คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 6546/2562  นางสาวมสารัศม์  พิพิธสุรพงษ์         โจทก์

                                                                       บริษัทสำนักงานอีวาย จำกัด           จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 583 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (2) และ (4)          

         พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) บัญญัติมุ่งหมายที่จะให้สิทธิ
แก่นายจ้างสามารถลงโทษลูกจ้างที่ตั้งใจหรือมีเจตนากระทําการโดยรู้ว่าการกระทําของตน
จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์นําภาพถ่าย
งบการเงินและกระดาษทําการอันเป็นเอกสารทางบัญชีของลูกค้าจําเลยส่งข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook) จริง แต่เมื่อโจทก์นําปากกาปิดชื่อบริษัทลูกค้าในภาพถ่ายงบการเงินแล้ว
ก็ไม่เป็นความผิดและไม่อาจเชื่อมโยงกับลูกค้าของจําเลยได้ ส่วนกระดาษทําการแม้จะปรากฏข้อมูลรายละเอียดชื่อลูกค้าและขั้นตอนการทํางานของจําเลยแต่ก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเงิน กรณี
จึงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ตั้งใจหรือมีเจตนากระทําการโดยรู้ว่าการกระทําของตนจะก่อให้เกิด
ความเสียหายแก่จําเลยอันจะถือว่าเป็นการจงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นอกจากกรณีดังกล่าวนี้แล้วโจทก์ได้นํางบการเงินและกระดาษทําการไปเผยแพร่
แก่บุคคลภายนอกจนทําให้จําเลยได้รับความเสียหายหรือไม่อย่างไร หรือบริษัทลูกค้าของจําเลย
บอกยกเลิกสัญญาว่าจ้างจําเลยสอบบัญชีด้วยเหตุดังกล่าว กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของจําเลยกรณีที่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ประกอบวิชาชีพทางบัญชี มีระเบียบ ข้อบังคับและจรรยาบรรณควบคุมการประกอบวิชาชีพ ซึ่งโจทก์ทราบดี โจทก์จึงควรระมัดระวังในการประกอบวิชาชีพ อีกทั้งโจทก์ปฏิบัติงานกับจําเลยมาเป็นเวลานานจนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการอาวุโส มีหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงานของจําเลยจํานวนมาก การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทํางาน ข้อกําหนดตามสัญญาจ้าง และฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาใช้บริการ จึงเป็น
การกระทําประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต มีเหตุ
ให้จําเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป จําเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้
โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

______________________________

 

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 276,466.66 บาท เงินชดเชยจากกองทุนเกษียณอายุ 2,669,075 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๒,๒๓๓,๐๐๐ บาท และค่าชดเชย 1,595,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 1,595,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา
ร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 276,466.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561
เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

         จำเลยอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการให้บริการทางด้านบัญชี การตรวจสอบบัญชี รับทำบัญชี วางรูปแบบและจัดระบบข้อมูลทางการเงิน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2536 จำเลยจ้างโจทก์
เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายผู้จัดการอาวุโส ระดับ 4มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับ
การตรวจสอบบัญชีของลูกค้าตามที่จำเลยมอบหมาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 159,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันศุกร์สุดท้ายของแต่ละเดือน ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลทันที แล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์นำภาพถ่ายงบการเงินของบริษัทลูกค้าจำเลย
และภาพถ่ายหน้าจอคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่เรียกว่ากระดาษทำการ ส่งข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook) เพื่อให้เพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook) ของโจทก์ทราบว่า โจทก์มาทำงาน
ในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดทั้งสองครั้ง จึงฟังได้ว่าโจทก์นำเอกสารทางบัญชีของลูกค้าจำเลยส่งข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook) จริง อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย
แต่เมื่อโจทก์นำปากกาปิดชื่อบริษัทลูกค้าจำเลยในภาพถ่ายงบการเงินแล้วก็ไม่เป็นความผิดและไม่อาจเชื่อมโยงกับลูกค้าของจำเลยได้ ส่วนกระดาษทำการแม้จะปรากฏข้อมูลรายละเอียดชื่อลูกค้าและขั้นตอนการทำงานของจำเลยแต่ก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเงิน เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านอกจากกรณีดังกล่าวนี้แล้วโจทก์ได้นำงบการเงินและกระดาษทำการไปเผยแพร่แก่บุคคลภายนอกจนทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่อย่างไร หรือบริษัทลูกค้าของจำเลยบอกยกเลิกสัญญาว่าจ้างจำเลยสอบบัญชีด้วยเหตุดังกล่าว กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหาย และถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ประกอบวิชาชีพทางบัญชี
มีระเบียบข้อบังคับและจรรยาบรรณควบคุมการประกอบวิชาชีพ ซึ่งโจทก์ทราบดี โจทก์จึงควรระมัดระวังในการประกอบวิชาชีพ ทั้งโจทก์ปฏิบัติงานกับจำเลยมาเป็นเวลานานจนได้รับการแต่งตั้ง
เป็นผู้จัดการอาวุโส มีหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงานของจำเลยจำนวนมาก เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาใช้บริการระหว่างจำเลยกับบริษัทลูกค้า จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยถูกต้อง มีเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ไว้วางใจให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควรมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) และ (4) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์
ขอคิดดอกเบี้ยในส่วนของค่าชดเชยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 สำหรับเงินชดเชยจากกองทุนเกษียณอายุ จำเลยจะจ่ายให้กับพนักงานเมื่อครบกำหนดเกษียณอายุหรือลาออกจากงานเท่านั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนเกษียณอายุแก่โจทก์

         มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลย
อันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2) บัญญัติมุ่งหมายที่จะให้สิทธิแก่นายจ้างสามารถลงโทษลูกจ้างที่ตั้งใจ
หรือมีเจตนากระทำการโดยรู้ว่าการกระทำของตนจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า โจทก์นำภาพถ่ายงบการเงินและกระดาษทำการอันเป็นเอกสารทางบัญชีของลูกค้าจำเลยส่งข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook) จริง แต่เมื่อโจทก์นำปากกาปิดชื่อบริษัทลูกค้า
ในภาพถ่ายงบการเงินแล้วก็ไม่เป็นความผิดและไม่อาจเชื่อมโยงกับลูกค้าของจำเลยได้ ส่วนกระดาษ
ทำการแม้จะปรากฏข้อมูลรายละเอียดชื่อลูกค้าและขั้นตอนการทำงานของจำเลยแต่ก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเงิน กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ตั้งใจหรือมีเจตนากระทำการโดยรู้ว่าการกระทำของตน
จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอันจะถือว่าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นอกจากกรณีดังกล่าวนี้แล้วโจทก์ได้นำงบการเงินและกระดาษทำการไปเผยแพร่แก่บุคคลภายนอกจนทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่อย่างไร หรือบริษัทลูกค้าของจำเลย
บอกยกเลิกสัญญาว่าจ้างจำเลยสอบบัญชีด้วยเหตุดังกล่าว กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (๔) อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ประกอบวิชาชีพทางบัญชี มีระเบียบข้อบังคับ
และจรรยาบรรณควบคุมการประกอบวิชาชีพ ซึ่งโจทก์ทราบดี โจทก์จึงควรระมัดระวังในการประกอบวิชาชีพ อีกทั้งโจทก์ปฏิบัติงานกับจำเลยมาเป็นเวลานานจนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการอาวุโส มีหน้าที่ควบคุมดูแลพนักงานของจำเลยจำนวนมาก การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อกำหนดตามสัญญาจ้างและฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาใช้บริการ จึงเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สม
แก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต มีเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ไว้วางใจ
ให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

         พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

 

(สมเกียรติ  คู­­วัธนไพศาล - เฉลิมพงศ์  ขันตี - ยิ่งลักษณ์ สุขวิสิฏฐ์)

 

ฐานุตร  เล็กสุภาพ - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ - ตรวจ