คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1146/2565 นายนิรันดร ตั้งศรีไพโรจน์ โจทก์
บริษัทเอเซียส รีเยนแนล เซอร์วิส
จำกัด จำเลย
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙
การพิจารณาว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ หาใช่พิจารณาแต่เพียงปัญหาความจำเป็นในทางธุรกิจของนายจ้างประการเดียวเท่านั้นไม่ คดีนี้แม้จำเลยจะประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมีความจำเป็นต้องปรับลดขนาดองค์กรให้เล็กลงเพื่อให้เหมาะสมกับทิศทางของธุรกิจ อันเป็นอำนาจในการบริหารจัดการกิจการของจำเลยในฐานะนายจ้างก็ตาม แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีเลิกจ้างลูกจ้างต้องเป็นทางเลือกที่จำเป็นและไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า และนายจ้างจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมในการคัดเลือกลูกจ้างที่จะเลิกจ้างโดยไม่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วย
ทั้งนี้เพราะการเลิกจ้างมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตปกติของลูกจ้างและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาและที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า แม้จำเลยและบริษัทในกลุ่มบริษัท จ. จะมีกรรมการและการดำเนินงานแยกต่างหากจากกัน แต่ก็มีการใช้ทรัพยากรบุคคลร่วมกัน โดยหมุนเวียนพนักงานไปทำงานในกลุ่มบริษัทเดียวกันเป็นปกติ โจทก์เข้าทำงานครั้งแรกกับบริษัท จ. ต่อมาได้รับการโอนย้ายไปทำงานกับบริษัทต่าง ๆ
ในกลุ่มเดียวกันหลายครั้ง บางครั้งทำงานควบคู่กันไปถึงสองบริษัท โดยเฉพาะบริษัทจำเลยโจทก์ได้รับการโอนย้ายมาทำงานเป็นครั้งที่สองแล้ว แสดงว่าทางเลือกของจำเลยในการโอนย้ายโจทก์
ไปทำงานกับบริษัทในกลุ่มเดียวกันแทนการเลิกจ้างไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ โจทก์ทำงานกับจำเลยและบริษัทในกลุ่มมาเป็นเวลานานรวม ๓๑ ปี โดยได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่ง
สูงขึ้นมาโดยตลอดย่อมแสดงถึงความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของโจทก์ที่สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ในหลายตำแหน่งหน้าที่ การที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ล่วงหน้าเพียง ๒ วัน ย่อมเท่ากับเป็นการปิดโอกาสไม่ให้โจทก์ได้รับการโอนย้ายไปทำงานกับบริษัทอื่นแทนการถูกเลิกจ้าง ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าเหตุในการเลิกจ้างที่แท้จริงแล้วเป็นนโยบายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างที่ประสงค์
จะลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนขององค์กรลงเท่านั้น อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียว โดยมิได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างที่จะต้องถูกเลิกจ้างจากการนี้ แม้จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ตามอำนาจในการบริหารจัดการกิจการของจำเลย แต่เหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าว
ยังไม่สมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
________________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 16,560,652 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่เลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่า
จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องลูกข่ายและให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านดาวเทียม จำเลยเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) มีบริษัทเอเซียส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 98 บริษัทเอเซียส (ประเทศไทย) จำกัด มีบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล โอเวอร์ซี จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 59 บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล โอเวอร์ซี จำกัด มีบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 40 บริษัทเอเซียส (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 34 และจำเลยถือหุ้นร้อยละ 26 โจทก์เริ่มเข้าทำงานกับบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน 2532 สุดท้ายโอนย้ายมาทำงานกับจำเลยซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖ ตำแหน่งสุดท้าย
คือที่ปรึกษา ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 243,539 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน
ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2563 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลในวันที่ 30 เมษายน 2563
โดยจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๓,247,187 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 162,359 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 243,539 บาท และเงินช่วยเหลือ 243,539 บาท รวมเป็นเงิน 3,896,624 บาท ให้แก่โจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยประกอบกิจการขาดทุนต่อเนื่อง และมีผลขาดทุนสะสมจำนวนมาก อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตมีการพัฒนามากขึ้น ทำให้ความนิยม
ในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านดาวเทียมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของจำเลยลดลงมาโดยตลอด และแนวโน้ม
การประกอบกิจการยังไม่ดีขึ้น จำเลยย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการบริหารจัดการเพื่อให้องค์กร
