คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 7005/2562 บริษัทสยามมิชลิน จํากัด                  โจทก์

                                                                    นายวรวิทย์ ถวิลถิขกุล                    จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๘

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา ๓๙, ๔๕

         การกําหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบในคดีแรงงานไม่จําต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติ ป.วิ.พ. เนื่องจาก พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒               ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะสําหรับคดีแรงงานบัญญัติไว้แล้วในมาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง และการพิจารณาคดีแรงงานเป็นระบบไต่สวนตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕ ที่กําหนดให้ศาลแรงงานมีอํานาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร        ดังนั้น คู่ความทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่นําพยานหลักฐานมาไต่สวน จึงไม่นำเรื่องหน้าที่นําสืบและภาระการพิสูจน์ตาม ป.วิ.พ. มาใช้ในคดีแรงงาน เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจําเลยแล้ว เห็นว่าค่าเสียหายตามจํานวนที่โจทก์เรียกร้องมานั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดง คงเป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์เท่านั้น แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรง                   ในการกระทําความผิดของจําเลยแล้ว เห็นสมควรกําหนดให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๒00,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกําหนดค่าเสียหายตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรง               แห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๓๘ โดยชอบแล้ว

         การที่สัญญาจ้างงานกําหนดว่า ภายในระยะเวลา ๓๖ เดือน นับจากที่สัญญาจ้างงานสิ้นสุดลง หรือจําเลยพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างโจทก์ จําเลยจะไม่เปิดเผยหรือใช้ข้อมูลใด ๆ ซึ่งจําเลยได้มาจากโจทก์หรือบริษัทในกลุ่มของโจทก์ โดยหน้าที่การทํางานหรือได้ล่วงรู้มาจากการทํางาน เป็นกรณีที่จําเลยได้ข้อมูลของโจทก์มาโดยหน้าที่การทํางานหรือได้ล่วงรู้มาจากการทํางานให้แก่โจทก์โดยชอบ แต่การที่จําเลยทําซ้ำนําส่งไฟล์ข้อมูลฝ่ายกฎหมายของโจทก์จํานวนมากออกไปจัดเก็บที่อื่นภายนอกองค์กรโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากโจทก์ เป็นการทําผิดสัญญาจ้างแรงงานและทําละเมิดต่อโจทก์ จําเลยไม่มีสิทธิใช้ไฟล์ข้อมูลของโจทก์ที่จําเลยทําซ้ำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจําเลยหรือผู้อื่น
หรือเผยแพร่ต่อบุคคลอื่น จึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องกําหนดระยะเวลาห้ามไว้

______________________________

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 50,000,000 บาท                พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยนำส่งไฟล์ข้อมูลทั้งหมดที่ลักลอบทำซ้ำนำไป 11,443 ไฟล์ และเอกสารหรือวัตถุอื่นใดที่จำเลยจัดทำขึ้นจากการใช้ไฟล์ข้อมูลดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ทั้งหมด ห้ามจำเลยทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปใช้ เผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หรือกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับงานในไฟล์ข้อมูลของโจทก์ทั้งสิ้น ให้จำเลยลบทำลายไฟล์ข้อมูลและเอกสารหรือวัตถุอื่นใดที่จำเลยจัดทำขึ้นจากการใช้ไฟล์ข้อมูลดังกล่าวทั้งหมด หากจำเลยไม่ดำเนินการ           ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์อีก 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี          นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้โจทก์ใช้สิทธิในการติดตามเรียกคืน ลบ ระงับ
หรือทำลายข้อมูลในไฟล์ทั้งหมดจากจำเลยหรือบุคคลอื่นทั้งหมดโดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยชดใช้ค่าว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ
ทางเทคโนโลยีในการสอบสวนแก่โจทก์ 500,000 บาท

          จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา    ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับห้ามจำเลยทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปใช้ เผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หรือกระทำการใด           ที่เกี่ยวข้องกับงานในไฟล์ข้อมูลของโจทก์ภายในระยะเวลา ๓๖ เดือน นับแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ อันเป็นวันที่จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์

          โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกันฟังได้ว่า จำเลยเข้าไปในฐานข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของโจทก์และทำซ้ำไฟล์ข้อมูลฝ่ายกฎหมาย     
ของโจทก์ ๑๑,๔๔๓ ไฟล์ จำเลยนำส่งไฟล์ข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดออกไปจัดเก็บที่กูเกิลไดรฟ์
ซึ่งอยู่ภายนอกองค์กรของโจทก์โดยไม่ได้รับการอนุมัติ จำเลยไม่เคยเห็นกฎการใช้คอมพิวเตอร์ของโจทก์แต่ตามสัญญาจ้างงาน ข้อ ๗ ระบุว่า พนักงานตกลงจะปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง นโยบาย
และแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ที่โจทก์กำหนด ซึ่งข้อปฏิบัติดังกล่าวมีในคู่มือจริยธรรมและคู่มืออบรมพนักงานของบริษัทโจทก์ด้วย จำเลยเปิดข้อมูลในกูเกิลไดรฟ์ให้โจทก์ตรวจสอบแล้วว่าไม่มีไฟล์ข้อมูล ๑๑,๔๔๓ ไฟล์ ที่จำเลยนำออกไปจัดเก็บในกูเกิลไดรฟ์แล้ว เมื่อจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงและมีการลบไฟล์ข้อมูลจากกูเกิลไดรฟ์แล้ว โจทก์แถลงขอสละประเด็นข้อพิพาทและประเด็นตามคำขอท้ายคำฟ้องบางส่วน คงให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเฉพาะประเด็นตามคำขอท้ายคำฟ้องว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ค่าว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบทางเทคโนโลยีในการสอบสวนให้แก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปใช้เผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หรือกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับงานในไฟล์ข้อมูลของโจทก์ทั้งสิ้นหรือไม่ เพียงใด แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยทำซ้ำข้อมูลที่จัดเก็บ
ในระบบสารสนเทศโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากโจทก์เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโจทก์ จำเลย
จึงผิดสัญญาจ้างแรงงานและเป็นการทำละเมิดโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริงตามที่กล่าวอ้างตามประมวลกฎหมาย                วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔/๑ แต่โจทก์ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริงหรือไม่ เพียงใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจริง จำเลยไม่มีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาโดยพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงในการกระทำผิดของจำเลยและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๒๐๐,๐๐๐ บาท             พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับคดีแรงงานบัญญัติไว้แล้วในมาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง และการพิจารณาคดีแรงงานเป็นระบบไต่สวน
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๕ ที่กำหนดให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร และในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเองให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยาน ตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน ดังนั้น คู่ความทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาไต่สวน จึงไม่นำเรื่องหน้าที่นำสืบและภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมาย
วิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ในการพิจารณาคดีแรงงาน เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐาน
ของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าค่าเสียหายตามจำนวนที่โจทก์เรียกร้องมานั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงคงเป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์เท่านั้น แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และความร้ายแรง
ในการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๒๐๐,๐๐๐ บาท                พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จึงเป็น
การใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๓๘ โดยชอบแล้วไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่จำเลย
อ้างอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาห้ามจำเลยทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปใช้ เผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หรือกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับงานในไฟล์ข้อมูลของโจทก์ภายในระยะเวลา ๓๖ เดือน นับแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ อันเป็นวันที่จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์ตามสัญญาจ้างงานเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๑๐ เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ เพราะโจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปใช้ เผยแพร่ต่อบุคคลอื่น
หรือกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับงานในไฟล์ข้อมูลของโจทก์ทั้งสิ้นเท่านั้น การที่ศาลแรงงานกลาง
