คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1305 - 1306/2565  นายศราวุธ  ดาทอง กับพวก  โจทก์

                                                                                      บริษัทเอสจี เอสเตท

                                                                                แมเนจเม้นท์ จำกัด           จำเลย

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕, ๑๑๘ วรรคสอง, ๑๔๖

พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง, ๗๙/๑

ป.พ.พ. มาตรา ๘, ๒๑๙, ๓๗๒

ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ (๑)

กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๑, ๔

         การหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ อันจะเป็นเหตุให้นายจ้างหลุดพ้นจากหน้าที่ในการชำระหนี้และไม่ต้องจ่ายเงิน
ให้แก่ลูกจ้าง ต้องเป็นกรณีมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่ส่งผลถึงขนาดนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในช่วงเวลานั้นได้โดยสิ้นเชิง แม้การแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการควบคุมการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ จะส่งผลให้กลุ่มบริษัทในเครือสยามเจมส์ขาดรายได้หมุนเวียน
จนจำเป็นต้องหยุดประกอบกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว กระทบถึงกิจการจำเลยซึ่งให้บริการเฉพาะกลุ่มบริษัทดังกล่าวต้องมีรายได้ลดลงตามไปด้วย แต่ก็ยังไม่ได้เป็นเหตุขัดขวางมิให้กิจการ
ของจำเลยดำเนินต่อไป คงเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของจำเลย
ทำให้การประกอบกิจการของจำเลยต้องเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น เมื่อจำเลยยังสามารถประกอบกิจการได้ แต่มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อปรับลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยเหตุที่ไม่มีรายได้ การหยุดกิจการจึงเป็นผลจากวิธีบริหารกิจการของจำเลย ซึ่งมิใช่
เหตุสุดวิสัย ส่วนกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย
อันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗๙/๑ แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ นั้น
มุ่งหมายที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จึงวางหลักเกณฑ์ที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะใช้สิทธิ
ในการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม ไม่อาจใช้อ้างเป็นข้อยกเว้นหน้าที่ของนายจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ ได้ ในระหว่าง
ที่หยุดกิจการชั่วคราว จำเลยจึงยังมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง
ในอันที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับ
ก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน 

          บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ในการดำเนินกิจการให้มีโอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์นั้น ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองลูกจ้างให้ยังพอมีรายได้สำหรับดำรงชีพ
ในระหว่างที่นายจ้างไม่ได้ให้ทำงานด้วย แต่พฤติการณ์ของจำเลยในเวลาต่อมาที่ประกาศหยุดกิจการชั่วคราวให้โจทก์ทั้งสองไม่ต้องมาทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างอย่างไม่มีกำหนด โดยโจทก์ทั้งสองไม่ยินยอม
หรือตกลงด้วย ทั้งไม่จ่ายเงินกรณีหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ให้แก่โจทก์ทั้งสอง  เป็นการปฏิเสธหน้าที่ของนายจ้างอันพึงมีต่อลูกจ้าง
แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะคงไว้ซึ่งนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ทั้งสองต่อไป
เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองแล้ว 

          พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ หาได้มีบทบัญญัติตัดสิทธินายจ้างที่ไม่แจ้งการหยุดกิจการให้พนักงานตรวจแรงงานทราบตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง ไม่ให้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง คงมีเพียงบทกำหนดโทษเป็นการเฉพาะไว้ในมาตรา ๑๔๖ เท่านั้น แม้จำเลยจะไม่ได้แจ้งการหยุดกิจการให้พนักงานตรวจแรงงานทราบ จำเลยก็ยังมีหน้าที่จ่ายเงินกรณีหยุดกิจการชั่วคราวให้แก่โจทก์ทั้งสองไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของค่าจ้างในวันทำงานที่โจทก์ทั้งสองได้รับก่อนจำเลย
หยุดกิจการสำหรับในวันที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงาน ส่วนวันที่โจทก์ทั้งสองทำงานจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้ โดยเงินที่ต้องจ่ายทั้งสองกรณีมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาว่าจำเลย
ต้องจ่ายเงินในเดือนเมษายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ นอกจากที่ได้จ่ายไปแล้วให้แก่
โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือเงินกรณีหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง
เพียงใด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันทำงานของโจทก์ทั้งสองระหว่างนั้น แต่ศาลแรงงานกลางไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมา แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในเดือนเมษายน ๒๕๖๓
ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ให้แก่โจทก์ทั้งสองจนครบถ้วน เป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์
ของกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้น ยังเป็นผลให้โจทก์ทั้งสองได้รับค่าตอบแทนในการทำงาน
เป็นค่าจ้างระหว่างวันที่ ๒๑ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ อันเป็นเวลาภายหลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว ซ้ำซ้อนกับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่
โจทก์ทั้งสองด้วย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ชอบที่จะมีคำสั่งยกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนนี้เสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ (๑) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗
และย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า ระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ก่อนถูกเลิกจ้าง โจทก์ทั้งสองทำงานหรือไม่ เพียงใด  และมีสิทธิได้รับเงินนอกจากที่จำเลยได้จ่ายไปแล้วหรือไม่ เพียงใดเสียก่อน 