ของจำเลยสามารถอยู่รอดและดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยได้หาทางออกด้วยการปรับลดจำนวนพนักงานโดยจัดทำโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่โจทก์ไม่เข้าร่วมโครงการ การเลิกจ้างโจทก์
ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์โดยมิได้กลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติ ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยประกอบกิจการหลายอย่าง มิใช่เพียงแต่การจัดจำหน่ายอุปกรณ์
เครื่องลูกข่ายและให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านดาวเทียมเท่านั้น แต่ยังมีกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ต บริการโทรคมนาคม และบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศด้วย จำเลยมีผลประกอบการกำไรมาโดยตลอด
เพิ่งขาดทุนในช่วง ๒ ปีหลัง ไม่ใช่ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง การขาดทุนสะสมของจำเลยเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชี ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานของจำเลย
ซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของจำเลย โดยไม่ได้รับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบหักล้าง เป็นการไม่ชอบ เพราะศาลแรงงานกลางจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบแล้วนำมาเปรียบเทียบกันก่อนวินิจฉัยว่าสมควรเชื่อพยานหลักฐานของฝ่ายใด เหตุเลิกจ้างของจำเลยตามที่กล่าวอ้างไม่เป็นความจริง เป็นการเลือกปฏิบัติและกลั่นแกล้งโจทก์
เป็นการส่วนตัวนั้น ศาลแรงงานกลางได้รับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบทั้งสองฝ่าย รวมทั้งรายงานและงบการเงินของจำเลยในสำนวนแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะ
ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องหลายปี มียอดขาดทุนสะสมจำนวนมาก มีความจำเป็นต้องปรับลดขนาด
องค์กรเพื่อลดต้นทุน อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน
ของศาลแรงงานกลางเพื่อให้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์
เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ หาใช่พิจารณาแต่เพียงปัญหาความจำเป็นในทางธุรกิจของนายจ้างประการเดียวเท่านั้นไม่
คดีนี้แม้จำเลยจะประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมีความจำเป็นต้องปรับลดขนาดองค์กรให้เล็กลงเพื่อให้เหมาะสมกับทิศทางของธุรกิจ อันเป็นอำนาจในการบริหารจัดการกิจการของจำเลยในฐานะนายจ้างก็ตาม แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีเลิกจ้างลูกจ้างต้องเป็นทางเลือกที่จำเป็นและไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า และนายจ้างจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมในการคัดเลือกลูกจ้างที่จะเลิกจ้างโดยไม่เป็นการเลือกปฏิบัติด้วย ทั้งนี้เพราะการเลิกจ้างมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตปกติของลูกจ้างและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาและที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า แม้จำเลยและบริษัทในกลุ่มบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จะมีกรรมการและการดำเนินงานแยกต่างหากจากกัน แต่ก็มีการใช้ทรัพยากรบุคคลร่วมกัน โดยหมุนเวียนพนักงานไปทำงานในกลุ่มบริษัทเดียวกันเป็นปกติ โจทก์เข้าทำงานครั้งแรกกับบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ต่อมาได้รับการโอนย้ายไปทำงานกับบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มเดียวกันหลายครั้ง บางครั้งทำงานควบคู่กันไปถึงสองบริษัท โดยเฉพาะบริษัทจำเลยโจทก์ได้รับการโอนย้ายมาทำงานเป็นครั้งที่สองแล้ว แสดงว่าทางเลือกของจำเลยในการโอนย้ายโจทก์ไปทำงานกับบริษัทในกลุ่มเดียวกันแทนการเลิกจ้างไม่ใช่เรื่อง
ที่เป็นไปไม่ได้ โจทก์ทำงานกับจำเลยและบริษัทในกลุ่มมาเป็นเวลานานรวม ๓๑ ปี โดยได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นมาโดยตลอด ย่อมแสดงถึงความรู้ความสามารถและประสบการณ์
ของโจทก์ที่สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ในหลายตำแหน่งหน้าที่ การที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ล่วงหน้าเพียง ๒ วัน ย่อมเท่ากับเป็นการปิดโอกาสไม่ให้โจทก์ได้รับการโอนย้ายไปทำงานกับบริษัทอื่นแทนการถูกเลิกจ้าง ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าเหตุในการเลิกจ้างที่แท้จริงแล้วเป็นนโยบายของจำเลย
ซึ่งเป็นนายจ้างที่ประสงค์จะลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนขององค์กรลงเท่านั้น อันเป็นการกระทำ
เพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียว โดยมิได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างที่จะต้องถูกเลิกจ้าง
จากการนี้ แม้จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ตามอำนาจในการบริหารจัดการกิจการของจำเลย
แต่เหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวยังไม่สมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนปัญหาว่า
จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพียงใดนั้น เนื่องจากการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ต่อไป
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดจำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่ให้จำเลยชดใช้
แก่โจทก์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป.
(โสภณ พรหมสุวรรณ - ผจงธรณ์ วรินทรเวช - พิเชฏฐ์ รื่นเจริญ)
อิศเรศ ปราโมช ณ อยุธยา - ย่อ
อิสรา วรรณสวาท - ตรวจ