มีคำพิพากษาโดยกำหนดระยะเวลาเช่นนี้ หากพ้นกำหนดระยะเวลาแล้ว จำเลยอาจทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปใช้ เผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หรือกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับงานในไฟล์ข้อมูลของโจทก์ได้อีก ยิ่งจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จึงนำระยะเวลาห้ามตามสัญญาจ้างงานเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๑๐ มาปรับใช้กับกรณีนี้ไม่ได้นั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สัญญาจ้างงานเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๗ ระบุว่าพนักงานตกลงจะปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง นโยบาย
และแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ที่บริษัทกำหนดขึ้นเพื่อเป็นหลักในการบริหารงาน ทั้งที่มีอยู่ในขณะนี้หรือ
ที่จะมีต่อไปภายหน้า โดยบริษัทอาจทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามความเหมาะสม และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้ และตามกฎการใช้คอมพิวเตอร์ ข้อ ๕.๕ ระบุว่า ไม่ทำซ้ำ หรืออัพโหลดข้อมูล ฐานข้อมูล ไฟล์งาน ข้อความใด ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบดิจิตอลหรือรูปแบบใด ๆ ที่บริษัทเป็นเจ้าของหรือจัดเก็บอยู่ในระบบสารสนเทศไปยังอุปกรณ์ส่วนตัว พื้นที่บนอินเตอร์เน็ตส่วนตัว หรือเพื่อประโยชน์ใด ๆ              ที่ไม่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้ควบคุมระบบก่อน และพนักงานจะเข้าใช้งานระบบคอมพิวเตอร์เฉพาะในส่วนที่ตนได้รับสิทธิเท่านั้น การที่จำเลยทำซ้ำข้อมูลที่จัดเก็บในระบบสารสนเทศโดยไม่ได้รับการอนุมัติ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโจทก์อันเป็นการผิดสัญญา
จ้างแรงงาน โดยกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ชอบที่จะเรียกค่าเสียหาย
จากจำเลย ตามสัญญาจ้างงานเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๑๐ ระบุว่า พนักงานให้สัญญาว่าตลอดระยะเวลาที่สัญญาจ้างงานระหว่างบริษัทกับพนักงานยังมีผลอยู่ และภายในระยะเวลา ๓๖ เดือน นับจากที่สัญญาจ้างงานนี้สิ้นสุดลง หรือพนักงานพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัท ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ๆ พนักงานจะไม่เปิดเผยหรือใช้ข้อมูลใด ๆ ซึ่งพนักงานได้มาจากบริษัท และ/หรือบริษัทในกลุ่มมิชลิน                  โดยหน้าที่การทำงานหรือได้ล่วงรู้มาจากการทำงานให้แก่บริษัท และ/หรือบริษัท   ในกลุ่มมิชลินด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลที่เป็นความลับหรือไม่ก็ตาม โจทก์จึงมีสิทธิจะห้ามมิให้จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปใช้ เผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หรือกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับงาน  ในไฟล์ข้อมูล
ของโจทก์ภายในระยะเวลา ๓๖ เดือน นับจากสัญญาจ้างงานสิ้นสุดลงหรือจำเลยพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของโจทก์คือวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ เห็นว่า ตามสัญญาจ้างงาน ข้อ ๑๐ ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา ๓๖ เดือน นับจากวันที่สัญญาจ้างงานสิ้นสุดลง หรือจำเลยพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างโจทก์จำเลยจะไม่เปิดเผยหรือใช้ข้อมูลใด ๆ ซึ่งจำเลยได้มาจากโจทก์หรือบริษัทในกลุ่มของโจทก์                  โดยหน้าที่การทำงานหรือได้ล่วงรู้มาจากการทำงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างนั้น เป็นกรณีที่จำเลยได้ข้อมูลของโจทก์มาโดยหน้าที่การทำงานหรือได้ล่วงรู้มาจากการทำงานให้แก่โจทก์โดยชอบ แต่การที่จำเลยลักลอบคัดลอกไฟล์ข้อมูลฝ่ายกฎหมายของโจทก์ ๑๑,๔๔๓ ไฟล์ อันเป็นการทำซ้ำนำส่งไฟล์ข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดออกไปจัดเก็บที่อื่นภายนอกองค์กรของโจทก์โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากโจทก์ เป็นการทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิใช้ไฟล์ข้อมูลของโจทก์ที่จำเลยลักลอบทำซ้ำไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยหรือผู้อื่น หรือเผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หรือกระทำการใดที่เกี่ยวกับงานในไฟล์ข้อมูลของโจทก์ จึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องกำหนดระยะเวลาห้ามไว้ ที่ศาลแรงงานกลางห้ามจำเลยทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปใช้ เผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หรือกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับงานในไฟล์ข้อมูลของโจทก์ภายในระยะเวลา ๓๖ เดือน นับแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ อันเป็นวันที่จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่กำหนดระยะเวลาห้ามจำเลยทำซ้ำ ดัดแปลง นำไปใช้ เผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หรือกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับงานในไฟล์ข้อมูลของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา             ศาลแรงงานกลาง.

(ชาตรี  หาญไพโรจน์ - สัญชัย  ลิ่มไพบูลย์ – ยุคนธร  พาณิชปฐมพงศ์)

กิตติ  เนตรประเสริฐชัย - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ - ตรวจ