____________________________

            โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างชำระให้แก่โจทก์ที่ ๑
เป็นเงิน ๒๔,๓๔๔ บาท โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๒๙,๓๗๗ บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๑,๙๗๒.๔๕ บาท โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๓,๒๘๑.๒๕ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒๑,๖๓๐ บาท โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๒๖,๒๕๐ บาท และค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๙๒,๗๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑๑๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ
๑๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

         จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงิน 140,636.45 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1
และจ่ายเงิน 171,408.25 บาท ให้แก่โจทก์ที่ ๒ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน
แต่ละจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 สิงหาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

         จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
และปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการบริหารอาคาร ดูแลระบบ บำรุงรักษาอาคาร รวมทั้งก่อสร้างต่อเติมอาคาร ให้แก่กลุ่มบริษัทในเครือสยามเจมส์ 5 บริษัท ซึ่งประกอบกิจการหลักในการจำหน่ายสินค้าแก่นักท่องเที่ยว จำเลยไม่รับบริการ
ให้สถานประกอบการบุคคลภายนอก โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย ทำงานในแผนกช่างเทคนิค โจทก์ที่ 1 เป็นช่างเทคนิค โจทก์ที่ 2 เป็นแอดมินประสานงานระหว่างงานแผนกช่างเทคนิคกับส่วนอื่นในกรณี
เกิดปัญหาเกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงอาคาร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศของกลุ่มบริษัท
ในเครือสยามเจมส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ รัฐบาลและหน่วยงานราชการมีมาตรการป้องกัน
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในประเทศไทย อันรวมถึงการจำกัดการเดินทาง
ระหว่างประเทศ เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นลูกค้าหลักของกลุ่มบริษัทในเครือสยามเจมส์
ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทย รายได้ของกลุ่มบริษัทดังกล่าวลดลง จำเลยออกประกาศหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวและลดค่าจ้างพนักงานตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๓ แต่ไม่ได้แจ้งการหยุดกิจการ
ให้พนักงานตรวจแรงงานทราบ ต่อมาวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ จำเลยออกประกาศหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวอีกฉบับ ระบุว่าจะหยุดกิจการต่อไปโดยไม่มีกำหนด ให้พนักงานไม่ต้องมาทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างในเดือนเมษายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ บางส่วน
และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นจำนวนตามคำฟ้องของโจทก์
แต่ละคน แล้ววินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะเป็นบริษัทในเครือสยามเจมส์ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการสนับสนุนงานเกี่ยวกับอาคารสถานที่ การซ่อมบำรุงดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ของสถานประกอบกิจการในเครือด้วยกัน เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นลูกค้าหลักของกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด รายได้ของกลุ่มบริษัทดังกล่าวรวมถึงจำเลยลดลง จนมีความจำเป็น
ต้องลดปริมาณพนักงานให้เหลือเท่าที่จำเป็น แต่จำเลยไม่ใช่สถานประกอบกิจการที่ถูกทางราชการมีคำสั่งห้ามประกอบกิจการหรือถูกสั่งให้ปิดเป็นการชั่วคราวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ การหยุดกิจการของจำเลยจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย แม้จำเลยไม่ได้มอบหมายงานให้โจทก์ทั้งสองทำในระหว่างหยุดกิจการ จำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองตามมาตรา 75
แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในกรณีที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จำเลยอาจตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างกับโจทก์ทั้งสองให้หยุดงาน
และไม่รับค่าจ้างได้ โดยต้องกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แต่ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว เป็นการแสดงความประสงค์ของจำเลยฝ่ายเดียวให้โจทก์ทั้งสองไม่ต้องมาทำงานและไม่จ่ายค่าจ้าง จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลย
เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำผิด จำเลยจึงมีหน้าที่
ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่
31 สิงหาคม 2563 และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนที่จำเลยจ่ายค่าจ้างในเดือนเมษายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ให้แก่โจทก์ทั้งสองไม่เต็มตามสัญญาจ้าง
โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองหรือมีข้อตกลงกับโจทก์ทั้งสอง ถือเป็นการจ่ายค่าจ้างที่ขัดต่อ
กฎหมายแรงงาน แม้จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ทั้งสองสามารถใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 79/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลย
มีหนังสือรับรองให้โจทก์ทั้งสองไปขอรับประโยชน์ทดแทนดังกล่าว และจำเลยไม่มีหลักฐานการแจ้งหยุดกิจการ
ให้พนักงานตรวจแรงงานทราบ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างที่ยังจ่ายไม่ครบถ้วนให้แก่โจทก์ทั้งสอง

