คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 7002 - 7003/2562  นางพรทิพย์  พันธ์ธรรม

      กับพวก                         โจทก์

                                                                                   บริษัทแพนดอร่า โพรดักชั่น

                                                                                         จำกัด                         จำเลย

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ 

         จะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจําเป็นหรือสมควรเพียงพอในการเลิกจ้างหรือไม่ คดีนี้เหตุที่จําเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นเพราะจําเลยปรับปรุงโครงสร้างองค์กรโดยยุบสายงานที่โจทก์ทั้งสองทํางานอยู่และเลิกจ้างลูกจ้างในสายงานนี้ทั้งหมด เพื่อมุ่งหวังให้การประกอบกิจการของจําเลยมีผลกําไรมากขึ้น โดยที่จําเลยไม่ได้ประสบปัญหาขาดทุนแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยมีวิธีการคัดเลือกหน่วยงานที่จะยุบและลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างอย่างไร อันเป็นการกระทําเพื่อประโยชน์ของจําเลยเองฝ่ายเดียว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควรเพียงพอ ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

______________________________

         โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๖,๑๙๒,๒๑๖ บาท และโจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๙,๖๒๐,๙๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

         จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยขอสละประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุม

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ ๑
เป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๑) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

         จำเลยอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิต ผสม ประกอบเครื่องประดับที่ทำจากทอง นาก เงิน เพชร พลอย อัญมณีและโลหะมีค่าอื่น ๆ วัตถุทำเทียมสิ่งดังกล่าว และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งเจียระไนเพชร พลอย และวัตถุทำเทียมสิ่งดังกล่าว มีลูกจ้างกว่า ๑๓,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่ทำงานตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิต โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิต สายงานพัฒนา
ความเป็นเลิศด้านการผลิต (MEX) โดยโจทก์ที่ ๑ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๓ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๕,๕๓๑ บาท ส่วนโจทก์ที่ ๒ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๗,๔๑๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โดยอ้างเหตุผลว่าจำเลยมีผลการประกอบกิจการได้กำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการยุบหน่วยงานและลดจำนวนลูกจ้างลงบางส่วน เพื่อให้
การบริหารงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสองครบถ้วน แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีผลประกอบการ
อยู่ในเกณฑ์ดี มีผลกำไรสามารถนำมาจัดสรรเป็นเงินโบนัสแก่ลูกจ้างได้ทุกปีจนถึงปัจจุบัน การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของจำเลยกำหนดเป้าหมายในการเลิกจ้างลูกจ้างโดยเฉพาะเจาะจงแต่เพียงสายงานพัฒนาความเป็นเลิศด้านการผลิต (MEX) ที่โจทก์ทั้งสองทำงานอยู่ ทั้งที่ลูกจ้างของจำเลยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในฝ่ายผลิตเช่นเดียวกับโจทก์ทั้งสอง และหากจำเลยบริหารจัดการเรื่องทรัพยากรบุคคล
ให้เหมาะสมน่าจะหาตำแหน่งงานใหม่ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องเลิกจ้าง ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรม จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง

         มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุอันจำเป็นหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ หาใช่พิจารณาแต่เพียงว่านายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างตามข้อตกลงในสัญญาจ้างหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานประการเดียวไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นเพราะจำเลยได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรตามโครงการอะจิลิตี้ (Agility)
โดยยุบสายงานพัฒนาความเป็นเลิศด้านการผลิต (MEX) ที่โจทก์ทั้งสองทำงานอยู่และแจ้งจะเลิกจ้างลูกจ้างในสายงานนี้ทั้งหมดรวม ๒๑๒ คน ซึ่งมีลูกจ้างยินยอมทำหนังสือลาออก ๒๑๐ คน คงมีเพียง
โจทก์ทั้งสองที่จำเลยต้องทำหนังสือเลิกจ้าง ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้การประกอบกิจการของจำเลยมีผลกำไรมากขึ้น โดยที่จำเลยมิได้ประสบปัญหาขาดทุนแต่อย่างใด เพียงแต่มีผลกำไรลดลงเท่านั้น เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าเหตุแห่งการเลิกจ้างที่แท้จริงเป็นเพียงนโยบายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างที่ประสงค์จะลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนขององค์กรลงและเพื่อให้มีผลกำไรมากขึ้นเท่านั้น อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยเองฝ่ายเดียว โดยมิได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างที่จะต้องถูกเลิกจ้างจากการนี้
แม้จำเลยจะเริ่มโครงการปรับปรุงโครงสร้างอะจิลิตี้ (Agility) และประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างทราบมาตั้งแต่ก่อนเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นเวลานานพอสมควร แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีวิธีการคัดเลือกหน่วยงาน
ที่จะยุบและลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างอย่างไร กลับได้ความว่าจำเลยเพิ่งแจ้งเรื่องการยุบหน่วยงานให้ลูกจ้างทราบและเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดพร้อมกันในทันทีโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า จึงไม่สอดคล้องกับข้ออ้างของจำเลยที่ว่าได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและเลิกจ้างลูกจ้างอย่างเป็นลำดับขั้นตอนแล้ว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควรเพียงพอ ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์
ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(โสภณ  พรหมสุวรรณ – พิเชฏฐ์  รื่นเจริญ - ศราวุธ  ภาณุธรรมชัย)

 

วิฑูรย์  ตรีสุนทรรัตน์ - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ - ตรวจ