คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 867/2565 นางสาวอัญชลี เอี่ยมอิทธิพล โจทก์
นางสาวอัจฉรา เหล็งขยัน จำเลย
นายสุรยุทธ สุนทรวารี ในฐานะ จำเลยร่วม
พนักงานตรวจแรงงาน
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓, ๑๒๕
ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ วรรคหนึ่ง เป็นการให้สิทธิลูกจ้างเลือกที่จะนำคดีเสนอต่อศาลแรงงานหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการในทางใดทางหนึ่ง หากลูกจ้างเลือกที่จะใช้สิทธิทางใดแล้วก็ต้องดำเนินการในทางนั้น
จนสิ้นสุดกระบวนการ ไม่อาจใช้สิทธิในอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วยได้
คดีนี้โจทก์ได้เลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมเพื่อขอให้จำเลยร่วมมีคำสั่งให้จำเลยในฐานะนายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลา และค่าล่วงเวลาในวันหยุดแล้ว เมื่อจำเลยร่วม
มีคำสั่งที่ 108/2563 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 แล้ว โจทก์ได้นำคดีมาสู่ศาลภายในสามสิบวัน
นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของจำเลยร่วม แต่ในการบรรยายคำฟ้องของโจทก์นั้น โจทก์บรรยายฟ้อง
ในส่วนที่จำเลยทำผิดสัญญาจ้างโดยไม่จ่ายเงินตามสัญญาจ้างแก่โจทก์ ทั้งมีคำขอให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โดยมิได้บรรยายฟ้องถึงการนำคดีไปร้องต่อจำเลยร่วม แล้วจำเลยร่วมมีคำสั่งว่า
โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด และไม่ได้ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยร่วม แต่กลับฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด
ค่าล่วงเวลา และค่าล่วงเวลาในวันหยุดซึ่งเป็นเงินประเภทเดียวกับที่จำเลยร่วมได้มีคำสั่งไว้แล้ว
กรณีจึงถือไม่ได้ว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเพื่อประสงค์จะให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยร่วม
คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เรียกค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
จึงเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกับสิทธิเดิมที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมและจำเลยร่วมได้มีคำสั่งไว้แล้วจึงไม่อาจทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนที่เรียกค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด
และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
แต่ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ยังบรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โดยค่าชดเชยนี้โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมว่าให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์และจำเลยร่วมก็มิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าชดเชย กรณีจึงมิใช่โจทก์เลือกใช้สิทธิดำเนินการต่อจำเลยร่วมในฐานะพนักงานตรวจแรงงานที่จะต้องดำเนินการจนสิ้นสุดกระบวนการ
แต่เป็นการฟ้องร้องเพื่อบังคับแก่จำเลยโดยตรงเพื่อให้จำเลยรับผิดในค่าชดเชยแก่โจทก์ตามฟ้อง
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในส่วนค่าชดเชยนี้
______________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 89,508.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าชดเชย 50,000 บาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานภาค ๑ มีคำสั่งเรียกนายสุรยุทธ พนักงานตรวจแรงงาน เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 โจทก์รับเอานางสมศรี ผู้ตาย
ซึ่งป่วยเป็นโรคแผลกดทับไปดูแลที่บ้านของโจทก์ ระหว่างนั้นจำเลยเป็นผู้โอนเงินค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ตายให้แก่โจทก์โดยโอนไปจากบัญชีเงินฝากของผู้ตาย ต่อมาผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ได้ทวงถามค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลา
ในวันหยุด และค่าชดเชยจากจำเลยและญาติผู้ตาย แต่จำเลยกับพวกเพิกเฉย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยร่วมมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นนายจ้างโจทก์ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดอีก เนื่องจากจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ไปเกินสัดส่วนที่ควรจะได้รับแล้ว แล้ววินิจฉัยว่า แม้จะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่า
เมื่อลูกจ้างได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว จะไม่มีสิทธิยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานอีก
แต่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 เป็นกระบวนการทางเลือก เมื่อลูกจ้างเลือกดำเนินการโดยยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้ว จะต้องดำเนินการไปจนเสร็จสิ้น บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว ดังนั้น
เมื่อโจทก์ในฐานะลูกจ้างเลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยร่วมสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งเป็นประการใดแล้ว หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว โจทก์ต้องนำคดีไปสู่ศาล
เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยร่วม แต่โจทก์กลับยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง โดยขอให้บังคับจำเลย
จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าชดเชย แสดงว่าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของจำเลยร่วม คำฟ้องโจทก์จึงมิใช่การฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยร่วม
และมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยร่วมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา 125 เช่นนี้สภาพคำฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องโดยอาศัยสิทธิเดิม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง
เพื่อเรียกเอาค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าชดเชย โดยอาศัย
สิทธิเดียวกับที่ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมซึ่งได้มีคำสั่งในเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาศาลจะได้เรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ก็ไม่ทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องกลับมีอำนาจฟ้องขึ้นมาได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ วรรคหนึ่ง เป็นการให้สิทธิลูกจ้าง
เลือกที่จะนำคดีเสนอต่อศาลแรงงานหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการในทางใดทางหนึ่ง หากลูกจ้างเลือกที่จะใช้สิทธิทางใดแล้วก็ต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ไม่อาจใช้สิทธิในอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วยได้ การเลือกที่จะใช้สิทธิของลูกจ้างดังกล่าว
ย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของลูกจ้าง และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๒๔ แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง
หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจกับคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ซึ่งคดีนี้โจทก์ได้เลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมเพื่อขอให้จำเลยร่วมมีคำสั่ง
ให้จำเลยในฐานะนายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลา และค่าล่วงเวลาในวันหยุดแล้ว
เมื่อจำเลยร่วมมีคำสั่งที่ 108/2563 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 แล้ว โจทก์ได้นำคดีมาสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของจำเลยร่วม แต่ในการบรรยายคำฟ้องของโจทก์นั้น โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนที่จำเลยทำผิดสัญญาจ้างโดยไม่จ่ายเงินตามสัญญาจ้างแก่โจทก์ ทั้งมีคำขอให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ โดยมิได้บรรยายฟ้องถึงการนำคดีไปร้องต่อจำเลยร่วม แล้วจำเลยร่วมมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด และไม่ได้ขอให้เพิกถอนคำสั่ง
ของจำเลยร่วม แต่กลับฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลา และค่าล่วงเวลาในวันหยุดซึ่งเป็นเงินประเภทเดียวกับที่จำเลยร่วมได้มีคำสั่งไว้แล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่า คำฟ้องของโจทก์
เป็นการฟ้องเพื่อประสงค์จะให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยร่วม คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เรียกค่าจ้าง
ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดจึงเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกับสิทธิเดิมที่โจทก์
ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมและจำเลยร่วมได้มีคำสั่งไว้แล้ว จึงไม่อาจทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ในส่วนที่เรียกค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด คำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๑ ในส่วนนี้ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ตามคำฟ้อง
และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ยังบรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โดยค่าชดเชยนี้โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมว่าให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
และจำเลยร่วมก็มิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าชดเชย กรณีจึงมิใช่โจทก์เลือกใช้สิทธิดำเนินการต่อจำเลยร่วม
ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานที่จะต้องดำเนินการจนสิ้นสุดกระบวนการแต่เป็นการฟ้องร้องเพื่อบังคับแก่จำเลยโดยตรงเพื่อให้จำเลยรับผิดในค่าชดเชยแก่โจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ในส่วนค่าชดเชยนี้ ที่ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในเรื่องค่าชดเชยนั้น
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้ถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค ๑ ได้วินิจฉัยมา แต่คดีนี้ศาลแรงงานภาค ๑ ยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงและมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับวันเริ่มต้นทำงานและวันเลิกจ้างว่าเป็นวันใด ระยะเวลาทำงานเป็นระยะเวลากี่ปี ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินเท่าใด สถานะและความสัมพันธ์ของโจทก์กับจำเลยว่าเป็นนายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วยหรือไม่ รวมถึงข้อเท็จจริงอื่นอันเกี่ยวข้อง
กับการจ่ายหรือข้อยกเว้นในการจ่ายค่าชดเชย และหากจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ค่าชดเชยดังกล่าวเป็นเงินเท่าใด อันทำให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่มีข้อเท็จจริงที่เพียงพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย
จึงเห็นควรให้ยกคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค ๑ ในส่วนที่พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในเรื่องค่าชดเชยเสีย และย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวแล้วพิจารณาพิพากษาไปตามรูปความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๑ ที่ยกฟ้องโจทก์ในเรื่องค่าชดเชย
และย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องค่าชดเชยดังกล่าวแล้ว
พิจารณาพิพากษาไปตามรูปความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1.
(นงนภา จันทรศักดิ์ ลิ่มไพบูลย์ – สุรพงษ์ ชิดเชื้อ – สมเกียรติ เมาลานนท์)
สุรพัศ เพ็ชรคง - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