คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 96/2565 นายกิตติพงษ์ วิวิธวรกิจ โจทก์
บริษัทเมย์ยูเม แมนูแฟคเจอริ่ง
(ประเทศไทย) จำกัด จำเลย
ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๗, ๑๗๙
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหาย
จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำการปกปิดและสลับโยกยอดเงินค่าใช้จ่ายในลักษณะพรางการตรวจสอบของผู้บริหารของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจาก
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ และฟ้องแย้งเรียกเอาค่าเสียหายที่จำเลยต้องชำระเงินเกินไปกว่า
วงเงินที่กำหนด ๘,๒๕๒,๒๔๖ บาท และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงที่จำเลยมีต่อลูกค้า ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากการกระทำของโจทก์ดังกล่าว ดังนี้ ค่าเสียหายที่จำเลยเรียกร้องตามฟ้องแย้งนั้นเป็นเงิน
ที่จำเลยอ้างว่า โจทก์กระทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว
เพื่อไม่ต้องจ่ายเงินแต่ละจำนวนตามฟ้อง หาใช่เป็นการเรียกร้องเอาเงินอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้อง
กับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๗ วรรคสาม และมาตรา ๑๗๙ วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๓,๑๘๒,๔๐๐ บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้าง
ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๒๖๗,๓๗๓.๗๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชยดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๘๑๖,๘๑๖ บาท
และดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๓๔,๓๑๒.๙๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหาย
จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ๔,๑๓๗,๑๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายที่จำเลยต้องชำระเงินเกินไปกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ ๘,๒๕๒,๒๔๖ บาท และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงที่จำเลยมีต่อลูกค้า ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๑,๒๕๒,๒๔๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว
นับจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลแรงงานภาค ๑ มีคำสั่งรับคำให้การจำเลย ส่วนฟ้องแย้งนั้น แม้จำเลยจะกล่าวอ้าง
เรียกค่าเสียหายจากโจทก์ แต่เป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาต่อลูกค้าของจำเลย อันเป็นค่าเสียหายในมูลละเมิดที่ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่โจทก์ ซึ่งมิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญา
จ้างแรงงานโดยตรง จึงไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้
จึงไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์
ของจำเลยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๓ จำเลยมีหนังสือ
เลิกจ้างโจทก์ให้มีผลบังคับทันทีโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า อ้างว่าโจทก์กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ
เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เกี่ยวกับการตรวจสอบรายจ่ายเพื่อการได้มา
ซึ่งทรัพย์สินสำหรับโครงการ P&G Akari และโครงการ Unilever Big Nose/T20 การเลิกจ้างดังกล่าวกระทำโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรและโจทก์ไม่ได้กระทำผิด อันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำการปกปิดและสลับโยกยอดเงินค่าใช้จ่ายโครงการบิ๊กโนสไป
ลงเป็นยอดค่าใช้จ่ายโครงการอะคาริในลักษณะพรางการตรวจสอบของผู้บริหารของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทุจริตและบกพร่องต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ และฟ้องแย้งเรียกเอาเงินค่าเสียหายที่จำเลยต้องชำระเงินเกินไปกว่าวงเงินที่กำหนด ๘,๒๕๒,๒๔๖ บาท และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง
ที่จำเลยมีต่อลูกค้า ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากการกระทำของโจทก์ดังกล่าว ดังนี้ เงินค่าเสียหายที่จำเลยเรียกร้องตามฟ้องแย้งนั้นเป็นเงินที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ทำให้จำเลยเสียหายเพราะโจทก์จงใจหรือ
ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในขณะที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย
ซึ่งจำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้วเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หาใช่เป็นการเรียกร้องเอาเงินอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๗๗ วรรคสาม และมาตรา ๑๗๙ วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ชอบที่ศาลแรงงานภาค ๑ จะรับฟ้องแย้งไว้พิจารณา ที่ศาลแรงงานภาค ๑ ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์
ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้ดำเนินการต่อไป.
(พนารัตน์ คิดจิตต์ – วรศักดิ์ จันทร์คีรี – ฤทธิรงค์ สมอุดร)
ธัชวุทธิ์ พุทธิสมบัติ - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