คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1570 - 1581/2562 นายสุรพล ปิยะวัน
กับพวก โจทก์
บริษัทลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต
(ประเทศไทย) จำกัด จำเลย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม
กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ข้อ 3 และข้อ 6
เมื่อศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า ค่าเที่ยวที่จําเลยกําหนดเป็นเงินที่จําเลยจ่าย
โดยคํานึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงระยะเวลาในการทํางานที่โจทก์แต่ละคนต้องทํางานเกินเวลาทํางานปกติเข้าไว้ด้วย ค่าเที่ยวจึงเป็นเงินที่จําเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทํางานให้แก่ลูกจ้าง
เมื่อมีการขับรถบรรทุกตามคําสั่งจําเลยทั้งในเวลาทํางานปกติและเกินเวลาทํางานปกติ ดังนี้ค่าเที่ยวสําหรับโจทก์ทั้งสิบสองในคดีนี้จึงเป็นค่าจ้างตามผลงานสําหรับการขับรถที่เป็นจํานวนชั่วโมงทํางานปกติและที่เป็นจํานวนชั่วโมงเกินเวลาทํางานปกติปะปนอยู่ด้วยกัน ค่าจ้างของโจทก์ทั้งสิบสองแต่ละคนจึงได้แก่ เงินเดือนประจํารวมกับค่าเที่ยวเฉพาะส่วนที่เป็นการขับรถที่เป็นจํานวนชั่วโมงทํางานปกติ แต่โดยที่ค่าตอบแทนการทํางานเกินเวลาทํางานปกติในวันทํางานที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับจําต้องอาศัยฐานข้อมูลอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานซึ่งต้องรวมคํานวณจากค่าจ้างทั้งส่วนเงินเดือนประจําและค่าจ้างตามผลงานสําหรับการขับรถในชั่วโมงทํางานปกติ และฐานข้อมูลจํานวนชั่วโมงการทํางานล่วงเวลาในแต่ละวันทํางานตามความเป็นจริงของโจทก์ทั้งสิบสองแต่ละคน ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวนี้แตกต่างกันและเมื่อคํานวณเป็นค่าตอบแทนการทํางานเกินเวลาทํางานปกติในวันทํางานอาจมีจํานวนน้อยกว่า เท่ากับ หรือมากกว่าจํานวนเงินค่าเที่ยวเหมาจ่ายตามข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทํางานข้อ ๕.๑ ก็เป็นได้ การที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานข้อ ๕.๑ กําหนดให้ค่าเที่ยวเป็นการเหมาจ่ายรวมค่าตอบแทนการทํางานล่วงเวลาและการทํางานเกินเวลาทํางานปกติไว้ด้วยแล้ว
ในทุกกรณี จึงขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕4๑) ข้อ 6 ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ ศาลแรงงานภาค ๑ ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า จําเลยได้จ่ายค่าเที่ยวโดยให้ส่วนหนึ่งเป็นค่าตอบแทนการทํางานในเวลาทํางานปกติวันละ 8 ชั่วโมง และอีกส่วนหนึ่งที่เหลือเป็นค่าตอบแทนการทํางานเกินเวลาทํางานปกติหรือไม่ อย่างไร ในช่วงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ โจทก์แต่ละคน
มีวันทํางานคือวันใดบ้าง แต่ละวันทํางานนั้นมีจํานวนชั่วโมงทํางานปกติกี่ชั่วโมงและมีจํานวนชั่วโมงทํางานเป็นเวลาทํางานปกติกี่ชั่วโมง คิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในแต่ละวันทํางานของโจทก์
แต่ละคนเป็นจํานวนเท่าใด จําเลยจ่ายค่าเที่ยวในแต่ละวันทํางานให้แก่โจทก์แต่ละคนแล้วเท่าใด และโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทํางานเกินเวลาทํางานปกติในวันทํางานเพิ่มเติม
อีกหรือไม่ เพียงใด ดังนั้นศาลแรงงานภาค ๑ จึงยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษจะวินิจฉัยได้ว่า ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ จนถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทํางานเกินเวลาทํางานปกติหรือไม่ เพียงใด จําต้องย้อนสํานวนให้
ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนแล้วพิพากษาคดีประเด็นนี้เสียใหม่ตามรูปคดี
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ วรรคสอง
และวรรคสาม
______________________________
คดีทั้งสิบสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานภาค ๑ มีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบสองตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสิบสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงร่วมกันว่า เวลาเริ่มต้นทำงานให้นับเฉพาะเวลาที่ขับรถจริง ๆ (ล้อหมุน) เท่านั้น
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสิบสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริง
