งสอง และตามที่โจทก์ทั้งสองรับในอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับค่าจ้างประจำเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ ครบถ้วนแล้ว ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กำหนดให้การสั่งพักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นโทษทางวินัยสถานหนึ่งที่กำหนดไว้
โดยพนักงานที่กระทำผิดวินัยผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งพักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้างได้ เมื่อจำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสองในระหว่างที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานวันที่ ๒๔ ถึงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๓
จึงไม่ถือเป็นการลงโทษแก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำผิดของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ถือว่ามีการลงโทษโจทก์ทั้งสองไปแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิลงโทษเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย
ในกรณีร้ายแรง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) กับไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๓
และกรณีมีเหตุสมควรในการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
_______________________________
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๗๔๘,๙๗๓ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๐๙,๑๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน
แต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และค่าเสียจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
๕,๘๙๓,๗๗๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
แก่โจทก์ที่ ๑ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๖๐๔,๒๔๑ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
๑๑๗,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง
เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๕,๖๓๕,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๒
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๔ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๔ รับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลย
มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าร้านสะดวกซื้อ ใช้ชื่อว่า “เซเว่น-อีเลฟเว่น” เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ จำเลยรับโจทก์ที่ ๑ เข้าทำงานตำแหน่งสุดท้าย
เป็นผู้จัดการเขตอาวุโส รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๔,๕๗๐ บาท วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ จำเลย
รับโจทก์ที่ ๒ เข้าทำงานตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการเขต รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๘,๗๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๓๐ ของเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองตามหนังสือเลิกจ้างลงวันที่
๑๑ มกราคม ๒๕๖๔ แล้ววินิจฉัยว่า นายสุรพงษ์ เป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ที่ ๑ ดำรงตำแหน่ง
เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ส่วนนายสาคร เป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการทั่วไป
ไม่มีอำนาจลงโทษสั่งพักงานโจทก์ทั้งสอง เนื่องจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 7
วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3 กำหนดให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปเท่านั้นที่มีอำนาจลงโทษ
ทางวินัยทุกสถาน หากผู้บังคับบัญชาที่มีระดับต่ำกว่าผู้จัดการฝ่ายจะมีอำนาจลงโทษตักเตือน
เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ทั้งปรากฏว่า นายประยูร ผู้จัดการทั่วไปส่วนงานทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ
ยังไม่รับทราบและยินยอมหรืออนุมัติให้ลงโทษสั่งพักงานโจทก์ทั้งสองตามบันทึกสรุปผลการสอบสวน
โดยมีแต่เพียงนายสุรพงษ์ ผู้บังคับบัญชาโจทก์ที่ ๑ และนายสาคร ผู้บังคับบัญชาโจทก์ที่ ๒ ลงลายมือชื่อ
ในเอกสารดังกล่าวในฐานะเป็นผู้กลั่นกรองเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย
หมวดที่ 7 วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3 ข้างต้น ทั้งโจทก์ทั้งสองไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว
การพิจารณาลงโทษสั่งพักงานโจทก์ทั้งสองระหว่างวันที่ 24 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2563 จึงมิใช่การกระทำของตัวแทนที่มีอำนาจกระทำแทนจำเลย การที่ต่อมาจำเลยทำการสอบสวนแล้วเห็นควรลงโทษเลิกจ้าง
โจทก์ทั้งสองตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๔ จึงไม่เป็นการลงโทษซ้ำซ้อน พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสอง
ส่อไปในทางทุจริตและแสวงหาประโยชน์จากธุรกิจของจำเลย จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยผู้บังคับบัญชาที่มีระดับต่ำกว่าผู้จัดการฝ่ายมีอำนาจลงโทษตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปมีอำนาจลงโทษทางวินัยทุกสถาน
เมื่อศาลแรงงานภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงว่านายสุรพงษ์ ผู้บังคับบัญชาโจทก์ที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ส่วนนายสาคร ผู้บังคับบัญชาโจทก์ที่ 2 มีตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการทั่วไป ตำแหน่งของนายสุรพงษ์
และนายสาคร จึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่จะมีอำนาจลงโทษสั่งพักงาน
โจทก์ทั้งสองชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้างได้ นายสุรพงษ์ และนายสาคร ลงลายมือชื่อในบันทึกสรุปผล
การสอบสวน ในฐานะผู้กลั่นกรองเท่านั้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์อ้างโครงสร้างการบริหารของบริษัทจำเลยมาแนบท้ายอุทธรณ์นั้น ก็เป็นเอกสารที่โจทก์ทั้งสองจัดทำขึ้นฝ่ายเดียวและเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์
นายสุรพงษ์กับนายสาคร จึงไม่มีสิทธิสั่งพักงานโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้ปรากฏตามเอกสารใบรับเงินเดือนประจำวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ ของโจทก์ทั้งสอง และตามที่โจทก์ทั้งสองรับในอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสอง
ได้รับค่าจ้างประจำเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ ครบถ้วนแล้ว ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย
หมวดที่ 7 วินัยและโทษทางวินัย ข้อ ๒ โทษทางวินัย กำหนดให้การสั่งพักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
เป็นโทษทางวินัยสถานหนึ่งที่กำหนดไว้ โดยพนักงานที่กระทำผิดวินัยผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งพักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้างได้ มีกำหนดครั้งละไม่เกิน ๑๕ วัน เมื่อจำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสองในระหว่าง
ที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานวันที่ ๒๔ ถึงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๓ จึงไม่ถือเป็นการลงโทษแก่โจทก์ทั้งสอง
อีกทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ ๕๕๕/๒๕๖๒
ที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในอุทธรณ์แต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำผิดของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ถือว่ามีการลงโทษ
โจทก์ทั้งสองไปแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิลงโทษเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า กรณีมีเหตุเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองหรือไม่
และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง
ไม่เป็นธรรม แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) กับไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และกรณีมีเหตุสมควรในการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง
ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน.
(ยุคนธร พาณิชปฐมพงศ์ - ชะรัตน์ สุวรรณมา - สัญชัย ลิ่มไพบูลย์)
มนุเชษฐ์ โรจนศิริบุตร - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