คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 6539/2562  นายฉัตรชัย แสงโชติ                    โจทก์

                                                                       การรถไฟแห่งประเทศไทย กับพวก    จำเลย

                                                                       นายหรือว่าที่ร้อยตรี

                                                                             กสินน์พัทช์ วิเลขรัตน์             จำเลยร่วม

พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒49๔

ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๑.๑ ว่าด้วยคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ดํารงตําแหน่งระดับ ๖ - ๑๑ (ปรับปรุงใหม่) ลงวันที่
๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔7 หมวด ๓ ข้อ ๒๒, ๒๓

         จําเลยร่วมเป็นพนักงานจําเลยที่ ๑ ก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕29 และจบปริญญาตรี
ทางกฎหมาย แม้จําเลยร่วมไม่มีใบอนุญาตว่าความและดํารงตําแหน่งนิติกร ๘ มาแล้วไม่ถึง ๓ ปี

ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จําเป็นสําหรับตําแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี (นิติกร ๑๐) ตามมาตรฐานกําหนดตําแหน่งและคําบรรยายลักษณะงานที่กําหนดไว้ในระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๑.๑
ว่าด้วยคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ดํารงตําแหน่งระดับ 6 - ๑๑ (ปรับปรุงใหม่) ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕47 หมวด 3 ข้อ ๒๒
และข้อ ๒๓ แต่เมื่อคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติครั้งที่ ๑/๒๕๓๔ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๔ ให้การแต่งตั้งเลื่อนระดับของพนักงานที่บรรจุก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒9 ควรถือปฏิบัติเช่นเคยก่อนนําระบบจําแนกตําแหน่งมาใช้ โดยถือหลักไม่รอนสิทธิ และมติครั้งที่ 6/๒๕๔๕ เมื่อวันที่
๑๑ เมษายน ๒๕4๕ ให้จําเลยที่ ๑ มีอํานาจเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามมาตรฐานกําหนดตําแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๒ ลงมา และในทางปฏิบัติจําเลยที่ ๑ มิได้ถือว่าใบอนุญาตว่าความเป็นสาระสําคัญของตําแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี การแต่งตั้งจําเลยร่วมดํารงตําแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดีจึงชอบด้วยกฎหมาย 

         แม้ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยว่าการพิจารณาแต่งตั้งโจทก์ให้ดํารงตําแหน่งหัวหน้า
กองบังคับคดีตามมติของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานขณะที่
นาย ว. ดํารงตําแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเสร็จสิ้นและถูกต้องแล้วหรือไม่ แต่การที่
ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จําเลยทั้งห้า และจําเลยร่วมแล้ววินิจฉัยว่า
ไม่มีเหตุเพิกถอนคําสั่งแต่งตั้งจําเลยร่วมดํารงตําแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี แสดงว่าศาลแรงงานกลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่นาย อ. ซึ่งดํารงตําแหน่งรักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๐/๒๕๖๐ ที่ให้นาย ว. พ้นจากตําแหน่งและให้นาย อ. รักษาการในตําแหน่งแทน มีคําสั่งยกเลิกคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองชุดดังกล่าวนั้น เป็นผลให้การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเป็นอันสิ้นผลไป

______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งการรถไฟแห่งประเทศไทย เลขที่ บคบ. ๒๙๒/๒๕๖๐ ลงวันที่
๒๔ เมษายน ๒๕๖๐ เพิกถอนมติของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองตามคำสั่งดังกล่าว และเพิกถอนคำสั่งการรถไฟแห่งประเทศไทย เลขที่ บคบ. ๒๔๕/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๑

         จำเลยทั้งห้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกว่าที่ร้อยตรีกสินน์พัทช์
ให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓) (ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑

         จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
โจทก์เป็นพนักงานจำเลยที่ ๑ ตำแหน่งอาณาบาลกองคดี (นิติกร ๘) สังกัดกองคดี สำนักงานอาณาบาล
ส่วนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ มีตำแหน่งตามคำฟ้อง ขณะที่นายวุฒิชาติดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟ
แห่งประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานในสำนักงานอาณาบาล ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี (นิติกร ๑๐) ซึ่งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองดังกล่าวมีมติเสนอโจทก์เป็นลำดับที่ ๑ เพื่อแต่งตั้งเลื่อนระดับให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี
ในระหว่างนำเสนอจำเลยที่ ๒ ลงนามในรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองดังกล่าว วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ ๑๐/๒๕๖๐ ให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง แล้วให้นายอานนท์รักษาการ
ในตำแหน่งแทน นายอานนท์ได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้ง
เลื่อนระดับพนักงานให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดีดังกล่าว และแต่งตั้งจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕
เป็นคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานในสำนักงานอาณาบาล ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี (นิติกร ๑๐) ตามคำสั่งการรถไฟแห่งประเทศไทย เลขที่ บคบ. ๒๙๒/๒๕๖๐
ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๐ จำเลยที่ ๔ มีหนังสือถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อขอแก้ไขคุณสมบัติ
ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดีกรณีที่ต้องมีใบอนุญาตเป็นทนายความจากสภาทนายความ แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเห็นว่าเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ ๔ มีหนังสือถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคลอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อขอแก้ไขคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งนิติกร (ระดับ ๖ – ๑๐) ทุกตำแหน่งในกองนิติการ
กองสอบสวน และกองบังคับคดี โดยขอตัดคุณสมบัติกรณีที่ต้องมีใบอนุญาตเป็นทนายความจาก
สภาทนายความ แต่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีความเห็นตามเดิม คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรอง
การแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานดังกล่าวมีมติคัดเลือกจำเลยร่วมเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเลื่อนระดับให้ดำรงตำแหน่ง ต่อมาจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งการรถไฟแห่งประเทศไทย เลขที่ บคบ. ๒๔๕/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๑ แต่งตั้งจำเลยร่วมให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี (นิติกร ๑๐) แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ แต่งตั้งจำเลยร่วมเป็นหัวหน้ากองบังคับคดีโดยพิจารณาตามความเหมาะสมและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แม้จำเลยร่วมไม่มีใบอนุญาตเป็นทนายความจากสภาทนายความ แต่จำเลยร่วมได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ ก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ จึงได้รับการพิจารณาตามมติคณะกรรมการรถไฟ
แห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑/๒๕๓๔ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๔ ที่ไม่รอนสิทธิพนักงานเดิมที่ได้รับ
การบรรจุก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ และคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยได้อนุมัติเป็นหลักการไว้ว่าให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๒ ลงมา ซึ่งรวมถึงการเลื่อนระดับด้วย จำเลยที่ ๑ เคยแต่งตั้งนายโครงการซึ่งไม่มีใบอนุญาตว่าความ และจำเลยร่วมเคยรักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดีมาก่อนแล้ว
๒ ครั้ง เมื่อจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ เห็นสมควรให้จำเลยร่วมดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี
จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ ๑ และมติคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรอง

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ ๑ และมติคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวล้วนเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปตามข้อ ๓.๑ และข้อ ๔.๒ ว่า การแต่งตั้งเลื่อนระดับที่พิพาทในคดีนี้
เป็นการแต่งตั้งเลื่อนระดับให้สูงขึ้น มิใช่การแต่งตั้งโยกย้ายซึ่งมีหลักเกณฑ์แตกต่างกัน จึงต้องปฏิบัติ
ให้เป็นไปตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓.๑ การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ปรับปรุงใหม่) ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๙ ข้อ ๕.๑.๒ คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานในสำนักงานอาณาบาลให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี (นิติกร ๑๐) มิได้ปฏิบัติตาม หมวด ๓ ข้อ ๒๒ และข้อ ๒๓ ของระเบียบการรถไฟ
แห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๑.๑ ฯ ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ โดยไม่พิจารณารายชื่อผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและคำบรรยายลักษณะงานที่ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทางด้านนิติศาสตร์และได้รับใบอนุญาตเป็นทนายความ
จากสภาทนายความ แต่กลับเสนอรายชื่อจำเลยร่วมซึ่งมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนมาพิจารณาคัดเลือก
ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓๕ (๑) การที่คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองดังกล่าวเสนอแต่งตั้งจำเลยร่วมให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยอ้างว่า
ให้สิทธิพนักงานที่ได้รับการบรรจุก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ ควรถือปฏิบัติเช่นเคยถือปฏิบัติก่อน
นำระบบแบ่งแยกตำแหน่งมาใช้ เป็นไปตามมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑/๒๕๓๔
เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๔ และมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๖/๒๕๔๕ เมื่อวันที่
๑๑ เมษายน ๒๕๔๕ ที่อนุมัติเป็นหลักการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๒ ลงมา สำหรับระดับ ๑๓ ขึ้นไปให้อยู่ในอำนาจคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องขออนุมัติเป็นราย ๆ ไปเพื่อขอยกเว้นมาตรฐานกำหนดตำแหน่งสำหรับพนักงานที่ได้รับการบรรจุก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ นั้น ถือเป็น
การให้เหตุผลที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยดังกล่าว ซึ่งกำหนดขึ้น
เพื่อใช้บังคับแก่พนักงานที่ปฏิบัติงานในสายงานทั่วไปเท่านั้น ไม่รวมถึงพนักงานที่ปฏิบัติงานในสายวิชาชีพ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการทำลายขวัญและกำลังใจของพนักงานที่มีคุณสมบัติครบถ้วน อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อระเบียบและข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ จำเลยร่วมดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกบริหารงานทั่วไปโดยเป็นการปฏิบัติงานด้านสารบรรณ ไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมาย ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานตำแหน่งช่างประจำโรงงานมักกะสัน อาจได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าช่าง
ได้ขอโอนย้ายมาในตำแหน่งเสมียนอาณาบาล มีสิทธิสูงสุดเพียงตำแหน่งหัวหน้าแผนกบริหารงานทั่วไป การที่จำเลยร่วมได้ศึกษาจบหลักสูตรนิติศาสตร์ภายหลังปี ๒๕๔๐ แต่ก็ไม่ได้รับใบอนุญาต
เป็นทนายความจากสภาทนายความ จึงไม่มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองบังคับคดี เห็นว่า แม้ตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๑.๑ ฯ ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ หมวด ๓ ข้อ ๒๒ และข้อ ๒๓ กำหนดกรณีการแต่งตั้งเลื่อนระดับด้วยวิธีพิจารณาความเหมาะสมไว้ว่า ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานการเจ้าหน้าที่เสนอข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของตำแหน่งที่จะแต่งตั้งตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและคำบรรยายลักษณะงาน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานนำไปพิจารณาประเมินผลแล้วคัดเลือกผู้เหมาะสมไม่น้อยกว่า ๓ คน ซึ่งคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี (นิติกร ๑๐) ตามคำบรรยายลักษณะงานได้กำหนดไว้ว่า ได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทางกฎหมายและมีใบอนุญาตให้เป็นทนายความจากสภาทนายความ และต้องมีประสบการณ์ดำรงตำแหน่งนิติกร ๙ มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี หรือดำรงตำแหน่งนิติกร ๘ มาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี
ก็ตาม แต่คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีมติครั้งที่ ๑/๒๕๓๔ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๔
ให้การแต่งตั้งเลื่อนระดับของพนักงานที่บรรจุก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ ควรถือปฏิบัติเช่นเคย
