คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 332/2565  นายศิริวัฒน์  คาบพิมาย                   โจทก์

                                                                   บริษัทเงินและทอง พัฒนา จำกัด          จำเลย

พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 39, 40

         ตาม พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่คนหางานเดินทางไปถึงประเทศที่จะไปทำงานแล้วได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งงาน
หรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน คนหางานจะขอให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศจัดการให้ตนเดินทางกลับประเทศไทยหรือจะทำงาน
ที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งงาน หรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานก็ได้ แต่ถ้าคนหางานจะขอให้ผู้รับอนุญาตจัดการให้ตนเดินทางกลับประเทศไทยจะต้องแจ้งความประสงค์ของตนเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตที่อยู่ในประเทศนั้น
ทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตนทราบว่าจะได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งงาน หรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งแก่ผู้รับอนุญาต
หรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตได้ให้แจ้งต่อสำนักงานแรงงานไทย สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทย
ในประเทศนั้น หรือสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทย หรือผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลคนไทยในประเทศนั้นเพื่อแจ้งต่อไปยังผู้รับอนุญาต และมาตรา ๔๐ วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คนหางานได้แจ้ง
ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม มาตรา ๔๐ วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่คนหางานประสงค์จะทำงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งหรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน ผู้รับอนุญาตไม่ต้องรับผิดชอบในการจัดการ
ให้คนหางานดังกล่าวเดินทางกลับประเทศไทย แต่ต้องดำเนินการตามมาตรา ๓๙ (๒) ที่บัญญัติไว้ว่า
ในกรณีที่คนหางานเดินทางไปถึงประเทศที่จะไปทำงานแล้วไม่ได้งานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๒) แจ้งเป็นหนังสือ
ให้สำนักงานแรงงานไทยในประเทศนั้นทราบภายในสิบห้าวัน ถ้าไม่มีสำนักงานแรงงานไทย ให้แจ้งสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้น หรือสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยที่รับผิดชอบ
ในการดูแลคนไทยในประเทศนั้นทราบ และส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวให้สำนักงานทะเบียนจัดหางานกลางทราบด้วย คดีนี้ภายหลังจากที่โจทก์เดินทางไปทำงานกับนายจ้างที่สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบียแล้ว โจทก์ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กำหนดและไม่ได้รับค่าล่วงเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญาจัดหางาน แต่โจทก์ก็ยังคงทำงานกับนายจ้างต่อไปเป็นระยะเวลา ๒ ปี เกินกว่าที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจัดหางานโดยมิได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือภายในเก้าสิบวันตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง ขอให้จำเลยจัดการเดินทางกลับประเทศไทย กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม ที่ถือว่าโจทก์ประสงค์จะทำงานที่ได้ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างและค่าล่วงเวลาส่วนที่ขาดตามสัญญาจัดหางานจากจำเลยอีก

______________________________

         โจทก์ฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง ๒,๔๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย ๗๒,๐๐๐ บาท ค่าล่วงเวลา ๑๐,๔๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย ๓๑๒,๐๐ บาท คืนค่าบริการและค่าใช้จ่าย
ที่โจทก์ไม่ได้ทำงานตามสัญญา ๔๐,๐๐๐ บาท และค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บเกินกว่าอัตรา
ที่รัฐมนตรีกำหนด ๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน
นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา ๑,๒๕๒ ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย ๓๗,๕๖๐ บาท และค่าขาดประโยชน์จากการทำงาน ๒๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยขาดนัด

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการหางานให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศ                เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ จำเลยส่งโจทก์ไปทำงานที่สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย เมื่อโจทก์เดินทางไปถึงประเทศดังกล่าวโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างฉบับใหม่กับนายจ้าง โจทก์ทำงานไปจนถึง            ต้นปี ๒๕๕๔ นายจ้างประกาศหยุดงานเนื่องจากเกิดภัยสงคราม ให้รอการอพยพ โจทก์ไม่สามารถทำงานได้จึงเดินทางกลับประเทศไทย แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เดินทางไปทำงานกับนายจ้างที่สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบียแล้วโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างฉบับใหม่โดยลดอัตราค่าจ้างลงและไม่ได้รับค่าล่วงเวลา   โดยไม่หวังให้จำเลยทราบ โจทก์ได้ทำงานกับนายจ้างจนครบกำหนดเวลา ๑ ปีแรก ตามสัญญาจัดหางานแล้วถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา และการที่โจทก์ยังคงทำงานกับนายจ้างต่อมาเกินกว่าระยะเวลา ๑ ปี
ถือว่าโจทก์ประสงค์จะทำงานที่ได้ค่าจ้างและค่าล่วงเวลาต่ำกว่าที่กำหนดในสัญญาจัดหางาน
ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔๐ วรรคสาม นอกจากนี้
ไม่ปรากฏว่าจำเลยทำสัญญาจัดหางานกับโจทก์ในฐานะนายจ้างหรือเป็นตัวแทนของนายจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในส่วนที่ขาดและค่าล่วงเวลาที่ยังไม่ได้รับจากจำเลย ทั้งไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจาก
การผิดสัญญาและค่าขาดประโยชน์จากการทำงานเนื่องจากโจทก์ได้ทำงานครบกำหนดตามสัญญา
จัดหางานแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาประกอบกับนายจ้างในต่างประเทศเลิกจ้างโจทก์เพราะเกิด
ภัยสงครามซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยและไม่ใช่ความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินดังกล่าว
ส่วนที่โจทก์ขอให้คืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่จำเลยเรียกเกินกว่าอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้จ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในคำฟ้องให้แก่จำเลยและจำเลย
รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจริง พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน

         ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการชำระเงินหรือใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใด              ที่แสดงว่าโจทก์จ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้จำเลย แต่โจทก์ก็มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันวิธีปฏิบัติ หลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลย ทั้งจำเลยก็ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัด ย่อมถือได้ว่าจำเลยยอมรับตามฟ้องของโจทก์แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดง
ให้เห็นว่าโจทก์ได้จ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุในคำฟ้องให้แก่จำเลยและจำเลยเป็นผู้รับเงินดังกล่าวไปจริง พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามฟ้อง เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบนั้น               เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้จ่ายเงิน             ตามจำนวนที่ระบุไว้ในคำฟ้องให้แก่จำเลยและจำเลยเป็นผู้รับเงินดังกล่าวไปจริง พยานหลักฐาน
ของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง
และค่าล่วงเวลาส่วนที่ขาดตามสัญญาจัดหางานหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางาน
และคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่คนหางานเดินทางไปถึงประเทศที่จะไปทำงานแล้วได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งงาน หรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรง
ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน คนหางานจะขอให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงาน
ในต่างประเทศจัดการให้ตนเดินทางกลับประเทศไทยหรือจะทำงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งงาน หรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานก็ได้ แต่ถ้าคนหางานจะขอให้ผู้รับอนุญาตจัดการให้ตนเดินทางกลับประเทศไทยจะต้องแจ้งความประสงค์ของตนเป็นหนังสือให้ผู้รับอนุญาตหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตที่อยู่ในประเทศนั้น ทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตนทราบว่า
จะได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งงาน หรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งแก่ผู้รับอนุญาตหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตได้ ให้แจ้งต่อสำนักงานแรงงานไทย สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้น หรือสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทย หรือผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลคนไทยในประเทศนั้นเพื่อแจ้งต่อไปยังผู้รับอนุญาต และมาตรา ๔๐ วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คนหางานได้แจ้งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับ
โดยอนุโลม มาตรา ๔๐ วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่คนหางานประสงค์จะทำงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ตำแหน่งหรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน ผู้รับอนุญาต
ไม่ต้องรับผิดชอบในการจัดการให้คนหางานดังกล่าวเดินทางกลับประเทศไทย แต่ต้องดำเนินการ
ตามมาตรา ๓๙ (๒) ที่บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่คนหางานเดินทางไปถึงประเทศที่จะไปทำงานแล้วไม่ได้งานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (๒) แจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานแรงงานไทยในประเทศนั้นทราบภายในสิบห้าวัน ถ้าไม่มีสำนักงานแรงงานไทยให้แจ้งสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยในประเทศนั้น หรือสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลไทยที่รับผิดชอบในการดูแลคนไทยในประเทศนั้นทราบ และส่งสำเนาหนังสือดังกล่าว
ให้สำนักงานทะเบียนจัดหางานกลางทราบด้วย คดีนี้ภายหลังจากที่โจทก์เดินทางไปทำงานกับนายจ้าง
ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบียแล้ว โจทก์ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กำหนดและไม่ได้รับ
ค่าล่วงเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญาจัดหางาน แต่โจทก์ก็ยังคงทำงานกับนายจ้างต่อไปเป็นระยะเวลา ๒ ปี เกินกว่าที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจัดหางานโดยมิได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือภายในเก้าสิบวัน
ตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง ขอให้จำเลยจัดการเดินทางกลับประเทศไทย กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม ที่ถือว่าโจทก์ประสงค์จะทำงานที่ได้ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างและค่าล่วงเวลาส่วนที่ขาดตามสัญญาจัดหางานจากจำเลยอีก
ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเนื่องจากไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา

         พิพากษายืน.

(สุวรรณา  แก้วบุตตา – สิทธิชัย  ลีลาโสภิต – ยิ่งศักดิ์  โอฬารสกุล)

อิศเรศ  ปราโมช ณ อยุธยา - ย่อ

วัชรินทร์  ฤชุโรจน์ - ตรวจ