และวินิจฉัยว่า จำเลยประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางบกโดยใช้รถบรรทุกส่งสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้า เทสโก้ โลตัส ตามสาขาทั่วประเทศ มีลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขับรถแผนกขนส่งทำหน้าที่ขับรถบรรทุก ส่งสินค้า ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและค่าเที่ยว ค่าเที่ยวจ่ายตามผลงานที่ทำได้คำนวณ ตามระยะทางที่ขับรถไปส่งสินค้าและระยะเวลาในการขับรถ และจ่ายให้เป็นรายเที่ยวในลักษณะ เป็นหน่วยการทำงานในแต่ละหน่วย จำเลยใช้วิธีการกำหนดค่าเที่ยวเพื่อตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้างเปรียบเสมือนการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้แก่ลูกจ้างตลอดมา แม้หลักเกณฑ์การจ่ายค่าเที่ยวจะไม่มีกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับเดิม แต่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ในหมวดที่ ๕ หลักเกณฑ์ การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด ข้อ ๕.๑ ว่า ค่าเที่ยวเป็นการเหมาจ่ายโดยรวมค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา และการทำงานเกินเวลาทำงานปกติรวมอยู่ด้วย และมีการปฏิบัติต่อกันมาตลอด
โดยโจทก์ทั้งสิบสองไม่คัดค้าน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับใหม่จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพ
การจ้างโดยปริยายซึ่งแสดงว่าจำเลยจ่ายค่าเที่ยวให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองโดยเหมารวมระยะเวลาทำงาน
ในเวลาทำงานปกติและเกินเวลาทำงานปกติเข้าด้วยกัน ค่าเที่ยวจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน
ค่าเที่ยวจึงเป็นค่าจ้างตามคำนิยามตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แม้ว่าโจทก์ทั้งสิบสองเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ.๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ข้อ ๖ กำหนดให้ในกรณีจำเลยผู้เป็นนายจ้างให้โจทก์ทั้งสิบสองทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดโดยไม่มีข้อตกลง ที่จะจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดแก่โจทก์ทั้งสิบสอง จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทน เป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ค่าเที่ยวที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองในแต่ละเดือนเป็นค่าจ้างที่เหมาจ่ายโดยรวมค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาและการทำงานปกติอยู่ด้วยกัน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติแก่โจทก์ทั้งสิบสองอีก อย่างไรก็ตามค่าเที่ยวซึ่งถือเป็นค่าจ้างมีอายุความ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๙) โจทก์ทั้งสิบสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ค่าเที่ยวที่โจทก์ทั้งสิบสองฟ้องตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ถึงวันที่
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เกินระยะเวลา ๒ ปี จึงขาดอายุความ โจทก์ทั้งสิบสองคงฟ้องคดีได้เฉพาะค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกตินับแต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เป็นต้นไปเท่านั้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสองว่า ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
จนถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ จำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ นิยามคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ
ตามพระราชบัญญัตินี้ นอกจากนี้ในงานขนส่งทางบกต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒
(พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งข้อ ๓ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานล่วงเวลา เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง และวรรคสองกำหนดว่า ในกรณีที่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างตามวรรคหนึ่งแล้ว นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้
วันหนึ่งไม่เกินสองชั่วโมง เว้นแต่มีความจำเป็นอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ หรือปัญหาการจราจร และข้อ ๖ กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างในงานขนส่งทางบกทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน
และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง
ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างดังกล่าว คดีนี้ศาลแรงงานภาค ๑ รับฟังข้อเท็จจริงยุติเพียงว่า งานที่โจทก์ทั้งสิบสองต้องปฏิบัติให้แก่จำเลยคือการขับรถบรรทุกไปส่งสินค้าแก่ลูกค้าของจำเลย จำเลยจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน
และค่าเที่ยวแก่โจทก์ทั้งสิบสอง มีวันทำงานเป็นรอบรอบละ ๖ วันติดต่อกันแล้วจึงหยุดพัก ๑ วัน
โจทก์ทั้งสิบสองได้รับค่าจ้างเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินเดือนประจำ อีกส่วนหนึ่งเป็นค่าเที่ยว ค่าเที่ยวที่จำเลยกำหนดเป็นเงินที่จำเลยจ่ายโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงระยะเวลาในการทำงานที่โจทก์แต่ละคนต้องทำงานเกินเวลาทำงานปกติเข้าไว้ด้วย ค่าเที่ยวจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทน
ในการทำงานให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการขับรถบรรทุกตามคำสั่งจำเลยทั้งในเวลาทำงานปกติและเกินเวลาทำงานปกติ ดังนี้ ค่าเที่ยวสำหรับโจทก์ทั้งสิบสองในคดีนี้จึงเป็นค่าจ้างตามผลงานสำหรับการขับรถที่เป็นจำนวนชั่วโมงทำงานปกติและที่เป็นจำนวนชั่วโมงเกินเวลาทำงานปกติปะปนอยู่ด้วยกัน ค่าจ้างของ
โจทก์ทั้งสิบสองแต่ละคนจึงได้แก่เงินเดือนประจำรวมกับค่าเที่ยวเฉพาะส่วนที่เป็นการขับรถที่เป็นจำนวนชั่วโมงทำงานปกติ แต่โดยที่ค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ในวันทำงานที่โจทก์แต่ละคน
มีสิทธิได้รับจำต้องอาศัยฐานข้อมูลอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานซึ่งต้องรวมคำนวณจากค่าจ้าง
ทั้งส่วนเงินเดือนประจำและค่าจ้างตามผลงานสำหรับการขับรถในชั่วโมงทำงานปกติ และฐานข้อมูลจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาในแต่ละวันทำงานตามความเป็นจริงของโจทก์ทั้งสิบสองแต่ละคน
ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวนี้แตกต่างกันและเมื่อคำนวณเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ
ในวันทำงานอาจมีจำนวนน้อยกว่า เท่ากับ หรือมากกว่าจำนวนเงินค่าเที่ยวเหมาจ่ายตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ ๕.๑ ก็เป็นได้ การที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ ๕.๑ กำหนดให้ค่าเที่ยว
เป็นการเหมาจ่ายรวมค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาและการทำงานเกินเวลาทำงานปกติไว้ด้วยแล้ว
ในทุกกรณี จึงขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ข้อ ๖ ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ แต่ศาลแรงงานภาค ๑ ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้จ่ายค่าเที่ยวโดยให้ส่วนหนึ่งเป็นค่าตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติวันละ ๘ ชั่วโมง และอีกส่วนหนึ่งที่เหลือเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือไม่ อย่างไร ในช่วงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ โจทก์แต่ละคนมีวันทำงานคือวันใดบ้าง แต่ละวันทำงานนั้นมีจำนวนชั่วโมงทำงานปกติกี่ชั่วโมงและมีจำนวนชั่วโมงทำงานเกินเวลาทำงานปกติกี่ชั่วโมง คิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในแต่ละวันทำงานของโจทก์แต่ละคนเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยจ่ายค่าเที่ยวในแต่ละวันทำงานให้แก่โจทก์แต่ละคนแล้วเท่าใด และโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพียงใด เป็นเหตุให้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอเกี่ยวกับโจทก์ แต่ละคนที่จะพิพากษาถึงจำนวนค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานสำหรับช่วงเวลาวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
ถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ให้แก่โจทก์แต่ละคนได้ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค ๑
ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นก่อนแล้วพิพากษาคดีประเด็นนี้เสียใหม่ตามรูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้น แล้วพิพากษาคดีเสียใหม่ตามรูปคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ วรรคสอง และวรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๑.
(สุจินต์ เชี่ยวชาญศิลป์ – เกื้อ วุฒิปวัฒน์ – วิชชุพล สุขสวัสดิ์)
กิตติ เนตรประเสริฐชัย - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