ถือปฏิบัติก่อนนำระบบจำแนกตำแหน่งมาใช้ โดยถือหลักไม่รอนสิทธิพนักงานที่บรรจุก่อนวันดังกล่าว และได้มีมติครั้งที่ ๖/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๕ อนุมัติเป็นหลักการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตั้งแต่ระดับ ๑๒ ลงมา สำหรับระดับ ๑๓ ขึ้นไป ให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ให้กำชับและควบคุมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้พิจารณาอย่างรอบคอบ เมื่อพิจารณามติของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งสองครั้งดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองพนักงานจำเลยที่ ๑ ทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากการนำระบบการจำแนกตำแหน่งมาใช้ในองค์กรของจำเลยที่ ๑ ดังนั้นพนักงานที่ได้รับการบรรจุก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ ที่มีการนำระบบจำแนกตำแหน่งมาใช้บังคับย่อมได้รับประโยชน์จากมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยข้างต้นที่จะไม่รอนสิทธิพนักงานที่บรรจุก่อนวันดังกล่าว โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถโยกย้ายแต่งตั้งเลื่อนระดับไปยังตำแหน่งที่มีความเหมาะสมตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานได้ แม้พนักงานดังกล่าวจะมีคุณสมบัติไม่ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งก็ตาม ได้ความว่าจำเลยร่วมได้รับการบรรจุเป็นพนักงานตำแหน่งช่างประจำโรงงานมักกะสันก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ และจบการศึกษาปริญญาตรีทางกฎหมายซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านการศึกษาขั้นต้นสำหรับตำแหน่งนิติกร แม้จำเลยร่วมไม่มีใบอนุญาตให้เป็นทนายความจากสภาทนายความและดำรงตำแหน่งนิติกร ๘ มาแล้วไม่ถึง ๓ ปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งไม่ครบถ้วนตามคำบรรยายลักษณะงานของหัวหน้ากองบังคับคดี (นิติกร ๑๐) ก็ตาม แต่จำเลยร่วมได้รับประโยชน์จากมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยดังกล่าว
จึงมีสิทธิได้รับการเสนอให้แต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองบังคับคดีได้ อีกทั้งจำเลยที่ ๑ เคยแต่งตั้งนายโครงการดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี (นิติกร ๑๐) ซึ่งขณะได้รับการแต่งตั้งนายโครงการยังไม่มีใบอนุญาตว่าความจากสภาทนายความ และจำเลยร่วมเคยรักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดีมาก่อนแล้ว
๒ ครั้ง แสดงว่าในทางปฏิบัติจำเลยที่ ๑ มิได้ถือว่าใบอนุญาตว่าความจากสภาทนายความเป็นสาระสำคัญของตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี เมื่อจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ในฐานะคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานในสำนักงานอาณาบาล ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ ๒
ได้มีมติเสนอชื่อจำเลยร่วมให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี และจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒
ได้พิจารณาผลการคัดเลือกแล้วเห็นชอบและมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยร่วมให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว อันเป็นอำนาจของจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยตามความในข้อ ๕.๑.๒ แห่งข้อบังคับ
การรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๓.๑ การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (ปรับปรุงใหม่) ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๙ ดังนั้น การแต่งตั้งจำเลยร่วมดำรงตำแหน่งดังกล่าวจึงหาได้
ขัดต่อระเบียบและข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด อุทธรณ์ของโจทก์
ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายตามข้อ ๔.๑ ว่า เดิมขณะที่นายวุฒิชาติดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งที่ บคบ. ๑๕๗/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๙ แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการแต่งตั้งเลื่อนระดับพนักงานในสำนักงานอาณาบาล ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี (นิติกร ๑๐) ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีมติเสนอโจทก์เป็นลำดับที่ ๑
เพื่อแต่งตั้งเลื่อนระดับให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดี อันเป็นการพิจารณาเสร็จสิ้นและถูกต้อง
ตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๑.๑ ฯ ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ แล้ว แต่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวว่าการพิจารณาแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดีเสร็จสิ้น
และถูกต้องแล้วหรือไม่ แต่การที่ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยทั้งห้า
และจำเลยร่วมแล้ววินิจฉัยว่าไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งที่ บคบ. ๒๙๒/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๐ มติของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองตามคำสั่งดังกล่าว และคำสั่งที่ บคบ. ๒๔๕/๒๕๖๑ ลงวันที่
๒๗ เมษายน ๒๕๖๑ แสดงว่าศาลแรงงานกลางได้พิจารณาเห็นว่า ในระหว่างนำเสนอรายงานผล
การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ ลงนามแต่งตั้งโจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบังคับคดีโดยยังมิได้มีการแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่ง วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งที่ ๑๐/๒๕๖๐ ให้ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง แล้วให้นายอานนท์รักษาการในตำแหน่งแทน นายอานนท์ได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองดังกล่าว เป็นผลให้การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองชุดดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์
ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

         พิพากษายืน.

 

(ปณิธาน  วิสุทธากร – วิโรจน์  ตุลาพันธุ์ – ไพรัช  โปร่งแสง)

 

กรรณิกา  อัศวเมธา - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ - ตรวจ