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องจ่ายเงินในเดือนเมษายน ๒๕๖๓
ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ นอกจากที่ได้จ่ายไปแล้ว ค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ อันจะเป็นเหตุให้นายจ้างหลุดพ้นจากหน้าที่ในการชำระหนี้และไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง ต้องเป็นกรณีมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่ส่งผลถึงขนาดนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในช่วงเวลานั้นได้โดยสิ้นเชิง แม้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการควบคุมการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตั้งแต่
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ จะส่งผลให้กลุ่มบริษัทในเครือสยามเจมส์ขาดรายได้หมุนเวียน จนจำเป็นต้องหยุดประกอบกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว กระทบถึงกิจการจำเลยซึ่งให้บริการเฉพาะกลุ่มบริษัทดังกล่าว
ต้องมีรายได้ลดลงตามไปด้วย แต่ก็ยังไม่ได้เป็นเหตุขัดขวางมิให้กิจการของจำเลยดำเนินต่อไป คงเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของจำเลย ทำให้การประกอบกิจการของจำเลย
ต้องเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น เมื่อจำเลยยังสามารถประกอบกิจการได้ แต่มีความจำเป็น
ต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว เพื่อปรับลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยเหตุที่ไม่มีรายได้ การหยุดกิจการ
จึงเป็นผลจากวิธีบริหารกิจการของจำเลย ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่วนกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งออกตามความในมาตรา ๗ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติ
ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ นั้น มุ่งหมายที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน
ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จึงวางหลักเกณฑ์ที่ลูกจ้าง
ซึ่งเป็นผู้ประกันตนจะใช้สิทธิในการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคม
ไม่อาจใช้อ้างเป็นข้อยกเว้นหน้าที่ของนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ ได้ ในระหว่างที่หยุดกิจการชั่วคราว จำเลยจึงยังมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของค่าจ้าง
ในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ในการดำเนินกิจการให้มีโอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์นั้น ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองลูกจ้างให้ยังพอมีรายได้สำหรับดำรงชีพในระหว่างที่นายจ้าง
ไม่ได้ให้ทำงานด้วย แต่พฤติการณ์ของจำเลยในเวลาต่อมาที่ประกาศหยุดกิจการชั่วคราวให้โจทก์ทั้งสอง
ไม่ต้องมาทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างอย่างไม่มีกำหนด โดยโจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมหรือตกลงด้วย
ทั้งไม่จ่ายเงินกรณีหยุดกิจการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ให้แก่โจทก์ทั้งสอง เป็นการปฏิเสธหน้าที่ของนายจ้างอันพึงมีต่อลูกจ้าง แสดงว่าจำเลยไม่ประสงค์จะคงไว้
ซึ่งนิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ทั้งสองต่อไป เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองแล้ว
ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การหยุดกิจการชั่วคราวของจำเลยมิใช่เหตุสุดวิสัยและจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ หาได้มีบทบัญญัติตัดสิทธินายจ้างที่ไม่แจ้งการหยุดกิจการให้พนักงาน
ตรวจแรงงานทราบตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง ไม่ให้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง คงมีเพียงบทกำหนดโทษเป็นการเฉพาะไว้ในมาตรา ๑๔๖ เท่านั้น แม้จำเลยจะไม่ได้แจ้งการหยุดกิจการ
ให้พนักงานตรวจแรงงานทราบ จำเลยก็ยังมีหน้าที่จ่ายเงินกรณีหยุดกิจการชั่วคราวให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของค่าจ้างในวันทำงานที่โจทก์ทั้งสองได้รับก่อนจำเลยหยุดกิจการสำหรับ
ในวันที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงาน ส่วนวันที่โจทก์ทั้งสองทำงานจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้ โดยเงินที่ต้องจ่าย
ทั้งสองกรณีมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาว่าจำเลยต้องจ่ายเงินในเดือนเมษายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ นอกจากที่ได้จ่ายไปแล้วให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือเงินกรณีหยุดกิจการชั่วคราว
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง เพียงใด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันทำงานของโจทก์ทั้งสองระหว่างนั้น แต่ศาลแรงงานกลางไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมา แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในเดือนเมษายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ให้แก่
โจทก์ทั้งสองจนครบถ้วน เป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้น ยังเป็นผลให้โจทก์ทั้งสองได้รับค่าตอบแทนในการทำงานเป็นค่าจ้างระหว่างวันที่ ๒๑ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ อันเป็นเวลาภายหลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว ซ้ำซ้อนกับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า
ที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษชอบที่จะมีคำสั่งยกคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนนี้เสีย ตามประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๑) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ และย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า
ระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ก่อนถูกเลิกจ้าง โจทก์ทั้งสอง
ทำงานหรือไม่ เพียงใด และมีสิทธิได้รับเงินนอกจากที่จำเลยได้จ่ายไปแล้วหรือไม่ เพียงใดเสียก่อน

         พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในส่วนที่ให้จำเลย
จ่ายค่าจ้างในเดือนเมษายน ๒๕๖๓ ถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ ให้แก่โจทก์ทั้งสองจนครบถ้วน ให้ย้อนสำนวน
ไปให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น แล้วพิพากษาในส่วนนี้ใหม่ตามรูปคดี นอกจาก
ที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

 (วรศักดิ์  จันทร์คีรี – พนารัตน์  คิดจิตต์ – ฤทธิรงค์  สมอุดร)

ภัทรวรรณ  ทรงกำพล - ย่อ

 อิสรา  วรรณสวาท - ตรวจ